ศาลนัดฟังคำพิพากษา ชี้ชะตา “การบินไทย” 14 ก.ย.

การบินไทย
Photo by AFP / AFP

14 กันยายนนี้ ศาลนัดชี้ชะตา “การบินไทย” หลังไต่สวนนัดสุดท้าย ทนายบินไทยฯ ทุบเจ้าหนี้ตั๋วโดยสารไร้ความน่าเชื่อถือ! ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ-ไม่เข้าใจสถานการณ์กิจการการบิน ด้านเจ้าหนี้ 5 รายถอนคำคัดค้านระหว่างไต่สวน สองรายเผยบินไทยติดต่อมอบ Voucher ฝั่งทนายบินไทยชี้แจงไม่มีติดต่อส่วนตัว-มอบ Voucher กรณีรีฟันด์เป็นนโยบายบริษัท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากศาลล้มละลายกลาง แจ้งวัฒนะว่า ในการไต่สวนเรื่องคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3 ในวันนี้ (25 สิงหาคม 2563) เป็นการไต่สวนพยานฝั่งเจ้าหนี้ผู้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการของการบิน 1 ปาก คือ นางสาวศรีไพร ดวงดี เจ้าหนี้ตั๋วโดยสาร โดยมีทนายของการบินไทยฯ เป็นผู้ซักค้านในเนื้อหาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของการบินไทยฯ ในฐานะผู้ยื่นขอคัดค้านแผน และ หลังการสอบพยานเรียบร้อยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2563 เวลา 10.00 น.

โดยระหว่างการสอบพยานมีการซักถามเกี่ยวกับน่าเชื่อถือ ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของการบินไทยฯ ของนางสาวศรีไพร โดยนางสาวศรีไพรให้การต่อศาลว่า ตนจบการศึกษาในสาขาสารสนเทศ ปัจจุบันทำอาชีพเจ้าหน้าที่งานขาย พร้อมทั้งระบุระหว่างการซักถามว่าตนไม่ทราบทั้งในประเด็นเกี่ยวกับรายละเอียดการเพิ่มทุน การสนับสนุนของรัฐ และค่าใช้จ่ายของการบินไทย

และยังระบุว่าไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรถ้าหากบริษัทไม่สามารถประกอบกิจการเพื่อสร้างรายได้ ในขณะที่มีปริมาณค่าใช้จ่ายเท่าเดิมหรือลดลงเพียงเล็กน้อย แม้จะให้การต่อศาลว่ารับรู้สถานะทางธุรกิจและการเงินของการบินไทยผ่านข่าวสาร และทราบว่ามีสายการบินต่างชาติขนาดใหญ่อีกหลายสายการบินที่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการขณะใกล้ล้มละลาย

ขณะเดียวกัน ยังไม่สามารถตอบได้ว่าคำให้การต่อศาลที่ระบุว่าตั๋วโดยสารของการบินไทยมีราคาแพงเมื่อเทียบกับกิจการที่มีลักษณะเดียวกัน เป็นคำให้การจากความรู้สึกหรือมีข้อมูลประกอบจริง รวมทั้งยังไม่สามารถตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการเดินทางโดยสารกับสายการบินการบินไทยได้ว่า ครั้งล่าสุดที่โดยสารเครื่องบินการบินไทยคือเมื่อไรอย่างชัดเจน

รวมถึงนางสาวศรีไพร ยังระบุว่า ไม่ทราบว่ามีจำนวนพนักงานการบินไทย จำนวนบริษัทคู่ค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกกี่รายที่จะได้รับผลกระทบหากการบินไทยต้องล้มละลาย เช่นเดียวกับที่เมื่อทนายผู้ซักค้านสอบถามว่าทราบหรือไม่ว่าหากการบินไทยล้มละลายจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีของประเทศ 7.1% และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวราว 7.9 แสนล้านบาท พยานตอบว่าไม่ทราบในประเด็นนี้และไม่ทราบถึงรายละเอียดของแผนการฟื้นฟูของการบินไทยฯ

นอกจากนั้น ระหว่างการพิจารณาคดีครั้งที่ 1-3 มีเจ้าหนี้ผู้ยื่นขอคัดค้านการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยฯ ถอนคำร้องขอคัดค้านจำนวน 5 ราย ได้แก่ ผู้คัดค้านที่ 4, 5, 7, 8 และ 16 โดยมีประเด็นเล็กน้อยที่ระหว่างผู้คัดค้านที่ 7 และ 8 ขอยื่นคำร้องขอถอนคำร้องคัดค้านได้ระบุในเอกสารว่า ลูกหนี้ที่หมายถึงบริษัทการบินไทยได้ติดต่อไปที่เจ้าหนี้ทั้งสองรายเพื่อส่งมอบบัตร Voucher จึงเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ถอนคำร้องขอคัดค้านการฟื้นฟูฯ

โดยทนายของการบินไทยไม่ติดใจการถอนคำร้องขอคัดค้าน แต่ระบุว่าเหตุที่ลูกหนี้ผู้ร้องขอได้ติดต่อผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 7 เพื่อส่งมอบบัตร Voucher นั้น ไม่เป็นความจริง ลูกหนี้ผู้ร้องขอไม่เคยติดต่อไปหาผู้คัดค้านทั้งสองตามคำร้องที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างต่อศาลแต่อย่างใด และการให้ Voucher ดังกล่าวแก่กลุ่มลูกค้า Refund เป็นนโยบายโดยทั่วไปของลูกหนี้อยู่แล้ว ศาลฯ จึงอนุญาตให้เจ้าหนี้ทั้งสองถอนคำคัดค้าน

ระหว่างการไต่สวนมีเจ้าหนี้และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมฟังการไต่สวนราว 30 คน และระหว่างการไต่สวนมีผู้ร้องต่อศาลว่าตนได้ส่งเอกสารคำร้องขอคัดค้านการฟื้นฟูการบินไทยและขอเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยแต่เพียงผู้เดียวผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งศาลแจ้งว่าหากจะยื่นคำร้องจะต้องมีองค์ประกอบคือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายในการยื่นคำร้อง จะต้องมายื่นเอกสารด้วยตัวเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาแทน จะต้องมีเอกสารที่เป็นไปตามแบบฟอร์มทางกฎหมาย และจะต้องลงลายมือชื่อ ซึ่งกรณีนี้ผู้ยื่นคำร้องระบุว่าตนเป็นเพียงผู้ถือหุ้นจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้มายื่นเอกสาร และไม่ได้ลงลายมือชื่อศาลจึงให้ยกคำร้องฯ ไป

ทั้งนี้ หลังคดีเสร็จการไต่สวน ศาลฯ ให้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2563 เวลา 10.00 น. พร้อมอนุญาตให้ฝ่ายผู้ร้องขอและผู้คัดค้านยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจ