ย้อนรอยประเทศไทยสามารถ “ปลดธงแดง” ได้สำเร็จ

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ได้มีการประชุม ICAO SSC Committee พิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns) และด้วยผลจากมติดังกล่าว สถานภาพในเว็บไซต์ของ ICAO ในส่วนของ Safety Audit Results ซึ่งเคยมีรูปธงแดงอยู่ด้านหน้าชื่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2558 ได้รับการถอดออก ทำให้ประเทศไทยสามารถ “ปลดธงแดง” ได้สำเร็จ

มติดังกล่าวเป็นผลมาจากในช่วงวันที่ 20-27 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ICAO ได้ส่งคณะผู้ตรวจสอบ (ICAO Coordinated Validation Missionหรือ ICVM) เข้ามาตรวจสอบยืนยันความก้าวหน้าและความครบถ้วนของการดำเนินงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ในการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยจำนวน 33 ข้อและกรณีต่อเนื่องอีก 35 ข้อ ในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ รวมถึงได้เยี่ยมชมระบบการจัดการความปลอดภัยของสายการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่แล้ว 2 สายการบิน

การปลดธงแดงดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนของประเทศไทย ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลของความร่วมมือร่วมใจและความมุ่งมั่นของทั้งระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติของภาครัฐ ซึ่งได้แก่ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ ๕ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนและ CAAT สายการบินทุกสาย ทั้งที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ไปแล้ว 11 ราย และส่วนที่ยังรอการตรวจสอบอีก 10 ราย ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ที่ CAAT ได้ว่าจ้างและจัดทำความตกลงเพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือในด้านเทคนิค

ICAO มีกำหนดที่จะส่งรายงานผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการให้ประเทศไทยภายในเดือนตุลาคมนี้

การปลดธงแดงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการกลับคืนสู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน ในระดับสากล อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยและ CAAT ยังคงมีภารกิจที่ต้องปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยภายใต้โครงการกำกับดูแลความปลอดภัยสากลอย่างต่อเนื่อง (Universal Safety Oversight Audit Program-Continuous Monitoring Approach : USOAP-CMA) และด้านการรักษาความปลอดภัยภายใต้โครงการกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยสากลอย่างต่อเนื่อง (Universal Security Audit Program-Continuous Monitoring Approach : USAP-CMA) เพื่อให้ประเทศไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก

รวมถึงการแก้ไขข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยอื่นๆ ที่ ICAO ได้ระบุไว้ในการตรวจสอบเมื่อมกราคม 2558 และในการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยเมื่อวันที่ 11 – 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้ครบทุกข้อ

ทั้งนี้ กพท.ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐานของ ICAO มาปฏิบัติในประเทศ (Effective Implementation) ของไทยไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศสมาชิกทั้งหมดของ ICAO