จ่อฟัน “โรงแรม-ร้านค้า” ทุจริต “เราเที่ยวด้วยกัน” โทษสูงสุดทั้งคดีแพ่ง-อาญา

ททท. เร่งตรวจสอบ 312 โรงแรม 202 ร้านค้าเข้าข่ายทุจริตโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ยันหากพบผิดจริงตัดสิทธิเข้าร่วมทุกมาตรการของรัฐทันที พร้อมเรียกเงินคืน ดำเนินคดีทั้งแพ่ง-อาญา ลงโทษขั้นสูงสุด เตรียมประกาศรายชื่อผู้ร่วมขบวนการผ่านสื่อทุกช่องทาง ล่าสุดขอเลื่อนจองสิทธิ์ใหม่ 1 ล้านสิทธิ์ไปไม่มีกำหนด หาทางปิดช่องโหว่ ยันไม่กระทบภาพรวมท่องเที่ยวปลายปี

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข่าวการทุจริตโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” พบว่า มีผู้ประกอบการที่เข้าข่ายส่อทุจริตรวมจำนวน กว่า 500 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรม 312 แห่ง จากจำนวนโรงแรมเข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 8,000 แห่ง และร้านค้า 200 ร้านค้าจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 60,000 ร้านค้า

โดยมีรูปแบบการดำเนินงานหลายกรณี ได้แก่ 1.จองห้องพักเข้าพักในโรงแรมราคาถูก แต่ไม่ได้เข้าพักจริง เพื่อขอรับคูปองอาหารมูลค่า 900 บาท สำหรับวันธรรมดา และมูลค่า 600 บาท ในวันสุดสัปดาห์ 2.โรงแรมปรับขึ้นราคาห้องพักและรู้เห็นเป็นใจกับผู้เข้าพัก รวมทั้งมีการซื้อขายสิทธิ์โดยไม่มีการเดินทางจริง (ส่วนใหญ่เป็นกรณีจองตรงกับทางโรงแรม) 3.โรงแรมยังไม่ได้กลับมาเปิดให้บริการ แต่มีการขายห้องพัก

4.ใช้ส่วนต่างของคูปองเต็มมูลค่าเงินเพื่อรับส่วนต่างเต็มจำนวน 5.เข้าพักจริงเป็นกรุ๊ปเหมา ตั้งราคาสูงเพื่อรับเงินทอน (ส่วนใหญ่จองตรงกับทางโรงแรม) และ 6.อัตราการจองห้องพักเกินจำนวนห้องพักที่มีอยู่เพื่ออัพเกรดให้ลูกค้าไปพักในโรงแรมอื่นเพื่อกินส่วนต่าง

“ททท.ได้รับรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการตรวจสอบมาตลอด แต่ที่เริ่มเห็นชัดเจนในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่มีการปลดล็อกเรื่องภูมิลำเนาให้ผู้ใช้สิทธิ์สามารถใช้สิทธิ์ในจังหวัดภูมิลำเนาของตัวเองได้ กล่าวคือจากที่มีอัตราการจองประมาณ 14,000 ห้องต่อวัน หลังปลดล็อกเรื่องภูมิลำเนามีอัตราการจองพุ่งเป็นประมาณ 54,000 ห้องต่อวัน” นายยุทธศักดิ์กล่าว

นายยุทธศักดิ์กล่าวด้วยว่า ททท.จะดำเนินการตรวจสอบประเด็นต้องสงสัยโดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1.กรณีนักท่องเที่ยวจองแล้ว เข้าพักแล้ว และจ่ายเงินแล้ว โดยจะทำการตรวจสอบย้อนหลัง 2.กรณีนักท่องเที่ยวจองแล้ว จ่ายเงินแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าพัก จะระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน และ 3.กรณีจองแล้ว ยังไม่ได้จ่ายเงิน และยังไม่ได้เข้าพัก ซึ่งก็ต้องตรวจสอบเช่นกัน

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการทุจริตจริง ททท.จะขึ้นแบล็กลิสต์และตัดสิทธิ์ไม่ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าร่วมมาตรการรัฐทั้งหมดทุกโครงการในอนาคต และเรียกเงินคืนให้รัฐ พร้อมทั้งดำเนินคดีด้านกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา และลงโทษขั้นสูงสุด เนื่องจากถือเป็นการทุจริตเงินรัฐ นอกจากนั้นจะทำการประกาศรายชื่อผู้ประกอบการที่ทุจริตทั้งหมดผ่านหน้าสื่อในทุกช่องทางอีกด้วย

นายยุทธศักดิ์กล่าวด้วยว่า จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ ททท.ต้องเสนอให้เลื่อนการใช้สิทธิ์ที่ได้เพิ่มมาอีก 1 ล้านสิทธิ์ ซึ่งเดิมจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ออกไปก่อน ทั้งนี้ เพื่อหามาตรการมาปิดช่องโหว่ของโครงการใหม่อีกครั้ง รวมถึงหาแนวทางที่ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงได้ประโยชน์จากโครงการตามวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

“ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงแค่ปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีการจองการเดินทางล่วงหน้ากันไปเรียบร้อยแล้ว” นายยุทธศักดิ์กล่าว