“ไทยเที่ยวไทย” ชะงัก สทท.จ่อทำแผนรอฟื้นฟู

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

ในช่วงโค้งท้ายปลายปี 2563 ทุกฝ่ายต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย คือ “ความหวังเดียว”ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในปี 2564 นี้ เพราะประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงไม่เดินทางจนกว่าทั่วโลกจะมีวัคซีน ซึ่งก็อาจจะเป็นช่วงปลายปีนี้ีเป็นต้นไป

แต่ขณะที่ “ไทยเที่ยวไทย” กำลังเริ่มกลับมาคึกคักได้เพียง 3-4 เดือน ไวรัสโควิด-19 ก็กลับมาแพร่ระบาดอีกระลอกใหญ่ ทำลายบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นปลายปีไปแทบทั้งหมด นักท่องเที่ยวแห่ยกเลิกการเดินทางเกลี้ยง

“ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องยอมรับความจริงว่าขณะนี้ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก และทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต้องหยุดชะงักไป

ที่สำคัญ ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ไม่มีใครทำนายได้ว่าไวรัสโควิดจะเบาบางเมื่อไหร่ ซึ่งหากไม่ยาวนานเกินไป หรือสามารถจัดการได้ภายใน 15-20 วัน ทุกอย่างน่าจะเอาอยู่ แต่หากเกิน 1 เดือน ภาครัฐจำเป็นต้องหามาตรการมารองรับคนตกงานด้วย

“ตอนนี้ สทท. เราขอประเมินสถานการณ์ในเดือนมกราคมนี้ก่อนว่าแต่ละเซ็กเตอร์ได้รับความเดือดร้อนแค่ไหน ที่ผ่านมายังมีเพียงแค่สมาคมภัตตาคารไทยที่ส่งเสียงออกมาแล้วว่าในส่วนของธุรกิจร้านอาหารได้รับความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง ส่วนเซ็กเตอร์อื่น ๆ คงต้องรอประเมินอีกสักระยะ”

“ชำนาญ” บอกด้วยว่า ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจะจัดการได้เหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในส่วนของ สทท.เองมีแผนว่าจะประชุมหารือภาครัฐ ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเตรียมแผนฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทันทีหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเบาบางลง

“เราต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยที่ 5 ไม่ใช่ปัจจัย 4 ของการดำเนินชีวิต ดังนั้น เราต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการโควิดก่อน แต่ระหว่างนี้เราต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาใหม่ และยังมั่นใจการท่องเที่ยวยังสามารถพลิกกลับมาได้”

โดยในส่วนของการเตรียมทำแผนรอฟื้นฟูนั้น “ชำนาญ” บอกว่า จะโฟกัสในประเด็นเรื่องของการต่อลมหายใจให้กลุ่มผู้ประกอบการเป็นหลัก ทั้งกลุ่มโรงแรม รถขนส่ง เรือ บริษัททัวร์ ฯลฯ โดยเน้นว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ประคองตัวให้ไปต่อได้

ขณะเดียวกัน จะเน้นเรื่องการอัพสกิลและรีสกิล เพื่อพัฒนาคนท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์ให้มีความรู้ความสามารถมากยิ่งขึ้น และคิดใหม่ ทำใหม่ภายใต้สถานการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาด้วย

“ชำนาญ” ยังประเมินผลกระทบในช่วงเดือน 2 เดือนนี้ด้วยว่า ถ้าคำนวณจากฐานรายได้ของตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2563 ที่มีรายได้ราว 5 แสนล้านบาทหรือเฉลี่ยที่ราวเดือนละ 4-5 หมื่นล้านบาท คาดว่าเดือนมกราคมนี้ รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะหายไปราว 3-4 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองว่าครั้งนี้รัฐจะหันมาทำงานร่วมกับเอกชน และเปิดให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมาช่วยฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวในรอบนี้ด้วย

ความหวังเดียวของ “ท่องเที่ยวไทย” ที่ยังเหลืออยู่นี้จะไปต่อได้แค่ไหนนั้นเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายยังต้องลุ้นกันต่อไป