“สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” วิพากษ์ทางรอด “เศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว” ไทย

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
สัมภาษณ์

แม้ว่าจะยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า วิกฤตโควิด-19 จะจบลงเมื่อไหร่

แถมภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยยังดูมีแนวโน้มเป็น “ขาลง” ต่อเนื่อง เมื่อบวกกับเสถียรภาพทางการเมืองที่ไม่ค่อยมั่นคงนัก ทำให้นักธุรกิจทั้งหลายเริ่มเป็นห่วงว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะฝ่าปัจจัยลบต่าง ๆ อย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง และเจ้าของบริษัท พราว เรียลเอสเตทจำกัด (มหาชน) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย โรงแรม และสวนน้ำ ถึงภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 ไว้ดังนี้

เศรษฐกิจไทยแย่ตั้งแต่ก่อนโควิด-19

“สุวัจน์” บอกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่ดีมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา จีดีพีประเทศขยายตัวแค่ 3% เมื่อมาเจอวิกฤตโควิดทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยยิ่งย่ำแย่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นประเด็นที่ต้องมองในขณะนี้ คือ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ในช่วงที่โควิดยังไม่จบนี้จะทำอย่างไรทุกคนถึงจะไม่จมน้ำตาย และ 2.เมื่อรอดแล้ว ประเทศไทยจะปักทิศทางเศรษฐกิจต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน

โดยในช่วงที่เราต้องพยายามประคองตัวเองเพื่อฝ่าวิกฤตไปให้ได้นี้ต้องวางแผนกันว่าจะทำอย่างไรบ้าง เพราะปัญหาในวันนี้ คือ จีดีพีประเทศติดลบ ส่งออกติดลบ คนว่างงาน 6-7 ล้านคน ธุรกิจก็จะเจ๊ง ล้มละลายกันหมด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นประเด็นที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข

แนะเร่งแก้ปัญหา “ว่างงาน”

“สุวัจน์” บอกว่า ประเด็นใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข คือ “การว่างงาน” เพราะสถานการณ์ในวันนี้จะปล่อยให้คนตกงานไม่ได้ ปัญหาของคนตกงานตอนนี้มาจากธุรกิจถูกปิด ดังนั้น ผู้นำต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจต่าง ๆ กลับมารีสตาร์ตกันได้อีกครั้ง แม้ว่าจะขาดทุนก็ต้องหาวิธีช่วยให้เขาเปิดธุรกิจ และคุยกันว่าผู้ประกอบการต้องการอะไร อยากได้ความช่วยเหลืออะไรบ้างเรื่องภาษีช่วยได้ไหม หรือช่วยสนับสนุนเรื่องค่าจ้าง เพื่อช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน

“ผมว่าจะต้องมีมาตรการอะไรออกมาจากรัฐบาลที่ได้ไปพูดคุยกับเอสเอ็มอี และธุรกิจใหญ่ให้กลับมาเปิดธุรกิจ แล้วรัฐจะยกเว้นบางอย่างให้เช่น ถ้าเปิดแล้วขาดทุน รัฐบาลมีวิธีการชดเชยให้ในรูปของภาษี เป็นต้น”

ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐสามารถดีไซน์โครงสร้างภาษีใหม่ที่เอามาใช้ สำหรับในช่วง 2-3 ปีนี้ได้หรือไม่ เป็นการดีไซน์เพื่อให้เกิดการจ้างงาน เพื่อให้ทุกคนไปต่อได้ เพราะเชื่อว่าเมื่อคนไม่ตกงาน ธุรกิจจะเดินต่อไปได้ และจะทำให้จีดีพีเติบโตขึ้นได้ด้วย

ลดพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ

ที่สำคัญคือ “ภาคการท่องเที่ยว” ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเป็นธุรกิจที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ ขับเคลื่อนโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน สร้างรายได้2 ล้านล้านบาท

เมื่อวันนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว จึงจำเป็นต้องมองว่าประเทศไทยจะสร้างรายได้จากตรงไหนมาชดเชย

แน่นอนว่าต้องกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งต้องมีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง ที่สำคัญ ควรใช้วิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส สร้างการรับรู้ให้คนไทยเที่ยวในประเทศ รู้จักโปรดักต์ท่องเที่ยวในประเทศ และต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยรู้สึกว่าทุกเมืองเป็นเมืองท่องเที่ยวสำหรับคนไทยไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต, กระบี่, สมุย ฯลฯ

จังหวัดต่าง ๆ เหล่านี้ก่อนหน้าโควิด-19 คนไทยไม่นิยมไปท่องเที่ยว เพราะรู้สึกว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สินค้าและบริการทุกอย่างถูกตั้งไว้ในราคาที่สูง ทำให้คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึง

คำถามในตอนนี้คือ ขนาดรัฐบาลจ่ายเงินให้คนไทยทั่วประเทศไปเที่ยวในสัดส่วน 40% (ค่าห้องพัก) มีค่าอาหารและค่าตั๋วเครื่องบินอีกส่วนหนึ่ง แต่ทำไมคนไทยยังไม่ออกไปเที่ยว

“สุวัจน์” บอกว่า ประเด็นนี้จำเป็นต้องมาวิเคราะห์แล้วว่าควรจะทำอะไรต่อซึ่งส่วนตัวมองว่ารัฐเอาเงินมาใส่กระเป๋าให้คนไทยแล้ว ก็ต้องบอกคนไทยด้วยว่าควรไปเที่ยวที่ไหน อย่างไร กล่าวคือต้องสร้างการรับรู้ให้คนไทยด้วย โดยจัดเป็นตารางการท่องเที่ยวออกมาอย่างต่อเนื่องว่า ช่วงไหนมีงานอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อกระตุ้นให้คนไทยออกไปเที่ยว

“ที่ผ่านมาเราเคยชินอยู่กับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ขาดการประชาสัมพันธ์ในกลุ่มคนไทยวันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนออกมาเที่ยวช่วยประเทศไทย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ตารางการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยตื่นตัวในการที่จะออกมาท่องเที่ยว เมื่อคนไทยรับรู้และรู้จักประเทศไทยแล้ว เราก็ควรใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างนักท่องเที่ยวเสียใหม่ว่า การท่องเที่ยวของไทยจะไม่ใช่ขับเคลื่อนโดยต่างชาติอีกต่อไป แต่จะเป็นการขับเคลื่อนโดยคนไทย นั่นหมายความว่า สัดส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยต่อไป ไม่ควรจะต่ำกว่า 50%” สุวัจน์ย้ำ

มองหาจุดแข็ง “ประเทศไทย”

“สุวัจน์” ยังวิเคราะห์ด้วยว่าหลังโควิด-19 จบลง โครงสร้างเศรษฐกิจโลก รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อบวกกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จะทำให้รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปด้วย การลงทุนก็ต้องเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมบางอย่างต้องเลิกไป อุตสาหกรรมบางส่วนยังเดินต่อไปได้ แต่ต้องปรับตัว และก็จะมีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น

ฉะนั้นไม่ต้องรอแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่ควรจะคิดได้แล้วว่า สมมุติว่าปีหน้าโควิด-19 จบ ประเทศไทยจะเดินอย่างไร ซึ่งก็ต้องกลับมามองว่าประเทศไทยในวันนี้มีอะไรเป็นจุดแข็งบ้าง

สำหรับ “สุวัจน์” นั้นมองว่า จุดแข็งของประเทศไทยในขณะนี้มี 3 ด้านหลัก ๆ ที่ดี และเชื่อมั่นว่า 3 เรื่องนี้ประเทศไทยไม่แพ้ใครแน่นอน คือ เรื่องท่องเที่ยว, อาหาร/การเกษตร และสาธารณสุข

ดันไทยสู่ “เมดิคอลฮับ” ของโลก

พร้อมย้ำว่า อยากให้ประเทศไทยตั้งหลักให้ดีใน 3 เรื่อง โดยด้านการท่องเที่ยวนั้นเชื่อว่าจะเป็นเซ็กเตอร์ที่กลับมาก่อน เพราะไทยมีจุดแข็งเรื่องความปลอดภัย ฉะนั้น ต้องเอาจุดแข็งนี้มาเติมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สร้างเซ็กเมนต์ สร้างโปรดักต์ใหม่ ๆ ให้การท่องเที่ยว

ก้าวต่อไปประเทศไทยต้องเป็น “เมดิคอลฮับ” ของโลก หรือเป็นเมืองสุขภาพของโลก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเฮลท์แคร์ต่าง ๆ จำเป็นต้องหยิบมาเป็นโปรดักต์ใหม่ที่ใครก็แข่งกับไทยไม่ได้ และที่สำคัญเป็นโปรดักต์เชิงสุขภาพ เป็นไฮเอนด์ด้วย

หนุนแปรรูปสินค้าเกษตรส่งออก

ส่วนเรื่องอาหาร/การเกษตรนั้น”สุวัจน์” บอกว่า สถานการณ์ในวันนี้ภาคส่งออกทุกอย่างติดลบหมดเหลืออาหารตัวเดียวที่เป็นบวก เพราะเมืองไทยเป็นครัวอาหารของโลกเมืองไทยเป็นเมืองเกษตร จึงจำเป็นต้องหยิบจุดแข็งตรงนี้มาขยายผล

“วันนี้ส่งออกสินค้าเกษตรของเราส่วนใหญ่ส่งเป็นวัตถุดิบ เราควรมองเรื่องการแปรรูปแล้วส่งออกเป็นอุตสาหกรรม ควรวางแผนเลยว่าจากนี้ไปอีก 10 ปี สินค้าเกษตรทุกอย่างจะต้องส่งออกเป็นสินค้าแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรม จะไม่ส่งอ้อยเป็นอ้อย ไม่ส่งข้าวเป็นข้าว ไม่ส่งยางเป็นยาง ทุกอย่างจะต้องถูกเปลี่ยนเป็นสินค้าอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด”

คาดอีก 4 ปี ศก.กลับไปเท่าปี’62

สำหรับด้านสาธารณสุขนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยเรามีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนในเรื่องการรับมือกับวิกฤตโควิดได้ดีส่งผลให้เมืองไทยเป็นเมืองน่าอยู่ เราต้องคิดต่อว่าเมื่อเมืองไทยน่าอยู่เมืองไทยก็จะเป็นบ้านหลังที่ 2 ของโลก เป็นออฟฟิศที่ 2 ของโลก หรือเป็นออฟฟิศของคอร์ปอเรตใหญ่ ๆของโลกได้อย่างไร

“สุวัจน์” ย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า ก่อนเกิดโควิด จีดีพีประเทศไทย +3 ปัจจุบันคาดว่าจีดีพีประเทศจะติดลบที่ 10 เท่ากับถอยหลังไป -13 นั่นหมายความว่าหากสามารถรักษาอัตราการเติบโตไว้เท่าปีก่อน คือ +3% ประเทศไทยจะต้องใช้เวลาถึง 4 ปี สำหรับการทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาเหมือนเดิมหรือเท่ากับปี 2562 ที่ผ่านมา