“แอร์ไลน์-รถนำเที่ยว” จอดนิ่ง (รอ) “ซอฟต์โลน” พยุงธุรกิจ

เครื่องบิน

ในฟากธุรกิจขนส่งนักเดินทางท่องเที่ยวถือเป็นอีกเซ็กเตอร์หนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน ทั้งในส่วนของสายการบิน (airline) และรถบัสโดยสาร (รถนำเที่ยว) ที่แม้ว่าในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาจะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่ยังถือว่าดีมานด์ยังต่ำกว่าภาวะปกติอยู่อีกมาก

โดยจากข้อมูลของกระทรวงคมนาคมเผยว่า ปริมาณเที่ยวบินของสุวรรณภูมิและดอนเมืองนั้นยังคงลดลงอย่างชัดเจน กล่าวคือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิปริมาณเที่ยวบินลดลงจากเฉลี่ย 1,200 เที่ยวบิน/วัน เหลือเฉลี่ย 480 เที่ยวบิน/วัน ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง ลดลงจากปริมาณเที่ยวบินปกติเฉลี่ย 800 เที่ยวบิน/วัน เหลือเฉลี่ย 450 เที่ยวบิน/วัน

สอดรับกับข้อมูลจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่ระบุว่า ตัวเลขการใช้บริการของท่าอากาศยานหลักของไทยในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนเที่ยวบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลดลง 60.2% ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองลดลง 51.9% ขณะที่จำนวนผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลดลง 72.7% ท่าอากาศยานดอนเมืองลดลง 62.0%

แน่นอนว่าผู้ประกอบการสายการบินทุกรายได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการสายการบินในไทย 7 ราย ประกอบด้วย ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยสมายล์แอร์เวย์, ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยเวียตเจ็ท, นกแอร์และบางกอกแอร์เวย์ส ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการสายการบินวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท แต่รอแล้วรอเล่าถึง ณ วันนี้ ซอฟต์โลนดังกล่าวก็ยังไม่ออกมา

ล่าสุดกลุ่มผู้ประกอบการทั้ง 7 รายได้ปรับลดลงเงินกู้ซอฟต์โลนจาก 2.4 หมื่นล้านบาทลงมาเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาทไปยังกระทรวงการคลังไปอีกครั้งเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยขอกู้เงินสำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงานของทั้ง 7 สายการบิน เพื่อพยุงการจ้างงาน เพราะเวลานี้เครื่องบินของสายการบินต่าง ๆ ยังคงจอดนิ่งอยู่ในลานจอดจำนวนมาก

เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการรถขนส่ง (รถนำเที่ยว) ที่ให้ข้อมูลว่า ภาวะที่เกิดขึ้นในปีนี้ถือว่าหนักที่สุด ปริมาณการใช้รถลดลงในทุก ๆ ตลาด โดยเฉพาะในส่วนของตลาดอินบาวนด์ (ต่างชาติเที่ยวไทย) ที่หยุดไปทั้งระบบ ขณะที่ตลาดไทยเที่ยวไทยลดลง 50-60%

พร้อมทั้งประเมินว่า หากภาครัฐไม่อัดซอฟต์โลนเข้ามาช่วย ผู้ประกอบการกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดนอกจากจะเป็นเอ็นพีแอลแล้วยังมีกลุ่มที่ล้มหายตายจากไปอีกจำนวนมากด้วย

พร้อมย้ำว่าวิกฤตครั้งนี้ส่งผลให้ธุรกิจในภาคขนส่ง (รถนำเที่ยว) ทั้งระบบเสียหาย ขาดรายได้มาตลอด 8-9 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และกระทบภาคแรงงานทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน ที่ต้องสูญเสียรายได้

โดยที่ผ่านมาทางสมาคมก็ได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านกรมการขนส่งฯ อาทิ ขอ soft loan โดยใช้ทะเบียนรถเป็นหลักค้ำประกันแทนการยื่นหลักทรัพย์, ให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องออกมาตรการให้บริษัทไฟแนนซ์ลีสซิ่ง รถยนต์ทุก ๆ สังกัดช่วยเหลือเยียวยาและผ่อนปรนการชำระค่างวดรถยนต์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ รวมถึงยกเว้นค่าต่อภาษี ค่าประกันภัย และ GPS ประจำปี สำหรับรถยนต์ที่จอดไม่ได้ใช้งานในช่วงวิกฤตนี้ เป็นต้น


เรียกว่า “ซอฟต์โลน” คือ ความหวังเดียวของกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มแอร์ไลน์และรถขนส่งในเวลานี้…