ธุรกิจแอร์ไลน์แข่งซื้อฝูงบิน ชิงเส้นทางใหม่ยุโรป-ญี่ปุ่น-เกาหลี

ปลดล็อกธุรกิจการบิน ! สายการบินแห่ช็อปเครื่องเพิ่มฝูงบิน “บินไทย-ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” มุ่งเปิดเส้นทางสู่ยุโรป ด้าน “ไทยไลอ้อนแอร์-นกสกู๊ต” ชิงเค้กญี่ปุ่น-เกาหลี น้องใหม่ “นิวเจน” ลุยเต็มสูบ ทำสงครามราคา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดหนุนรายได้บินของไทยเฉียด 3 แสนล้าน กพท.ลุ้นมาตรฐานไทยกลับคืนสู่ category 1 ได้ภายในต้นปีหน้า

นับเป็นเวลา 2 ปี กับ 4 เดือน ที่ประเทศไทยถูกติดธงแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ไทยยังไม่มีการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนอย่างเพียงพอ ภายใต้มาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ของ ICAO ได้ปรับสัญลักษณ์ธงแดงออกจากหน้าประเทศไทย

“บินไทย” ปัดฝุ่นเส้นทางยุโรป

เรืออากาศเอก กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานบริหารกฎหมาย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากจากนี้การบินไทยจะพิจารณากลับมาเปิดจุดบินเข้าสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ทั้งที่เป็นเส้นทางเดิมที่การบินไทยเคยเปิดให้บริการแล้วหยุดไปและเส้นทางใหม่ ๆ โดยมีแผนนำเสนอให้บอร์ดพิจารณาในวันที่ 18 ตุลาคมนี้

ขณะที่แหล่งข่าวจากสายการบินไทยรายหนึ่งกล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากบอร์ดบริหารจะได้กลับมาทบทวนแผนเปิดเส้นทางใหม่อีกครั้ง โดยเสนอทางใหม่ที่เปิดให้บริการไปแล้ว อาทิ บินตรง กรุงเทพฯ-กรุงเตหะราน (อิหร่าน) 1 ตุลาคม 2559, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-แฟรงก์เฟิร์ต 16 พฤศจิกายน 2559 เปิดเส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ-มอสโก ไปเมื่อ 15 ธันวาคม 2559 เป็นต้น การบินไทยยังจะเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในบางเส้นทางให้มากขึ้น เช่น กรุงเทพฯ-โคเปนเฮเกน-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-สตอกโฮล์ม-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ลอนดอน, กรุงเทพฯ-ออสโล (นอร์เวย์) กรุงเทพฯ-บรัสเซลส์ เป็นต้น และล่าสุดมีแผนเปิดเส้นทางใหม่ บินตรงกรุงเทพฯ-เวียนนา (ออสเตรีย) ในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

สำหรับเส้นทางบินในยุโรป การบินไทยได้นำเครื่องบินใหม่ ๆ เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง นอกจาก A380 แล้ว ยังมีโบอิ้ง 777 และ A350 ซึ่งขณะนี้บินโรม มิลาน และแฟรงก์เฟิร์ต และกำลังจะขยายไปที่บรัสเซลส์ และลอนดอน

“แอร์เอเชีย เอ็กซ์” บินเข้ายุโรป

นายนัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า หลังจาก ICAO ปลดธงแดง คาดว่าการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะมีการประชุมเพื่อเลือกเปิดเส้นทางบินหรือเพิ่มเที่ยวบินใหม่ไปจุดบินไหนบ้าง รวมถึงหารือถึงสัดส่วนระหว่างผู้โดยสารขาเข้า (อินบาวนด์) และขาเข้า (เอาต์บาวนด์)และการขยายเที่ยวบิน การหา

เครื่องบินใหม่ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เร็วสุดภายใน 6 เดือนนับจากนี้ นอกจากนี้ปีหน้ายังมีแผนรับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-300 อีก 3-4 ลำ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 6 ลำ สำหรับ 4 เส้นทางบิน ได้แก่ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่โตเกียว (นาริตะ) 2 เที่ยวบินต่อวัน, กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โอซากา (คันไซ)

ล่าสุดเพิ่งเพิ่มเที่ยวบินเป็นวันละ 2 เที่ยว, กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โซล (อินชอน) 3 เที่ยวบินต่อวัน และกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เซี่ยงไฮ้ 1 เที่ยวบินต่อวันโดยทุกเส้นทางมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (โหลดแฟกเตอร์) เฉลี่ยที่ระดับ 85%

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เส้นทางแรกที่คาดว่าจะเปิดให้บริการ คือ กรุงเทพฯ-ซัปโปโร (ญี่ปุ่น) ซึ่งไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เคยเปิดตัวไปเมื่อปี 2558 แต่มาติดปัญหา ICAO เสียก่อน จากนั้นมีแผนจะเปิดให้บริการเส้นทางใหม่ บินตรงแบบประจำสู่ยุโรปในหลากหลายจุดบินในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า โดยมุ่งเจาะแถบยุโรปตะวันออกเป็นหลัก และนอกจากฮับการบินที่สนามบินนานาชาติดอนเมืองแล้ว ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ยังมีแผนขยายฐานการบินไปที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และสนามบินนานาชาติภูเก็ต อาทิ เส้นทางโปแลนด์-ภูเก็ต, รัสเซีย-อู่ตะเภา เป็นต้น

ไลอ้อนแอร์-นกสกู๊ตจ่อบินญี่ปุ่น

นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า เตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่ แอร์บัส เอ 330-300 ขนาด 392 ที่นั่ง 3 ลำ ในปลายปีนี้ ซึ่งจะนำมาทำการบินสู่ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หลัง ICAO ได้ประกาศปลดธงแดงแก่ประเทศไทยแล้ว และคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ราวกลางปี 2561 ส่วนเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นมองไว้ 2 เมือง คือ กรุงโตเกียว (นาริตะ) และฟุกุโอกะ

ทั้งนี้ มีแผนนำเครื่องบินใหม่ แอร์บัส เอ 330-300 ทั้ง 3 ลำ ไปใช้ในอีก 2 เส้นทางบิน ไทเป ไต้หวัน และมุมไบ อินเดีย ด้วยรวมทั้งจะเปิดเส้นทางบินใหม่ไปประเทศจีน อย่างน้อย 5 จุดหมายทั้งเมืองใหญ่และเมืองรองด้วย โดยในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ จะเริ่มทำการบินจากสนามบินอู่ตะเภาเป็นครั้งแรก ให้บริการแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ไปยังฉางซา 4 เที่ยวต่อสัปดาห์

“เมื่อเปิดเส้นทางบินใหม่ ไทยไลอ้อนแอร์ยังคงมองกลยุทธ์ราคา ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของทุกสายการบิน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกค่ายต้องเข้มงวด คือ มาตรฐานการบิน”

ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยไลอ้อนแอร์จะรับมอบเครื่องบินใหม่ โบอิ้ง 737 MAX อีก 5-7 ลำ จะทยอยรับมอบตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป เพื่อเสริมทัพฝูงบินที่จะมี 27 ลำในสิ้นปีนี้

สำหรับสายการบินนกสกู๊ตนั้น ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งกล่าวว่า หลังไทยถูกปลดธงแดง นกสกู๊ตมีความพร้อมเปิดเส้นทางบินไปสู่โตเกียว โอซากา ประเทศญี่ปุ่น และกรุงโซล ประเทศเกาหลีทันที ซึ่งที่ผ่านมาได้เร่งบริหารต้นทุน เพื่อทำราคาตั๋วแข่งกับสายการบินคู่แข่งอื่น ๆ และนกสกู๊ตมีแผนรับมอบเครื่องบินลำตัวกว้างลำใหม่ โบอิ้ง 777-200 รองรับผู้โดยสารได้ 415 ที่นั่งเพิ่มอีก 1 ลำ เตรียมนำไปเพิ่มเส้นทางบินสู่ 1 เมืองใหม่ในจีน และทำให้สิ้นปีนี้ นกสกู๊ตมีฝูงบินรวม 4 ลำ และเตรียมรับมอบเครื่องบินรุ่นเดียวกันอีก 2 ลำในปีหน้า เพื่อรอนำมาบินในเส้นทางญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

“นิวเจน” ปูพรมเส้นทางบินใหม่

นายเจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนิวเจน (New Gen Airways) เปิดเผยว่า จากนี้ไปสายการบินนิวเจนมีแผนขยายเส้นทางบินใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและเส้นทางบินระหว่างประเทศ คาดว่าภายในปี 2561 จะมีเส้นทางให้บริการทั้งหมดราว 50 เส้นทางบินโดยมีแผนจะเปิดเส้นทางบินไปยังประเทศเกาหลีใต้, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และอินเดีย ให้ได้ภายในปี 2561 จากที่ผ่านมาเส้นทางบินส่วนใหญ่ให้บริการเส้นทางจากกรุงเทพฯเข้าสู่เมืองรองของประเทศจีนเป็นหลัก

“ในเส้นทางหลัก ๆ อย่างเกาหลี, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และอินเดีย ตอนนี้เราพร้อมแล้ว รอเพียงแค่ใบอนุญาตการบินจากกรมการบินพลเรือนของแต่ละประเทศเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะให้ทันช่วงสงกรานต์ปีหน้า” นายเจริญพงษ์กล่าว

ดันรายได้บินไทยทะลุ 3 แสน ล.

จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 หลังจาก ICAO ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย จะทำให้ธุรกิจสายการบินเติบโตอย่างคึกคักขึ้น และผลดังกล่าวจะต่อเนื่องไปยังปี 2561 ให้ธุรกิจการบินของไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งยังคาดว่าธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 จะมีรายได้ประมาณ 278,900 ล้านบาท และน่าจะแตะ 294,500 ล้านบาทในปี 2561

รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย ไม่เพียงแต่จะส่งผลบวกต่อธุรกิจสายการบินเท่านั้น แต่ยังจะเป็นส่วนสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการบินโดยรวมของไทย ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างเมืองการบินที่จะใช้เป็นแกนหลักเพื่อดึงดูดการลงทุนและนวัตกรรมจากต่างชาติรวมทั้งยังเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้กับนโยบายของภาครัฐ ซึ่งวางแผนให้อุตสาหกรรมการบินเป็นฟันเฟืองหลักในการผลักดันโครงการ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ให้สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านโครงการเมืองการบิน หรืออู่ตะเภาอีกด้วย

หนุน “ไทยแลนด์ 4.0-อีอีซี”

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ต้องเร่งแก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับธงแดงให้แล้วเสร็จ เพื่อหนุนค่ามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของไทยให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก พร้อมพัฒนาบุคลากรด้วยการทยอยรับผู้ตรวจสอบ (inspector) เพิ่ม และฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คุณอรุณ มิชรา ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ ICAO ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีด้วยว่า ICAO มีแผนสนับสนุนให้ กพท. เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินในระดับภูมิภาค สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี นอกจากนี้ยังสนใจระดมผู้ตรวจสอบของไทยที่ผ่านการอบรมและประสบการณ์ตรวจสอบ เป็นส่วนหนึ่งในทีมผู้ตรวจสอบของ ICAO ร่วมกับผู้ตรวจสอบจากชาติอื่น

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวเสริมว่า สัปดาห์หน้า สำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency : EASA) ได้เชิญตนไปแบ่งปันประสบการณ์การปลดธงแดงของไทย ที่งานสัมมนาในประเทศเยอรมนี และในวันที่ 13-14 พฤศจิกายนนี้ ได้เตรียมไปรายงานผล ICAO ปลดธงแดงให้ทาง EASA รับทราบด้วย

นอกจากนี้ยังได้เตรียมทำหนังสือแจ้งผลดังกล่าวอย่างเป็นทางการไปถึงสำนักงานการบินพลเรือนของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ด้วย เพราะทั้ง 2 ประเทศ ถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักของอุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยว และทั้งสองประเทศดังกล่าวก็อยากได้สายการบินสัญชาติไทยไปบินเพิ่มเช่นกัน

ดันมาตรฐานกลับสู่ category 1

ด้านตลาดสหรัฐอเมริกานั้น กพท.ตั้งเป้าให้สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ยกระดับมาตรฐานด้านการบินพลเรือนของไทย กลับขึ้นมาอยู่ใน category 1 หลังจากที่ FAA ลดระดับให้ไทยอยู่ category 2 ซึ่งทำให้สายการบินสัญชาติไทยไม่สามารถทำการบินเข้าสหรัฐอเมริกาได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา

โดย กทพ.จะเชิญให้ทาง FAA เข้ามา preaudit ภายในสิ้นปีนี้ และคาดหวังว่าจะกลับขึ้นมาอยู่ใน category 1 ภายในเดือนมีนาคม 2560 เพื่อหนุนให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สามารถทำการบินสู่สหรัฐได้ตามแผนงาน ทันตารางบินฤดูหนาวปีหน้า หรือตุลาคม 2561

AOT คาดเห็นผลชัดใน Q4 นี้

นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยว่า จากปัจจัยบวกองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศปลดล็อกธงแดงไทย จะมีผลให้สายการบินในประเทศไทยสามารถทำการบินในจุดบินต่างประเทศได้ตามปกติ เบื้องต้น ทอท.ประเมินว่าปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ท่าอากาศยานภายใต้การดูแลของ ทอท.รองรับปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว และคาดการณ์ในส่วนของรายได้จะเติบโตสอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารไตรมาส 1/61 (ต.ค.- ธ.ค. 2560) ที่จะเพิ่มขึ้นราว 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณผู้โดยสาร 30.69 ล้านคน