‘อุดรธานี’ ปรับโมเดล ดูดนักท่องเที่ยว ‘จีน-เวียดนาม’

อุดรธานี” ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนสูงที่สุดในภาคอีสาน และได้รับการกล่าวขานถึงดินแดนแห่งศรัทธา “อุดรธานี” มีแนวคิดอย่างไรในการผลักดันการท่องเที่ยว และมีการเติบโตต่อเนื่องทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ

“นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ขณะที่นั่งตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ก่อนจะมีคำสั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุดรธานีถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีคนมาเยี่ยมเยือนมากที่สุดในภาคอีสาน ก่อนจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทุกจังหวัด ทำให้เงียบเหงาลงไปอย่างเห็นได้ชัด จึงระดมสมองจากทุกภาคส่วนเพื่อหาทางให้อุดรธานีกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้เร็วที่สุด

โดยหลังคลายล็อกดาวน์ จังหวัดได้มุ่งเป้าไปสู่พื้นที่ที่มีคนเดินทางสูงสุดอย่างคำชะโนด ตัดสินใจเริ่มวิถีปกติใหม่ในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นใจในการท่องเที่ยว ปัจจุบันรองรับนักท่องเที่ยวได้กว่า 10,000 คนต่อวัน เรียกว่านักท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาแล้วราว 60-70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติที่มีนักท่องเที่ยวราว 5-6 ล้านคนต่อปี โดยแนวทางขณะนี้ คือ มุ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวและวันพำนักจากไม่เกิน 1 วัน เป็นอย่างน้อย 2 คืน

พร้อมย้ำว่าสาเหตุที่ทำให้อุดรธานีไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด เนื่องจากไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมากนักจนถึงตอนนี้ยังมีจำนวนราว 20% จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด

“ปกติอุดรธานีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละกว่า 2 ล้านคน หรือกว่า 20% ของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากฝั่งลาวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวผ่านด่านชายแดนทางบกก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับมาได้”

“นิรัตน์” บอกว่า อุดรธานีมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะยาว จึงอาศัยช่วงเวลานี้ในการประสานงานกับภาคเอกชน รักษาเครือข่ายการท่องเที่ยวให้แข็งแกร่ง และเริ่มเร่งจำนวนนักท่องเที่ยวตั้งแต่ยังไม่สามารถเปิดการเดินทางได้ในขณะนี้

นอกจากนั้น ยังเตรียมลุยตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางจากคุนหมิงทางรถไฟ โดยตั้งเป้ามีจำนวนนักท่องเที่ยวในปีแรกให้ได้ไม่น้อยกว่า 5 แสนคนก่อนจะสะสมเป้าสู่เป้าหมายปีละ 3 ล้านคน

พร้อมทั้งวางแผนเพิ่มความสะดวกในการเดินทางข้ามแดนของนักท่องเที่ยวลาว, เวียดนาม โดยคาดหวังจำนวนนักท่องเที่ยวกว่าล้านคนต่อปี เพื่อให้เกิดเงินสะพัดหมุนเวียนหลักแสนล้านบาทภายในจังหวัด

โดยนอกจากการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจแล้ว อุดรธานีก็ยังเดินหน้าผลักดันจังหวัดเข้าสู่ “ไมซ์ซิตี้” เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มในจังหวัดได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง และสามารถเข้าไปเป็นตัวเลือกของนักเดินทางไมซ์โดยไม่ต้องลงไปทำไดเร็กต์เซลจำนวนมาก

“ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นมติของคณะกรรมการประจำจังหวัด ไม่ใช่มติหรือความต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการระดมพลังจากภาครัฐ เอกชน และพี่น้องประชาชน ดังนั้น แม้ว่าผมจะยังประจำอยู่ที่อุดรธานีหรือไม่ แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอุดรธานีจะสามารถสานต่อไปได้อย่างแน่นอน”

“นิรัตน์” ยังย้ำในตอนท้ายด้วยว่า อุดรธานีที่เป็นศูนย์กลางของภาคอีสานตอนบน และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีจุดเด่นที่แข็งแกร่งที่สุดคือ การร่วมมือร่วมใจกันของคนอุดรในเวลาที่เศรษฐกิจจะหยุดชะงักไม่ได้ ชาวอุดรธานีก็ร่วมใจกันเดินหน้าใช้ชีวิตตามปกติ ไม่หยุดลงทุนไม่หยุดจับจ่าย สร้างงานและสร้างความคึกคักให้กับเมือง รวมถึงสร้างอุดรธานีเป็นเมืองสะอาด สิ่งแวดล้อมดี เหมาะสมกับการท่องเที่ยว