“ภูเก็ต” หันจับไทยเที่ยวไทย อัดโปรฯ ต่อลมหายใจธุรกิจท่องเที่ยว

ภูเก็ตโมเดล-ท่องเที่ยว

นับวันลมหายใจภาคธุรกิจท่องเที่ยวยิ่งแผ่วลงทุกทีโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่ถือว่าประสบกับภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” อย่างแท้จริง เพราะก่อนวิกฤตโควิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภูเก็ตประสบกับเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มในช่วงเริ่มต้นเข้าสู่ไตรมาส 3 ของปี 2561 ครั้งนั้นนักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างชะลอเดินทางเข้าภูเก็ตอย่างชัดเจน

ณ เวลานี้ “ภูเก็ต” ทั้งเกาะจึงต้องปรับตัว หันมาจับตลาดคนไทย ด้วยความหวังว่าจะเป็นโอกาสต่อลมหายใจภาคธุรกิจท่องเที่ยวในครั้งนี้

“นิกรมารีน” ทุ่มเจาะคนไทย

“วิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์” นายกสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวภูเก็ตและเจ้าของธุรกิจในเครือนิกร มารีน ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยว เรือบริการนักท่องเที่ยว และโรงแรมที่พัก เล่าว่า ช่วงก่อนหน้าจะเกิดการแพร่ระบาด สถานการณ์ท่องเที่ยวภูเก็ตช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดีนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่ม ที่ทำให้ภูเก็ตซบต่อเนื่องมาเป็นแรมปี เมื่อถูกซ้ำเข้าด้วยโควิด-19 จึงทำให้ภูเก็ตได้รับผลกระทบหนัก จนตอนนี้ยังมีธุรกิจด้านการท่องเที่ยวกลับมาเปิดให้บริการไม่ถึง 10%

โดยในส่วนของ “นิกรมารีน” ที่กลับมาเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็เปิดเพียง 25% จากกิจการทั้งหมดเท่านั้น และได้หันมาจับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย จัดโปรโมชั่นทุ่มตลาดสร้างการรับรู้ว่านิกรมารีนเปิดให้บริการ อาทิ ให้บริการเรือยอชต์ไป-กลับเกาะเฮ ในราคาเพียง 199 บาท

นอกจากนั้น ยังมีท่องเที่ยวด้วยเรือใบพร้อมดินเนอร์ในราคาเพียง 899 บาท ฯลฯ และทุ่มเทเต็มที่ในการทำตลาด อสม. ในโครงการ “กำลังใจ” โดยส่งพนักงานลงไปทำตลาดถึงในพื้นที่ ทั้งในตัวจังหวัดภูเก็ต รวมถึงพื้นที่รอบข้าง อาทิ พังงา, กระบี่, ตรัง, พัทลุง และนครศรีธรรมราช ทำให้ปัจจุบันมี อสม.เข้ามาเดินทางท่องเที่ยวมากกว่า 1,000 คนแล้ว

ขอเพิ่มงบฯ-เวลาหนุนเที่ยวไทย

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว อสม.จากโครงการกำลังใจอย่างน้อย 3,000 คนใน 2 บริษัทของเครือที่เข้าร่วมโครงการ แต่เชื่อว่าถ้าหากมีการขยายเวลาออกไปจนถึงสิ้นปีนี้หรือปีหน้า น่าจะเปิดทางให้บริษัทสามารถทำแพ็กเกจเสนอกับ อสม.ได้มากขึ้น

และหากมีการเปิดทางให้บริษัทนำเที่ยวเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ได้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายกลุ่มรวมถึงแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเชื่อว่าการสนับสนุนการเดินทางในรูปแบบเดียวกับโครงการกำลังใจ แต่เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวเป็น 3,000 บาทน่าจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น

“เมื่อก่อนเรารับลูกค้าต่างชาติกว่า 90% แต่ในช่วงที่ผ่านมาเราเล็งเห็นถึงศักยภาพของนักท่องเที่ยวไทยที่พร้อมจะออกเดินทางถ้ามีการสนับสนุนจากรัฐที่เหมาะสม และเชื่อว่าตลาดไทยจะสามารถพยุงเศรษฐกิจในระยะเวลาอันใกล้ได้”

“หนุมาน เวิลด์” อัดโปรฯ

เช่นเดียวกับ “เมธินี รอดเสวก” รองประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สกายเวิลด์ จำกัด ผู้บริหารหนุมาน เวิลด์ แหล่งท่องเที่ยวผจญภัยเชิงอนุรักษ์ที่เคยมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 1,000-2,000 คน ในช่วงสุดสัปดาห์ที่เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 “หนุมาน เวิลด์” ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 70% ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รายได้ลดลงไปกว่า 80-90%

อย่างไรก็ตาม ในช่วงล็อกดาวน์ “หนุมาน เวิลด์” ก็ไม่ได้ปิดกิจการโดยสิ้นเชิง เนื่องจากบริษัทยังคงให้พนักงานมาช่วยกันระดมความคิดและกำลัง เตรียมพร้อมทั้งด้านการตลาดและมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในการให้บริการสำหรับการเปิดให้บริการที่กำลังจะมาถึง

“เมธินี” บอกว่า เดิมมีจำนวนนักท่องเที่ยวราว 600-700 คนต่อวันในวันธรรมดา และราว 800-1,000 คนในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ รวมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมกิจกรรมที่มีเอ็กซ์ตรีมแตกต่างกับนักท่องเที่ยวชาวไทย เราจึงทำแพ็กเกจ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยการปรับลดราคากิจกรรมลงกว่า 50% อาทิแพ็กเกจครบทุกกิจกรรมเดิม 3,000 บาทลดราคาเหลือ 1,500 บาท ฯลฯ

รวมถึงเสนอขายกิจกรรมที่คนไทยนิยมอย่างการเดินสกายวอล์กในราคาประหยัด เพื่อให้นักท่องเที่ยวไทยสามารถเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวในเชิงผจญภัยใกล้ชิดธรรมชาติในยามที่กำลังซื้ออาจจะไม่มากนัก

และหันมาทำการตลาดบนช่องทางออนไลน์มากขึ้นผ่านทั้งโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ และอื่น ๆ รวมถึงยังได้ทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ดึงเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และบล็อกเกอร์ชื่อดังทางด้านการท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหลังปล่อยโปรโมชั่นออกไป สถานการณ์ก็เริ่มขยับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จนในเดือนสิงหาคม-กันยายนก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถือว่าช่วยในการเติมกระแสเงินสดให้กับธุรกิจได้บางส่วน แม้ไม่อาจเทียบกับรายได้ในช่วงปกติได้ก็ตาม

ขอเพิ่มเยียวยาต่อลมหายใจ

“เมธินี” บอกด้วยว่า นับจากนี้เป็นเวลาสำคัญที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐต้องต่อเนื่อง ทั้งในลักษณะของแคมเปญแบบเดียวกับแคมเปญ “เราเที่ยวด้วยกัน” ให้ครอบคลุมไปจนกว่าจะถึงเวลาที่นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางกลับมาเที่ยวไทยได้ รวมถึงการขยายวันหยุดยาวเพิ่มเติมในเดือนที่เหลืออยู่ของปีนี้

และจำเป็นต้องขยายเวลาการพักชำระหนี้เพิ่มเติมออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากสถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณการเรียกเก็บยอดชำระหนี้แล้วในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐเร่งเพิ่มซอฟต์โลนให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทั้งปริมาณเงินและจำนวนธุรกิจที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้เพียงพอต่อการประคองกิจการต่อไปในปี 2564 และต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรวมทั้งต่ออายุการชดเชยเงินประกันสังคมให้กับลูกจ้างที่กิจการยังจำเป็นต้องปิดตัวชั่วคราวและลูกจ้างที่ตกงาน เพราะธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตเองกลับมาเปิดให้บริการไม่ถึง 30%


ที่สำคัญ อยากให้ภาครัฐเร่งเปิดประเทศโดยเร็วและปลอดภัยที่สุด พร้อมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีในการเปิดประเทศให้กับคนพื้นที่ด้วย