ปั้นมหานครการบิน “อู่ตะเภา” “แอร์ไลน์” แห่เปิดเส้นทางบิน

การพัฒนาสนามบินนานาชาติ “อู่ตะเภา” ถือเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ของนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ “EEC” ของรัฐบาล ซึ่งวางแผนให้ “อุตสาหกรรมการบิน” เป็นฟันเฟืองหลัก ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสูงเข้ามาในประเทศ

โดยภายใน 5 ปีนับจากนี้ ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองแห่งการบิน และเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 ของประเทศในปี 2565 (เชื่อมโยงระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา) โดยวางเป้าหมายมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 15 ล้านคน

ตั้งเป้าเป็น “มหานครการบิน”

ส่วนในปี 2570 รัฐบาลมีเป้าหมายผลักดันอู่ตะเภาให้เป็น “มหานครการบิน” สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 30 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนในปี 2575

สำหรับ 9 โครงการของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาที่เกี่ยวข้องกับ EEC นั้น คือ 1.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair, and Overhaul : MRO) 2.ฟรีเทรดโซน 3.ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) 4.ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน 5.โครงการก่อสร้างทางวิ่งเครื่องบิน (รันเวย์) ที่ 2

6.โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินอล) หลังที่ 3 7.โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก 8.ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมทางการทหาร และ 9.ศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคอลฮับ)

จ่อจ้าง บ.ที่ปรึกษาทำแผนแม่บท

“พลเรือตรีลือชัย ศรีเอี่ยมกูล” ผู้อำนวยการ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) ของสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะเซ็นสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาได้ในเดือนธันวาคม 2560 นี้

หลังจากนั้นอีก 2 เดือน ได้เตรียมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 เพื่อนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ส่วนรันเวย์ที่ 1 จะนำไปใช้ทางทหารเมื่อสร้างรันเวย์ที่ 2 เสร็จ นอกจากนี้ ยังมีแผนว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการสำรวจความเป็นไปได้ของความร่วมมือภายใต้รูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ด้วย

โดยกองทัพเรือ (ทร.) ได้จับมือกับพันธมิตรในโครงการต่าง ๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ซึ่งจับมือกับการบินไทย และแอร์บัส โครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน จับมือกับสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และโบอิ้ง ส่วนโครงการคาร์โก้กับฟรีเทรดโซน ในเบื้องต้นได้จับมือกับการบินไทยไปแล้ว

พ.ย.เปิดอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2

“พลเรือตรีลือชัย” เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้ 5 ล้านคนต่อปีนั้น เตรียมเปิดให้บริการบางส่วน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) พอดี โดยปรับเพื่อรองรับผู้โดยสารขาออก ส่วนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 จะปรับให้รองรับผู้โดยสารขาเข้า

ส่วนการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เต็มรูปแบบนั้นคาดว่าจะเปิดได้ราวมีนาคม-เมษายน 2561 เพราะต้องรอสรรหาผู้ประกอบการร้านค้าสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) เพื่อประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีที่สนใจ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างติดต่อประสานกับร้านค้าปลีกรายอื่น ๆ รวมถึงการติดตั้งระบบสื่อสารกับตกแต่งภายในให้แล้วเสร็จ และรอรับมอบสะพานเทียบเครื่องบิน

แอร์ไลน์ไทย-เทศแห่เปิดบิน

โดยหลังจากสนามบินอู่ตะเภาเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ พบว่ามีสายการบินเข้ามาให้บริการมากขึ้น และมีจำนวนผู้โดยสารเติบโตอย่างเห็นได้ชัด จากปีงบประมาณ 2559 (1 ตุลาคม 2558-30 กันยายน 2559) มีเกือบ 7 แสนคน เพิ่มเป็นกว่า 1 ล้านคนต่อปีในปีงบฯ 2560 และคาดว่าในปีงบฯ 2561 จะมีแนวโน้มเติบโตเป็น 1.5-2 ล้านคนต่อปี

“พลเรือตรีลือชัย” ยังบอกด้วยว่า ทันทีที่สนามบินอู่ตะเภามีผู้โดยสารถึง 3 ล้านคนต่อปี ก็พร้อมดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เลยทันที เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 2-3 ปี โดยในอนาคตมีแนวโน้มให้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศ ขณะที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ปรับเป็นรองรับเส้นทางบินภายในประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงไฮซีซั่นนี้ สนามบินอู่ตะเภาจะมีเที่ยวบินราว 50 เที่ยวบินต่อวัน จากปัจจุบันมี 40 เที่ยวบินต่อวัน โดยมีสายการบินของไทยที่ให้บริการ ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์ และนกแอร์

ส่วนสายการบินจากต่างประเทศ ได้แก่ รัสเซีย 5 สายการบิน ได้แก่ Azur Air, Royal Flight, North Wing, Scat Air และ S7 Airlines ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำแบบประจำ ด้านสายการบินใหม่ที่เตรียมให้บริการในเร็ว ๆ นี้ ได้แก่ “เสิ่นเจิ้น แอร์ไลน์ส” เตรียมบินแบบเช่าเหมาลำช่วงไฮซีซั่นนี้ อาทิ เส้นทางอู่ตะเภา-กว่างโจว และอู่ตะเภา-ยู่เฉิง นอกจากนี้ “กาตาร์ แอร์เวย์ส”

ยังมีแผนเปิดเส้นทางอู่ตะเภา-โดฮา ในเดือนมกราคม 2561 นี้และเพื่อสร้างความมั่นใจให้สายการบินมากยิ่งขึ้น รัฐบาลยังมีแผนเชื่อมระบบโลจิสติกส์ ผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ “อู่ตะเภา” สามารถรองรับนโยบายอีอีซี และเป็นฮับของการบินแห่งใหม่ของประเทศ