แอร์เอเชียขยับสู่ “แทรเวลเทค” ระดับภูมิภาค

“แอร์เอเชีย” ดัน airasia digital สู่ “แทรเวลเทค” เต็มตัว ตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการซูเปอร์แอประดับอาเซียน นำเสนอโปรดักต์ครบวงจร ทั้งท่องเที่ยว-ขนส่ง-การเงิน-อาหาร ใช้จุดแข็งตลอด 19 ปีดูดลูกค้า ภายใต้แท็กไลน์ for everyone

นายโทนี่ เฟอนานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า แอร์เอเชียเตรียมเดินหน้าเข้าสู่สนามดิจิทัลแบบเต็มตัวในนาม airasia digital พร้อมขยายกิจการออกจากกิจการการบินเต็มรูปแบบสู่บริษัท”แทรเวลเทค” ระดับภูมิภาคด้วยความแข็งแกร่งของสินทรัพย์และความสามารถที่สั่งสมมาตลอด 19 ปีพร้อมแบรนด์ที่แข็งแกร่งและฐานข้อมูลที่มากเพียงพอจะเติบโตในตลาดที่มากกว่าสายการบิน

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของแอร์เอเชียที่มีจำนวนผู้โดยสารสะสมมากกว่า 600 ล้านคน และ 100 ล้านคนต่อปี ในกว่า 160 จุดหมายปลายทางทั่วโลกเชื่อว่าแอร์เอเชียพร้อมสำหรับการเติบโตที่แตกต่างกับ 19 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์โควิด-19 แอร์เอเชียจึงตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมในตลาดผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี (tech-savy market) ที่กำลังเติบโตที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ที่หลากหลายในโลกหลังโควิด-19

โดยแอร์เอเชียจะเดินหน้าเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับแนวทางที่กำลังเปลี่ยนไปภายใต้แบรนด์ airasia digital ที่จะดำเนินกิจการภายใต้แท็กไลน์ for everyone เหมือนที่แอร์เอเชียเคยทำeveryone can fly มาแล้ว โดย airasia digital จะประกอบไปด้วย 5 บริษัท ได้แก่ แพลตฟอร์ม airasia.com ธุรกิจด้านโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซ teleport ธุรกิจด้านบริการทางการเงิน BIG REWARDS และ BigPay รวมถึงธุรกิจอาหาร Santan และ OURFARM

สำหรับ airasia.com จะมีโปรดักต์มากขึ้น ทั้งโปรดักต์ทางด้านท่องเที่ยว บริการจองเที่ยวบิน โรงแรม กิจกรรม ดีล สุขภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมไปถึงโปรดักต์ด้านอีคอมเมิร์ซอย่างช็อปปิ้ง อาหาร หรืออาหารสด และบริการทางการเงินอย่าง BigPay, BIG REWARDS, BIG Exchange ประกันภัยและอื่น ๆ ที่จะทำให้ airasia.com เป็นซูเปอร์แอปด้านท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ที่ผู้บริโภคต้องการที่สุด

ส่วน Teleport จะทำหน้าที่ผู้ให้บริการส่งเสริมการค้าข้ามเขตแดนผ่านการช่วยเหลือธุรกิจและผู้บริโภคให้สามารถขนส่งได้รวดเร็วและง่ายดายด้วยบริการที่ครบถ้วน ตั้งแต่คาร์โก บริการขนส่งด้วยเครื่องบิน และแพลตฟอร์มสำหรับใช้บริการ ด้าน BigPay ถูกวางเป้าหมายให้เป็นธนาคารดิจิทัลของอาเซียน ผ่านการบริการการจ่ายเงิน การโอนเงินและการกู้ยืมเงิน พร้อมวางแผนจะให้บริการประกันภัย ให้บริการผู้ประกอบการ SMEsไปจนถึงให้บริการด้านมาร์เก็ตเพลซ BIG REWARD จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการทางด้านรางวัลและพอยต์ระดับอาเซียนในฐานะผู้ให้บริการสกุลเงินดิจิทัลรายแรกของอาเซียนที่จะรวมโลกออนไลน์และออฟไลน์ของแบรนด์เข้าไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย Airasia Cradit Cards, BIG Points, BIG Exchange, BIG Deal และ BIG Gift Card ด้วยจำนวนสมาชิก BIG ที่มากกว่า 25 ล้านคน ยอดดาวน์โหลดกว่า 2.7 ล้านครั้ง 300 กว่าพันธมิตรทางธุรกิจ และมูลค่าพอยต์รวม 1.3 แสนล้านพอยต์

ในขณะเดียวกัน Santan ที่ทำหน้าที่ผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้กับแอร์เอเชียมาโดยตลอด ก็จะขยายบริการสู่การให้บริการอาหารบนเที่ยวบินและบนพื้นดิน เตรียมขยายครัวและแฟรนไชส์ออกไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายที่แบรนด์อาหารระดับโลกเช่นเดียวกับแมคโดนัลด์ หรือเคเอฟซี

“เราจะเป็นมากกว่าแค่สายการบิน เราจะส่งมอบคุณค่าในตลาดใหม่เหมือนกับตอนที่เราอยู่ในตลาดสายการบิน เพราะเราไม่ได้ทำงานแค่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทำงานกับตลาดอาเซียนในฐานะอาเซียนโปรดักต์ เราจึงจะสร้างสิ่งที่แตกต่างกับที่เคยมีมา”


นายโทนี่กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับธุรกิจสายการบินนั้น การเดินทางกำลังกลับมา โดยเฉพาะการเดินทางในระยะสั้น ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ ตอนนี้บริการการบินภายในประเทศเริ่มกลับมาเปิดให้บริการแล้ว และในหลายพื้นที่ก็สามารถทำได้ดี มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 50%