Travel Bubble-ภูเก็ต โมเดล ปัญหาอยู่ที่ ‘การสื่อสาร’

ภาพจาก Pixabay
ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

ต้องยอมรับว่า ถึงวันนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 มา 7-8 เดือนแล้ว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ห้องไอซียู

บางส่วนที่มีเงินทุนพอประคับประคองตัวเองได้บ้างก็ลุกขึ้นมาทำตลาดต่อเพื่อหวัง “รายได้” บางส่วนมาต่อลมหายใจ แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการมากกว่าครึ่งหนึ่งยังเลือกปิดกิจการชั่วคราว เลิกจ้างพนักงานยาว ๆ ไป

เรียกว่าบาดเจ็บกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการในเมืองท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ
เป็นหลัก

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ รัฐบาลรับรู้และได้พยายามหาแนวทางที่เหมาะสมมานำเสนอเพื่อช่วยเหลือมาเป็นระยะ

นับตั้งแต่ความพยายามในการเปิด travel bubble เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นในการรองรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยไอเดียในขณะนี้ทางภาครัฐต้องการเปิดรับกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาลในไทย หากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีก็จะพิจารณาให้นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาตามลำดับ

โดยหลักการของ travel bubble คือ จะเลือกประเทศเป้าหมายที่สามารถควบคุมโควิด-19 ที่ดี เลือกบุคคลให้เข้ามาท่องเที่ยวอย่างเฉพาะเจาะจง โดยกลุ่มที่จะรับพิจารณาในสเต็ปแรกคือ นักธุรกิจที่มีหนังสือรับรองจากหน่วยงานชัดเจน และบุคคลที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง และต้องเป็นกลุ่มที่มาจากประเทศต้นทางที่ปลอดเชื้อโควิดเป็นเวลานานแล้วเท่านั้น

โดยทั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.ท่องเที่ยวฯ ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการนำเสนอรายละเอียดของ travel bubble ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว

เช่นเดียวกับ “หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ที่ได้ให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้ว่า แนวทางของการเปิด  travel bubble มีตัวแทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯมานำเสนอ ซึ่งผู้อำนวยการ ศบค. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เห็นชอบในหลักการแล้ว พร้อมทั้งยังได้ตั้งคณะกรรมการชุดย่อยไปพูดคุยลงรายละเอียด แล้วนำกลับมาเสนอที่ประชุม ศบค. เพื่อเตรียมผ่อนคลายทางธุรกิจการท่องเที่ยว

สุดท้ายระหว่างทางไม่มีใครรู้ว่า ด้วยเหตุใด travel bubble ถึงหยุดไป พร้อมกับมีแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ภายใต้โครงการใหม่ที่เรียกว่า “ภูเก็ต โมเดล”

โดยมีหลักการสำคัญคือ ใช้พื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยต้องทำการกักตัว 14 วัน ในห้องพักตามเกณฑ์ของ ศบค. หรือหากต้องการไปเที่ยวจังหวัดอื่นต่อก็ต้องกักตัวต่ออีก 7 วัน เป็น 21 วัน ซึ่งในเบื้องต้นของการทดลองเปิดนี้เป้าหมายของการเปิดประเทศแบบนี้คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มที่มาพักยาว หรือลองสเตย์เป็นหลัก

แต่ล่าสุดนี้ “ภูเก็ต โมเดล” ก็ถูกนายกฯประยุทธ์ตีกลับให้เอากลับไปทบทวนและทำรายละเอียดมาใหม่ และไม่อยากให้ใช้ชื่อ “ภูเก็ต โมเดล” ด้วย เพราะหากทำการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็คงไม่ใช่เฉพาะที่ภูเก็ตจังหวัดเดียวแน่นอน

ขณะที่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ภูเก็ตเองก็ยังมีประเด็นถกเถียงและความเห็นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายของทั้งฝ่ายภาครัฐและเอกชนคือ ต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเหมือนกัน

ซึ่งแน่นอนว่า อีกเป้าหมายหนึ่งของทั้งภาครัฐและเอกชนคือ หลังจากเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ทุกภาคส่วนจะต้องปลอดภัย บริหารจัดการได้

ประเด็นคำถามคือ เมื่อมีเป้าหมายเดียวกันคือ ภาครัฐก็ต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบมีข้อจำกัด เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยว ขณะที่เอกชนท่องเที่ยวก็เรียกร้องให้รัฐเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้เงื่อนไขที่ปลอดภัย แล้วทำไมถึงยังตกลงแนวทางการทำงานร่วมกันไม่ได้

เมื่อมีเป้าหมายเหมือนกัน แล้วทำไมถึงยัง “สะดุด” อะไรคือปัญหา อะไรที่ยังเป็นอุปสรรค ?

ภาคเอกชนคนในพื้นที่ “หัวร้อน” ไม่พยายามฟังและทำความเข้าใจหลักการทำงานของรัฐ หรือเป็นความ “ล้มเหลว” ของการสื่อสารของหน่วยงานรัฐที่น้อยเกินไป หรือว่าส่งเสียงไม่ดังพอที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและความมั่นใจให้ภาคเอกชนได้…