อพท.ดัน “น่านเน้อเจ้า” ก้าวสู่เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกปี’64

น่านเน้อเจ้า

อพท.ชูความสำเร็จแบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ผ้าทอพื้นเมือง 4 กลุ่มแม่บ้านเมืองน่าน สะท้อนอัตลักษณ์พื้นที่ชัดเจน ดันคว้ารางวัล PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัลพลังผู้หญิง Women Empowerment Initiative จากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียแปซิฟิก เดินหน้ายกระดับเมืองน่านสู่เมืองสร้างสรรค์โลกจากยูเนสโก

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.ได้จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองน่าน ภายใต้แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” เพื่อต่อยอดภูมิปัญญา สะท้อนเอกลักษณ์ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

รวมทั้งสร้างพลังและการจดจำในผลิตภัณฑ์สินค้าของฝากของที่ระลึกให้กับสินค้าพื้นเมืองของพื้นที่พิเศษ 6 จังหวัดน่าน

โดยแบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอเมืองน่านที่มาจาก 4 กลุ่ม ในพื้นที่พิเศษของ อพท. คือ กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ ตำบลในเวียง, กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก, กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา ตำบลบ่อสวก และกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ตำบลดู่ใต้

“ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือพื้นเมืองที่สะท้อนอัตลักษณ์ และเป็นศิลปะชิ้นเอกที่ศิลปินเมืองน่านได้บันทึกมุมมองประวัติศาสตร์เมืองที่มีอายุกว่า 700 ปี ผ่านลวดลายบนผืนผ้า จุดเด่นทั้งเรื่องการรวมกลุ่มของสตรีแม่บ้าน ที่สรรค์สร้างจนเกิดเป็นอาชีพ สร้างรายได้และเพื่อส่งต่อคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมให้คนรักผ้าได้ศึกษาเรียนรู้ จึงเป็นที่มาของแนวความคิดการส่งแบรนด์น่านเน้อเจ้า ที่ขับเคลื่อนโดยพลังของผู้หญิง เข้าชิงรางวัลจากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียแปซิฟิก จนได้รับรางวัลจาก PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment Initiative เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา” ดร.ชูวิทย์กล่าว

ผ้าทอ

ด้านนายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 กล่าวเสริมว่า การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของกลุ่มสตรีแม่บ้านทั้ง 4 กลุ่ม ที่ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเส้นทางกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองน่าน

ถือเป็นการสร้างกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่เปิดให้กลุ่มนักท่องเที่ยว และกลุ่มศึกษาดูงานใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และบ่มเพาะทางวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาแบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ที่เป็นการต่อยอดภูมิปัญญา รักษาเอกลักษณ์เพื่อสร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายสุขสันต์กล่าวด้วยว่า จากอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและความเข้มแข็งของชุมชนดังกล่าวนี้ ในปีงบประมาณนี้ อพท.ยังได้เตรียมยกระดับเมืองเก่าน่านเข้าสู่สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก หรือ The UNESCO Creative Cities Network (UCCN) ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2564

เพื่อเป็นเครื่องการันตีถึงความร่วมมือชาวน่านที่พร้อมจะรักษาทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่โดยการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เกิดผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์แหล่งท่องเที่ยวในทุกแง่มุม

โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยอาณาจักรน่านเจ้า ที่มีอายุกว่า 400 ปี ที่สามารถย้อนภาพในอดีตที่ยังคงอยู่ให้เห็นจนถึงปัจจุบัน ทั้งพระธาตุแช่แห้ง วัดภูมินทร์ วัดพระธาตุช้างค้ำ อาคารบ้านเรือนในเขตเมืองเก่า ที่เปิดให้บริการเป็นร้านค้าร่วมสมัยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม


“หลังจากเราได้รับรางวัล PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment Initiative แล้ว ต่อไปเราจะเร่งต่อยอดให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของความร่วมมือจากกลุ่มทอผ้าพื้นที่อื่น ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวภายใต้แบรนด์ ‘น่านเน้อเจ้า’ ให้มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งตอบโจทย์ในเรื่องรายได้ชุมชนที่ต้องเพิ่มขึ้น และมีดัชนีความอยู่ดีมีสุขที่เพิ่มขึ้นด้วย” นายสุขสันต์กล่าว