AWC เร่งขยับโมเดล กระจายพอร์ต-เพิ่มตลาดในประเทศ

AWC เร่งขยับโมเดล
แฟ้มภาพ

วิกฤตโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ขนาดยักษ์ใหญ่ในวงการยังต้องคลำทางรอดธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโมเดล รื้อโครงสร้าง รีโพซิชันนิ่งไดเวอร์ซิไฟรายได้ ฯลฯ

เช่นเดียวกับ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ผู้พัฒนาและลงทุนในโรงแรมรีเทลรายใหญ่ มีสายป่านอันแข็งแกร่งภายใต้ร่มเงาของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ยังต้องปรับขบวนทัพครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่ด้วยการรีโพซิชันนิ่งเพื่อเข้าหากลุ่มลูกค้าคนไทยเพิ่มมากขึ้น

เดินแผนเดิมเลื่อนเปิดบริการ

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC พูดถึงแนวทางการดำเนินงานของ AWC หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ว่า บริษัทจะยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าพัฒนาโครงการตามแผนเดิมอันประกอบด้วย โครงการโรงแรม 10 โครงการ และโครงการรีเทลอีก 2 โครงการ

จะปรับแผนแค่ระยะเวลาการเปิดให้บริการ ให้ความเหมาะสมกับสถานการณ์เท่านั้น เพื่อลดโอกาสการสูญเสียต้นทุนโดยไม่จำเป็น

โดยโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตามแผนปี 2563-2567 มีงบประมาณตั้งไว้ราว 50,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีโครงการที่มีกำหนดเลื่อนระยะเวลาเปิดทำการแล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการบันยันทรี กระบี่ เลื่อนจากไตรมาส 2 มาเปิดในไตรมาส 4 ของปีนี้ โครงการมีเลีย เชียงใหม่ ขยับจากช่วงต้นปี 2564 ไปเป็นปลายปี 2564 และขยับโครงการอินเตอร์คอนติเนนตัลแม่ปิง (เชียงใหม่) จากปลายปี 2564 ออกไปเป็นปี 2565

“ขณะนี้ AWC ยังคงเดินหน้าตามแผนเดิมที่ประกาศไว้ตอนเราประกาศขาย IPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมีเพียงระยะเวลาเปิดให้บริการ เนื่องจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้กระแสเงินสดไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ ดังนั้น ระยะเวลาการเปิดให้บริการใหม่จึงต้องถูกเลื่อนออกไปให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าจะสามารถพิกอัพกลับมาได้ภายในปีหน้า”

ปรับต้นทุน-เพิ่มมาร์จิ้น

โดย “วัลลภา” ให้ข้อมูลอีกว่า สำหรับอีก 5 ปีข้างหน้านั้น AWC จะเน้นให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงทางการลงทุนให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของที่ตั้งและกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19 โดยมุ่งเป้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงการที่มีอยู่แล้ว 33 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา 10 โครงการให้มากขึ้น

พร้อมทั้งพยายามปรับโครงสร้างต้นทุนในระยะยาว เน้นสร้างคุณค่าและสร้างสัดส่วนผลกำไรต่อรายได้ที่สูงขึ้น

ส่วนของการลงทุนเพิ่มเติมนอกแผนนั้นขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่มีโอกาสในการสร้างรายได้ทันที ซึ่งปัจจุบันมีหลายโครงการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโครงการโรงแรมแต่ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาด้านราคา

ทั้งนี้ ตามปกติรายได้ในไตรมาส 4 ของ AWC จะคิดเป็นรายได้กว่า 30-40% ของกลุ่มตลอดทั้งปี หากรายได้ในปีนี้ไม่พลิกผันก็มีโอกาสในการลงทุน แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็รอโอกาส “ระหว่างนี้ AWC ก็ยังรับวางคอนเซ็ปต์และพัฒนาแผนให้กับทีซีซี กรุ๊ปเหมือนที่ผ่านมา เมื่อไรที่โครงการพัฒนาแล้วเสร็จ มีระยะเวลาที่เหมาะสมก็สามารถรับช่วงโครงการต่อจากทีซีซี กรุ๊ปได้”

“พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” สู่ค้าส่ง

นอกจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมแล้ว”วัลลภา” ยังเล่าถึงแผนปรับห้างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ จากอดีตห้างไอทีสู่”AEC Trade Center Pantip Pratunam”ศูนย์กลางการค้าส่งครบวงจรใจกลางเมืองแห่งแรกของประเทศไทยและ CLMV ด้วยพื้นที่รวมกว่า 30,000 ตร.ม. รวมทั้งหมด 500 ยูนิต โดยใช้งบประมาณปรับปรุงพื้นที่ราว 300 ล้านบาท

คาดว่าจะเปิดให้บริการ 2 ชั้นก่อนในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และมองว่าโครงการดังกล่าวนี้จะช่วยไดเวอร์ซิไฟรายได้ของกลุ่ม และดันสัดส่วนรายได้เป็น 5% ของกลุ่มภายใน 5 ปี

“เราจะลงนามความร่วมมือกับสมาคมผู้ส่งสินค้าแห่งประเทศจีน สมาคมการลงทุนแห่งประเทศจีน และสมาพันธ์ธุรกิจภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและเขตการค้าเสรี รวมถึง Zhejiang ChinaCommodities City Group Co., Ltd.(CCC Group) รัฐวิสาหกิจผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู ประเทศจีน”

ทั้งนี้ เพื่อให้ห้างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เป็นศูนย์กลางการค้าส่งให้ผู้ค้าส่งได้นำสินค้ามาจัดแสดง ผสานโลกออนไลน์เข้ากับออฟไลน์ ทำให้การค้าขายเป็นเรื่องง่ายดายขึ้น

“วัลลภา” บอกอีกว่า นอกจากพื้นที่ trade center แล้ว พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ จะยังคงมีผู้เช่าเก่าด้านไอทีและโซนของเล่นอยู่บางส่วน รวมถึงจะเติมโซนอาหารเข้ามาเพื่อให้นักเดินทางและผู้ใช้บริการสะดวกสบายเข้าถึงแหล่งอาหารได้ง่าย

ปรับ “เอเชียทีคฯ” รับคนไทย

ไม่เพียงเท่านี้ AWC ยังได้ปรับโฉมขนานใหญ่ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมริมแม่น้ำเจ้าพระยาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เหมาะกับนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้น ผ่านการปรับปรุงพื้นที่และแนวทางการดำเนินงานในคอนเซ็ปต์ “ชิม ช้อป แชะ”

โดยเน้นเปิดให้บริการในเวลากลางวันมากขึ้น ดึงดูดร้านอาหารและคาเฟ่ยอดนิยมของคนไทย โดยกลับมาเปิดให้บริการภายในช่วงกลางเดือนตุลาคม ตั้งเป้าสะสมนักท่องเที่ยวอย่างน้อยวันละ 20,000 คน เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่สามารถสะสมนักท่องเที่ยวในวันธรรมดากว่า 30,000 คน และคาดว่าจะขยับสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยจาก 80 : 20 มาเป็น 60 : 40 ในอนาคต

“ช่วงแรกที่กลับมาเปิดให้บริการเราไม่เก็บค่าบริการกับผู้ประกอบการภายในพื้นที่ ก่อนจะเปลี่ยนมาเก็บค่าบริการเช่าพื้นที่ตามยอดขาย (GP) ในเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการในเอเชียทีคฯกลับมาเปิดให้บริการแล้วกว่า 70-80%”

ลุ้นเปิดประเทศรับต่างชาติ

ซีอีโอ AWC ยังพูดถึงประเด็นการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยว่า ทุกคนอยากให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพื่อเพิ่มดีมานด์ และพยุงสภาวะเศรษฐกิจแต่ก็จำเป็นต้องรอเวลาที่พร้อมและเหมาะสม ระหว่างนี้การผลักดันไทยเที่ยวไทยจึงสำคัญผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องปรับแนวคิดดึงคนไทยออกมาเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้และไม่ได้รับผลกระทบเรื่องกระแสเงินสดเมื่อระยะเวลาผ่านไป

“โควิด-19 ไม่ได้กระทบแค่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว และโควิด-19 น่าจะยังคงอยู่ไปอีกระยะใหญ่ แม้คาดว่าปีหน้าวัคซีนจะได้รับการพัฒนาดีขึ้น และการเดินทางจะผ่อนคลายขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ และไทยน่าจะเป็นประเทศลำดับแรก ๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องการจะเดินทางมาเยือน จึงเป็นเวลาที่จะจัดทัพเตรียมพร้อมและรีโพซิชั่นธุรกิจให้เหมาะสมสำหรับโลกหลังจากนี้”

ทั้งนี้ AWC มีโรงแรมเปิดให้บริการแล้ว18 แห่ง รวม 4,941 ห้22งแบ่งเป็นโรงแรมที่บริหารโดยเครือแมริออท73% รองลงมาเป็นเครือฮิลตัน ไอเอชจี ฯลฯ และมีโครงการโรงแรมที่อยู่ระหว่างพัฒนา 10 โครงการ รวม 3,565 ห้อง

เมื่อรวมกับสินทรัพย์อื่น ๆ อาทิ รีเทล ออฟฟิศ ปัจจุบัน AWC มีสินทรัพย์ทั้งหมดมูลค่า 124,204 ล้านบาท