เปิดวิชั่น “สวนพานหิน” ผู้บุกเบิกธุรกิจโรงแรมโซนนิคมฯ

สัมภาษณ์พิเศษ

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการด้านพัฒนาที่ดินและโรงแรมหลายรายต่างสนใจและทุ่มลงทุนธุรกิจโรงแรมที่อยู่ในโซนนิคมอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี, นิคมอุตสาหกรรม 304 ศรีมหาโพธิ, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฯลฯ

โดยโรงแรมในเซ็กเมนต์นี้ยังคงเป็นที่นิยมของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดโดยรวมของนิคมอุตสาหกรรมในเมืองไทยจะไม่คึกคักนัก แถมบางแห่งยังปรับลดขนาดองค์กร ลดพนักงาน ลดบุคลากรในระดับผู้บริหาร ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ชัยยันต์ โรจนเมธากุล” บริษัท สวนพานหิน จำกัด ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งที่เข้าไปบุกเบิกธุรกิจเซอร์วิสเรซิเดนซ์ และโรงแรม ถึงรูปแบบการลงทุน แนวคิดในการลงทุน การบริหาร รวมถึงภาพรวมของโรงแรมในเซ็กเมนต์นี้ไว้ดังนี้

ชี้กำลังซื้อแน่นอน

“ชัยยันต์” บอกว่า สาเหตุที่บริษัทลงทุนทำธุรกิจโรงแรมในโซนนิคมอุตสาหกรรมนั้น เนื่องจากโซนนิคมอุตสาหกรรมเป็นทำเลที่มีกำลังซื้อที่แน่นอน และไม่ค่อยได้รับผลกระทบเหมือนโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่มักได้ลูกค้าในช่วงวันหยุดเป็นหลัก

ที่สำคัญ โรงแรมในโซนนิคมอุตสาหกรรมนั้นจะไม่มีคำว่า “โลว์ซีซั่น” หรือ “ไฮซีซั่น” ทำให้ธุรกิจมีความมั่นคงกว่า”ชัยยันต์” บอกด้วยว่า หลายคนอาจมองว่าโรงแรมที่อยู่ในโซนนิคมอุตสาหกรรมนั้นมี “จุดอ่อน” เพราะสามารถรองรับได้เฉพาะคนทำงานที่อยู่ในโซนนิคมอุตสาหกรรมนั้น ๆ เท่านั้นนักท่องเที่ยวทั่วไปไม่นิยมไปพัก แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว โรงแรมในเซ็กเมนต์นี้มีศักยภาพและโอกาสสูงมาก เพราะการแข่งขันยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับธุรกิจโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวทั่วไป

นอกจากนี้ วันขายของโรงแรมที่อยู่ในโซนนิคมอุตสาหกรรมยังมากกว่า เพราะส่วนใหญ่วันที่ขายได้ของโรงแรมกลุ่มนี้คือวันทำงาน จันทร์-ศุกร์ รวม 5 วัน จะไม่ค่อยมีลูกค้าบ้างก็แค่ 2 วัน คือวันเสาร์-อาทิตย์

ขณะที่โรงแรมทั่วไปมักขายได้แค่ 2 วัน คือ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันทำงานจันทร์-ศุกร์ 5 วัน จะไม่ค่อยมีลูกค้ามากนักแต่หากเมื่อไรที่เศรษฐกิจโดยรวมไม่ดีก็ต้องยอมรับว่าโรงแรมในโซนนิคมอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันโรงแรมที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวทั่วไปก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

แจ้งเกิดจากนิคมฯศรีมหาโพธิ์

“ชัยยันต์” ได้ย้อนความให้ฟังด้วยว่า กลุ่มพานหินนั้น ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบที่อยู่อาศัยมานาน ทั้งบ้านจัดสรร หอพัก ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และได้มองเห็นถึงศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก เพราะเป็นภูมิภาคที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากที่สุด และเห็นว่าต่างชาติเข้ามาทำงานแล้วไม่มีที่พักบริษัทจึงได้เริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจเซอร์วิสเรซิเดนซ์โซนนิคมอุตสาหกรรม โดยปักธงแห่งแรกที่นิคมอุตสาหกรรม 304 ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อประมาณปี 2548-2549 โดยใช้ชื่อ “บ้านสวน พานหิน”

หลังจากเปิดให้บริการ พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก จึงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 112 ห้อง ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปัจจุบันมีทั้งเซอร์วิสเรซิเดนซ์ และโรงแรม รวมกว่า 400 ห้อง และเป็นที่รู้จักของกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว มีอัตราการเข้าพักถึง 90-95%

ขยายฐานธุรกิจสู่โซนศรีราชา

ทันทีที่โครงการที่นิคมอุตสาหกรรมศรีมหาโพธิอยู่ตัวแล้ว ทีมบริหารก็ทำการศึกษาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่น และก็พบว่า ทำเลศรีราชานั้นเป็นศูนย์กลางของที่พักอาศัยของคนในนิคมอุตสาหกรรมศรีราชา และพฤติกรรมของคนเหล่านี้ก็ไม่อยากเข้าเมือง จึงตัดสินใจลงทุนเพิ่มอีกโครงการ โดยใช้ชื่อว่าโรงแรม พานหิน รีเจนท์ เอ็กซ์คลูซีฟ เรซิเดนซ์ หรือ Phanhin Regent Exclusive Residence ด้วยงบฯการลงทุนประมาณ 500-600 ล้านบาท และได้เปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา

“การลงทุนในครั้งนี้ได้ยกระดับโครงการให้มีความเป็นไฮเอนด์มากกว่าที่นิคมอุตสาหกรรมศรีมหาโพธิ แต่ยังเป็นที่พักอาศัยระยาวในบรรยากาศเหมือนบ้าน โดยมีสโลแกนว่า อบอุ่นเหมือนบ้าน บริการเหมือนโรงแรม บรรยากาศเหมือนรีสอร์ต”

“ชัยยันต์” บอกอีกว่า หลังจากให้บริการมาได้ปีกว่า พบว่าผลตอบรับดีกว่าที่ปราจีนบุรี เนื่องจากทำเลพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นใกล้นิคมอุตสาหกรรม ใกล้แหล่งท่องเที่ยว ใกล้สนามกอล์ฟ

ล่าสุดบริษัทได้ปรับโครงการนี้ให้เป็นทั้งเรซิเดนซ์และโรงแรม เพื่อให้ลูกค้ารู้จักในวงกว้างมากขึ้น และมีศักยภาพในการทำการตลาดได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลงทุนในฟังก์ชั่นอื่น ๆ เสริม เพื่อให้มีบริการที่ครบวงจร ทั้งห้องพักระยะยาว, ห้องพักระยะสั้น (โรงแรม), ห้องจัดประชุมสัมมนา, ห้องอาหาร, สระว่ายน้ำ, ฟิตเนส, บริการนวดสปา เป็นต้น

โดยโครงการแห่งนี้ประกอบด้วยอาคาร 4 ตึก อาคารใหญ่ P1 เป็นเรซิเดนซ์ P2 P4 เป็นโรงแรม ส่วน P3 เป็นทั้งเรซิเดนซ์และโรงแรม

บูมคอมมิวนิตี้หนุนโรงแรมโตและเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ในวงกว้างให้มากยิ่งขึ้น ขณะนี้บริษัทได้สรุปแผนลงทุนในธุรกิจคอมมิวนิตี้มอลล์และตลาดอีกราว 40-50 ล้านบาท สำหรับเป็นศูนย์รวมของคนทำงานในโซนศรีราชา โดยใช้ชื่อว่าโครงการ “วัลเล่ย์ มาร์เก็ต” บนพื้นที่ 30 ไร่ ในโซนด้านหน้าโรงแรมภายในโครงการจะประกอบด้วยร้านอาหาร, ร้านกาแฟ ฯลฯ รวมร้านค้ารายย่อยทั้งหมดราว 300 ร้านค้า มีที่จอดรถรองรับได้ 400-500 คัน สำหรับเป็นสถานที่พักผ่อน ช็อป และชิล ในช่วงเวลากลางคืน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2560 นี้


โดยมองว่าการลงทุนใน “วัลเล่ย์ มาร์เก็ต” ครั้งนี้ จะช่วยปลุกให้เศรษฐกิจในพื้นที่คึกคักและมีการหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังรับรู้ในธุรกิจโรงแรมได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย