“ไทยเที่ยวไทย” โค้งท้ายนิ่งสนิท สทน.ชงรัฐหนุนแพ็กเกจทัวร์40%กระตุ้น

เราเที่ยวด้วยกัน
เร่งเครื่อง - โครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ขยับช้า เอกชนท่องเที่ยวแนะรัฐบาลเร่งวิเคราะห์ หาข้อสรุป พร้อมแนวทางปรับปรุงเพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมาย และทำให้ซัพพลายเชนท่องเที่ยวประคับประคองตัวเองอยู่รอดได้

ท่องเที่ยวโค้งท้ายปลายปี”63 นิ่งสนิท วงในหวั่นสถานการณ์ลากยาวยันต้นปีหน้า แนะรัฐเร่งเขย่าโครงการ”เราเที่ยวด้วยกัน” วิเคราะห์-ปรับปรุง-อัดมาตรการใหม่เสริมด่วน พยุงซัพพลายเชนท่องเที่ยว “ธนพลชีวรัตนพร” นายก สทน. ชงรัฐหนุนงบฯ 5 พันล้านซับซิไดซ์ราคา”แพ็กเกจทัวร์” 40% แก้โจทย์เที่ยววันธรรมดา-กระตุ้นกลุ่มสูงอายุออกเที่ยว ดันตัวเลขท่องเที่ยวในประเทศปีหน้าพุ่งแตะ 200 ล้านคนครั้งด้าน ททท.ขอหารือ ก.คลังอีกรอบ คาดได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ชะลอตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวภายในประเทศหรือไทยเที่ยวไทย ซึ่งเป็นตลาดที่คาดว่าจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทยสำหรับปีนี้ เนื่องจากภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศภายใต้งบประมาณ22,400 ล้านบาท (จาก พ.ร.ก.เงินกู้4 แสนล้านบาท) ออกมาช่วยขับเคลื่อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่ขยับ

แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากมาตรการดังกล่าวออกไปเกือบ 4 เดือน(กลางเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563)พบว่า ผลตอบรับของมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของรัฐนั้นขับเคลื่อนได้ช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้โดยเฉพาะโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”ที่สนับสนุนค่าโรงแรมที่พัก 40% (ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน) จำนวน 5 ล้านคืนและสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40%(ไม่เกิน 2,000 บาทต่อใบ) จำนวน2 ล้านใบ ที่คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่า ขณะนี้มีผู้ใช้สิทธิ์จองโรงแรม ที่พัก ในโครงการ”เราเที่ยวด้วยกัน” แล้วประมาณ1.6-1.7 ล้านคืน มีสัดส่วนจากรัฐสนับสนุนมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท

ส่วนการใช้จ่าย e-Voucher นั้นมีมูลค่าราว 1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนจากรัฐสนับสนุนประมาณ 400 ล้านบาท ขณะที่ตั๋วเครื่องบินมีผู้ใช้สิทธิ์แล้วประมาณ 52,000-53,000 สิทธิ์ มีสัดส่วนรัฐสนับสนุนราว 50 ล้านบาท รวมทั้งหมดมียอดการใช้จ่ายภายใต้โครงการนี้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทเท่านั้น

แนะรัฐปรับ-อัดมาตรการใหม่

“แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะประกาศขยายเวลาของโครงการเราเที่ยวด้วยกันไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยออกเดินทางโดยเริ่มเห็นชัดเจนมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะลากยาวไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งปัจจัยหนึ่งเป็นเรื่องของความไม่สะดวกในการเข้าร่วมโครงการ ปัญหาเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่ลดลง” แหล่งข่าวกล่าว

และว่า จากข้อมูลนี้รัฐบาลควรเร่งวิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่ทำให้โครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมายให้เร็วที่สุด เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงและหาแนวทางใหม่ ๆ เข้ามาเติม เพื่อให้มาตรการที่ออกมาบรรลุเป้าหมายให้เร็วที่สุด ที่สำคัญ เพื่อช่วยให้ซัพพลายเชนด้านการท่องเที่ยวทั้งหมดยังสามารถประคับประคองตัวเองอยู่ต่อได้

“ความพยายามในการเปิดประเทศแบบจำกัดในขณะนี้ไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญต่อรายได้ของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เพราะมีจำนวนที่น้อยมาก ทางออกที่ดีคือ รัฐควรเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศต่อไปด้วยการปลดล็อกให้คนไทยเข้าร่วมโครงการได้ง่ายและสะดวกขึ้น หรือควรหามาตรการใหม่ ๆ มาเสริม เพื่อช่วยให้การตัดสินใจเดินทางของคนไทยง่ายขึ้น ที่สำคัญกรอบงบประมาณ 22,400 ล้านบาทนั้นยังเหลืออยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

ชงหนุน “แพ็กเกจทัวร์” 40%

นายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.)กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สทน.มีความพยายามที่จะผลักดันให้กลุ่มที่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้น) เกิดการเดินทางท่องเที่ยวธรรมดา ภายใต้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ด้วยการเสนอให้ภาครัฐสนับสนุน หรือซับซิไดซ์ราคา “แพ็กเกจทัวร์” ในอัตรา 40% เช่นเดียวกับที่รัฐสนับสนุนค่าโรงแรม ที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบินในอัตรา 40% ให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันไปก่อนหน้านี้

โดยในหลักการได้เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนผู้สูงอายุที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์เที่ยวภายในประเทศในอัตรา 40% สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อแพ็กเกจ จำนวน 1 ล้านสิทธิ์ งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุได้รับความสะดวกและเข้าถึงมาตรการของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการตอบโจทย์เรื่องการเพิ่มทราฟฟิกให้กับการท่องเที่ยวในวันธรรมดาอีกทางหนึ่งด้วย

ลุ้น รมต.ท่องเที่ยวชง ครม.เคาะ

“ที่ผ่านมาทาง สทน.ได้นำเสนอแนวทางดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯไปแล้ว และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอและหารือกับผู้ว่าการ ททท. และรองผู้ว่าการ ททท.ที่เกี่ยวข้องแล้วเช่นกัน โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ตอนนี้รอแค่ทาง ททท.นำเสนอไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป” นายธนพลกล่าว

นายธนพลกล่าวด้วยว่า หากรัฐเห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าวนี้ สทน.เชื่อมั่นว่าจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยประมาณ 2.2 ครั้งต่อปี เป็นเฉลี่ย 3 ครั้งต่อปี หรือเพิ่มเป็น 200 ล้านคนครั้งได้ในปี 2564 นี้เพิ่มจากปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 80 ล้านคนครั้ง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีอัตราการเดินทางที่ 166 ล้านคนครั้ง

ททท.ขอหารือ กระทรวงการคลัง

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยที่ผ่านมาทาง ททท.ได้คุยในหลักการร่วมกับทาง สทน.ไปแล้ว โดยมีเป้าหมายคือ การโปรโมตให้คนไทยเที่ยวในวันธรรมดา และกระตุ้นการเดินทางในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อให้ออกเดินทางท่องเที่ยวซึ่งทาง สทน.เองได้นำเสนอว่าการกระตุ้นกลุ่มผู้สูงอายุนั้น รูปแบบเดิมของโครงการอาจจะไม่เหมาะกับพฤติกรรม จึงได้นำเสนอโครงการให้เที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยวด้วยการให้รัฐสนับสนุนแพ็กเกจทัวร์

“ประเด็นนี้ทาง ททท.ต้องนำไปหารือกับทางกระทรวงการคลัง เจ้าของโครงการและทางผู้พัฒนาระบบคือ KTB อีกครั้งยังไม่ได้จบตั้งแต่วันคุยกัน ถามว่า ททท.เห็นชอบในหลักการหรือยัง ต้องบอกว่าตอนนี้ยอดคนเข้าร่วมโครงการอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านคืน ยังเหลืออีก3.4 ล้านคืน หากทุกฝ่ายมองว่าแนวทางของ สทน.ตอบโจทย์ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยก็ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้สรุปผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจจากการดำเนินโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวไว้ว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ภายใต้งบประมาณ 22,400 ล้านบาทนี้จะก่อให้เกิดรายรับทางเศรษฐกิจรวมที่ประมาณ 139,739.58 ล้านบาท แบ่งเป็นจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จำนวน 1.23 แสนล้านบาท และโครงการ”กำลังใจ” จำนวน 1.58 หมื่นล้านบาทและก่อให้เกิดการจ้างงานภายใต้โครงการรวม 262,606 คน