กสิกรฯชี้ ICAO ปลดธงแดงไทย หนุนรายได้ธุรกิจสายการบินปี’61 เฉียด 3 แสนล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า นับว่าเป็นข่าวดีอย่างมากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยบนเว็บไซต์ของ ICAO หลังจากที่ได้ขึ้นธงแดงตั้งแต่ มิถุนายน ปี 2558 อันส่งผลให้ธุรกิจสายการบินของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายอย่าง ต่อเนื่องตามมา ทั้งการปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศจากระดับปกติ (Category1) เป็นระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (Category2) ขององค์การบริการการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration หรือFAA) และความคลางแคลงใจในมาตรฐานความปลอดภัยจากนานาประเทศ จนนำไปสู่การที่เครื่องบินของไทยถูกตรวจสอบ ณ ลานจอด (Ramp Inspections) ในท่าอากาศยานต่างประเทศเข้มข้นขึ้น โดยแม้ผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัดเพียงถูกตั้งข้อจำกัดการปฏิบัติการทางการบิน จากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จากกรณีปัญหา ICAO[1] และจากสหรัฐอเมริกากรณีปัญหา FAA[2] เท่านั้น แต่ผลกระทบทางด้านภาพลักษณ์มีซึ่งระยะเวลายาวนานกว่า 2 ปี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจสายการบินของไทย รวมถึงการที่ภาครัฐได้มุ่งเป้าให้อุตสาหกรรมการบินเป็นกลไกสำคัญในการผลัก ดัน EEC และเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้างหน้า   

จับตาท่าทีของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ FAA ภายหลัง ICAO ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย คาดว่า จะส่งผลให้รายได้ของธุรกิจการบินในไตรมาสสุดท้ายของปีเพิ่มขึ้นกว่า 1,300 ล้านบาท

สำหรับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจสายการบินของไทยที่เกิดจากการตั้งข้อจำกัดทางการบินนั้น เริ่มตั้งแต่ ICAO ได้มีคำเตือนเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของไทยให้แก่ภาคีสมาชิก ทราบ คือ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 7 เดือน คิดเป็นมูลค่าค่าเสียโอกาสของสายการบินของไทยทั้งสิ้นกว่า 11,300 ล้านบาท โดย หลังจากนี้ คาดว่า ภาคีสมาชิกอย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้[3] น่าจะมีการยกเลิกการตั้งข้อจำกัดที่มีต่อสายการบินของไทย ส่งผลให้ไทยสามารถขยายตลาดการบินไปยังประเทศทั้งสองได้ภายในช่วงตารางบินฤดู หนาวปีนี้ (ปลายตุลาคม 2560-ปลายมีนาคม 2561) เช่นเดียวกับ FAA ที่น่าจะมีท่าทีต่อการปรับอันดับของสายการบินของไทยให้กลับมาอยู่ระดับปกติ /Category1 (ได้มาตรฐานของ ICAO) ในเร็ววันนี้ ยังผลให้สายการบินของไทยสามารถกลับไปบินยังเส้นทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินการของสายการบินที่ได้กำหนดไว้[4] โดยคาดว่าจะสามารถกลับมาบินได้ภายในช่วงตารางบินฤดูร้อนปีหน้า (ปลายมีนาคม-ปลายตุลาคม 2561)

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์การบินของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 หลังจาก ICAO ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยจะเติบโตอย่างคึกคักขึ้น จากเดิมที่ได้ทวีบทบาทอย่างน่าจับตามองในระยะที่ผ่านมา และผลดังกล่าวจะต่อเนื่องไปยังปี 2561 ให้ธุรกิจการบินของไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ โดย คาดว่า ธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 จะมีรายได้ประมาณ 278,900 ล้านบาท และน่าจะแตะ 294,500 ล้านบาท ในปี 2561 มากกว่ากรณีที่ ICAO ยังคงติดธงแดง คิดเป็นมูลค่า 1,300 และ 8,400 ล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลจากการที่ ICAO ปลดธงแดง ยังจะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ธุรกิจสายการบินของไทย และเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้กับนโยบายของภาครัฐซึ่งวางแผนให้อุตสาหกรรม การบินเป็นฟันเฟืองหลักในการผลักดันโครงการ EEC หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านโครงการเมืองการบิน หรือ อู่ตะเภา Aerotropolis อีกด้วย

ความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของไทย …รากฐานสำคัญสู่การพัฒนาอู่ตะเภา Aerotropolis

อู่ตะเภา Aerotropolis หรือ เมืองการบิน เป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลคาดหวังให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนา EEC ซึ่งถูกตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูง อันจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ หลังจากที่ไทยต้องเผชิญโจทย์การชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมา โดยอู่ตะเภา Aerotropolis จะเป็นการใช้จุดเด่นจากการเชื่อมโยงของท่าอากาศยานอู่ตะเภาดึงดูดการลงทุน ที่จะก่อให้เกิดเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโดยมีท่าอากาศยานเป็นแกนหลักให้ ธุรกิจและอุตสาหกรรมในรัศมีโดยรอบพึ่งพา โดยความเชื่อมโยงของท่าอากาศยาน นอกจากจะนำมาซึ่งจำนวนเที่ยวบิน นักท่องเที่ยว และสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ ที่นำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์แล้ว ยังจะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่หวัง พึ่งพาท่าอากาศยานในการเชื่อมโยงไปยังซัพพลายเออร์และตลาดสำคัญต่างๆ ทั่วโลกได้

การปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยของ ICAO จะเป็นแรงขับเคลื่อนความเชื่อมั่นต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของไทย โดย ICAO จะยืนยันถึงการมีการกำกับดูแลที่ดีของรัฐในด้านมาตรฐานทางการบินซึ่งรวมถึง การเดินอากาศ สนามบิน และการบริการภาคพื้นดิน ที่จะสอดรับกับความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางทางการบินภูมิภาคของไทย อันจะสะท้อนผลไปยังห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมการบินโดยรวมอย่าง ธุรกิจบริการภาคพื้นดิน ธุรกิจคลังสินค้า อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair, and Overhaul: MRO) และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานให้ขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน กระทั่งผลักดันให้อู่ตะเภา Aerotropolis สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันก็ได้มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ระดับโลกทั้งจากจีน ฝรั่งเศส และสวีเดน ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในพื้นที่บ้างแล้ว นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า อู่ตะเภา Aerotropolis จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งส่วน ใหญ่พึ่งพาการขนส่งทางอากาศเป็นหลัก อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา EEC ต่อไปในอนาคต   

 โดยสรุป การปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยนั้น ไม่เพียงแต่จะส่งผลบวกต่อธุรกิจสายการบินเท่านั้น แต่ยังจะเป็นส่วนสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการบินโดยรวมของไทย ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างเมืองการบินที่จะใช้เป็นแกนหลักเพื่อดึงดูด การลงทุนและนวัตกรรมจากต่างชาติ อันจะปฏิรูปภาคการผลิตไทยไปสู่ยุคดิจิทัลเทคโนโลยี นำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และมีมูลค่าอีกมหาศาลที่ยากจะประเมินได้

[1] Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) ของญี่ปุ่นและKorea Office of Civil Aviation ของเกาหลีใต้ ห้ามทุกสายการบินของไทยที่ไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพิ่มเที่ยวบิน ปรับเปลี่ยนเส้นทาง และขนาดเครื่องบิน

[2] FAA ตั้งข้อจำกัดต่อสายการบินที่ถูกจัดอันดับต่ำกว่ามาตรฐาน (Category 2) โดยห้ามเพิ่มเที่ยวบิน ปรับเปลี่ยนเส้นทาง และขนาดเครื่องบิน

ที่ไปยังสหรัฐอเมริกา และห้ามทำ Code Share กับสายการบินของสหรัฐอเมริกา

[3] ICAO มีบทบาทเพียงแจ้งผลการตรวจสอบให้ภาคีสมาชิกทั้ง 191 ประเทศรับรู้ ซึ่งการมีมาตรการต่อสายการบินของไทยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประเทศนั้นๆ

[4] สหรัฐอเมริกาไม่ได้ห้ามเที่ยวบินของไทยเข้าประเทศ แต่เนื่องจากสายการบินของไทยได้ยกเลิกเส้นทางการบินไปยังสหรัฐอเมริกาเมื่อ เดือนตุลาคม 2558 ก่อนที่ FAA จะประกาศลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการขอทำการบินใหม่