โรงแรมใหญ่ลุยลงทุนตามแผน บ่ยั่นโควิดรอท่องเที่ยวดีดกลับ

โรงแรม.
STR / AFP

ทุนใหญ่โรงแรมไม่หวั่นโควิด-ท่องเที่ยวซบ ประกาศเดินหน้าลงทุนตามแผนเดิม “AWC” เชื่อท่องเที่ยวไทยจะยังเป็นหนึ่งใน top choice ระดับโลกของนักท่องเที่ยว “IHG-เอส โฮเทล” วางเป้าเพิ่มโรงแรมใหม่อีกเท่าตัวใน 5 ปีข้างหน้า ฟาก ซี.พี.แลนด์ มุ่งโฟกัสตลาดในประเทศ ขณะที่ “เซ็นทรัล” ยังบุกหนักทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจโรงแรมรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้ แม้จะส่งผลกระทบกับธุรกิจโรงแรมทันทีตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา หลังจากที่ธุรกิจเริ่มกลับมาประคับประคองตัวเองได้อีกครั้งในช่วง 3-4 เดือนสุดท้ายของปี โดยพบว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จากเฉลี่ยเพียงแค่ 2% ในเดือนเมษายน เพิ่มเป็น 20% ในเดือนกรกฎาคม และเพิ่มเป็น 34% ในเดือนตุลาคม และขยับไปที่ประมาณ 37.5% ในเดือนธันวาคม แต่ล่าสุดผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ยังคงเดินหน้าการลงทุนตามแผนการลงทุนระยะยาวที่ประกาศไว้

AWC มั่นใจจุดแข็งท่องเที่ยวไทย

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ขณะนี้ไทยจะยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่บริษัทยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนต่อเนื่อง เนื่องจากยังเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในระยะยาวโดยบริษัทวางงบฯลงทุนตามแผน 5 ปีไว้ประมาณ 5 หมื่นล้าน เนื่องจากมั่นใจว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า สถานการณ์การท่องเที่ยวทั่วโลกจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม เพียงแต่ต้องทำการรีวิว ดูจังหวะและเวลาในการเปิดโครงการกันใหม่ เพื่อให้สอดรับกับดีมานด์ในแต่ละช่วงเวลา เช่น โครงการที่เดิมมีแผนเปิดในช่วงต้นปี 2564 อาจขยับไปเปิดในช่วงไตรมาส 3 หรือ 4 เป็นต้น

“ที่สำคัญคือเรามั่นใจว่าการท่องเที่ยวของไทยจะยังเป็นหนึ่งใน top choice ของจุดหมายปลายทางระดับโลกของนักท่องเที่ยวทั่วโลก”

เช่นเดียวกับ นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT) ที่กล่าวถึงแผนการขยายการเติบโตว่า กลุ่มไมเนอร์ยังเดินไปตามแผนที่วางไว้ ยังไม่มีการถอดโรงแรมใดออกจากแผน เพียงแต่อาจมีการขยับวันเวลาเปิดให้บริการออกไปเล็กน้อยตามสถานการณ์

IHG-เอส โฮเทลโตเท่าตัวใน 5 ปี

นายราจิต สุขุมารัน กรรมการบริหารประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี กลุ่มอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเทลส์ กรุ๊ป (IHG) กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกจะยังอยู่กับวิกฤตโควิด แต่กลุ่มไอเอชจียังขยายธุรกิจตามแผน โดยจะขยายโรงแรมขนาดกลางเพิ่มจาก 19 แห่งในปัจจุบัน เป็นอย่างน้อย 35 แห่ง หรือเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวภายในปี 2568 โดยมีแบรนด์ Holiday Inn และ Holiday Inn Express เป็นแบรนด์เป็นหลัก โดยโรงแรมที่มีแผนทยอยเปิดให้บริการ อาทิ ฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท พัทยา เกาะล้าน, ฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท อันดามันดา ภูเก็ต, ฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท สมุย บ่อผุด ฯลฯ นอกจากเมืองท่องเที่ยวหลักแล้ว บริษัทยังมองหาพื้นที่ศักยภาพอื่น ๆ ด้วยเช่น เชียงราย, หาดใหญ่, ระยอง เป็นต้น ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยยังคงเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของแผนการเติบโตของกลุ่มไอเอชจีในอนาคต

สอดรับกับ นายเดิร์ก อังเดร ลีน่า คุยเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ต บริษัทในเครือ บมจ.สิงห์ เอสเตท ที่กล่าวว่า แม้ว่าธุรกิจโรงแรมจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก แต่บริษัทยังเปิดตัวโรงแรมแห่งใหม่ต่อเนื่องเพื่อสร้างการเติบโต โดยวางเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2568 มีโรงแรมในเครือทั้งหมด 82 แห่ง รวมประมาณ 9,000 ห้อง จากปัจจุบันที่มี 39 แห่ง รวม 4,647 ห้อง ภายใต้งบฯลงทุนที่ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งการลงทุนเองและรับบริหาร

สำหรับปี 2564 นี้มีแผนเปิดตัวโรงแรมใหม่ในไทย แบรนด์ใหม่ 2 แบรนด์ คือ SAii (ทราย) 2 แห่ง คือ SAii Launa ภูเก็ต และ SAii พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ ในไตรมาสแรกนี้ และแบรนด์ Nabor ที่เกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) ในไตรมาส 2 และอนาคตยังมีแผนเปิดที่เชียงใหม่, กรุงเทพฯ, หัวหิน และภูเก็ต รวมถึงในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียด้วย

ซี.พี.แลนด์-เซ็นทรัล เดินหน้าลุย

นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร โรงแรมในเครือฟอร์จูน (Fortune Hotel Group) บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า แม้ว่าบริษัทจะยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด แต่ที่ผ่านมาโรงแรมในพื้นที่ต่างจังหวัดหลายพื้นที่ยังสามารถประคองธุรกิจอยู่ได้ นอกจากนี้ บริษัทยังเชื่อว่าการท่องเที่ยวยังเป็นไลฟ์สไตล์หนึ่งของคนไทย และที่สำคัญ การหยุดเดินทางระหว่างประเทศจึงทำให้ตลาดภายในประเทศมีโอกาสการเติบโตสูงขึ้นบริษัทจึงยังคงลงทุนต่อเนื่องโดยในปี 2564 นี้ได้เตรียมงบฯลงทุนไว้ 1,000-2,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโรงแรมอีกประมาณ 5-10 แห่ง ในเมืองท่องเที่ยวต่างจังหวัดเพื่อรองรับตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ที่ยังมีดีมานด์ต่อเนื่อง เพียงแต่จะไม่เร่งสปีดเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีตัวแปรใหม่ ๆ เข้ามา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกลุ่มเซ็นทรัล หรือบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ได้วางงบประมาณสำหรับการลงทุนในธุรกิจโรงแรมต่อเนื่องกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทั้งโรงแรมในประเทศและในต่างประเทศ อาทิ เซ็นทาราแกรนด์ ดูไบ, เซ็นทารา มัลดีฟส์, เซ็นทาราแกรนด์ โอซากา (ญี่ปุ่น), โคซี่ เชียงใหม่, โคซี่ พัทยา เป็นต้น โดยตามแผน กลุ่มเซ็นทรัลจะมีโรงแรมเพิ่มขึ้นอีก 33 แห่ง รวม 6,665 ห้อง ภายในปี 2567 แบ่งเป็นโรงแรมที่ลงทุนเองหรือร่วมลงทุน 5 แห่ง หรือ 1,573 ห้อง และโรงแรมที่รับบริหารจัดการอีก 28 แห่ง หรือ 5,092 ห้อง อาทิ จีน ตุรกี อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา มัลดีฟส์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย ทำให้มีโรงแรมรวม 76 แห่ง 14,758 ห้อง จากปัจจุบัน 43 แห่ง 8,093 ห้อง