ช็อก! โควิดระลอกใหม่ ‘ดับฝัน’ คนท่องเที่ยว

มู้ดท่องเที่ยวโค้งท้ายสะดุด
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ
ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

เชื่อว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ทำให้ “คนท่องเที่ยว” ตกอยู่ในโหมด “ช็อก” พูดไม่ออก บอกไม่ถูก เกิดอาการมึนงง หายใจไม่ทั่วท้อง ทันที

เพราะผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกภาคเซ็กเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ รถนำเที่ยว ฯลฯ ล้มลุกคลุกคลานกันมาตั้งแต่เจอพิษโควิดรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา จนกระทั่งวันนี้พบว่าบางส่วนถอดใจเลิกกิจการไปนานแล้ว บางส่วนอยู่ในภาวะเจ็บหนักยังนอนพักอยู่ในไอซียู

และก็มีอีกบางส่วนที่ยอมควักกระเป๋าเอาเงินเก็บออกมาใช้ เพื่อพยุงธุรกิจให้เดินหน้าต่อ ด้วยความหวังว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ กลับมาดีขึ้น

สุดท้ายธุรกิจยังไม่ทันจะ “ฟื้นไข้” โควิดระลอกใหม่ (สมุทรสาคร) ก็โผล่มาจู่โจมอย่างหนัก และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 2 สัปดาห์ รัฐบาลประกาศพื้นที่จุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดถึง 28 จังหวัดในทุกภาคของประเทศ

แม้รัฐบาลจะพยายามย้ำว่าไม่ได้ “ล็อกดาวน์” พื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ คนแห่ยกเลิกโปรแกรมการเดินทางท่องเที่ยวทันที ยอดการจองสิทธิ์ห้องพักในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” 1 ล้านสิทธิ์เฟสใหม่ ที่เพิ่งเปิดให้จองเมื่อ 28 ธันวาคม 2563 ก็ชะลออย่างชัดเจน

จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่น้องในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่นี้คือปัจจัยลบที่มาซ้ำเติม “คนท่องเที่ยว” อย่างหนัก หลังจากที่บางส่วนเริ่มทยอยดีขึ้นบ้างจากมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาล ในช่วง 3-4 เดือนสุดท้ายของปี 2563

โดยจากเก็บข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า แม้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังหยุดเดินทางท่องเที่ยว แต่ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ หรือ “ไทยเที่ยวไทย” เริ่มกลับมาคึกคักขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมห้องพักทั่วประเทศในช่วงปลายปี 2563 มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กล่าวคือ จากที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพียงแค่ 2% ในเดือนเมษายน (ปิดน่านฟ้า) เพิ่มเป็น 20% ในเดือนกรกฎาคม และเพิ่มเป็น 34% ในเดือนตุลาคม และขยับเพิ่มเป็นประมาณ 37.5% ในเดือนธันวาคม 2563 แน่นอนว่าปัจจัยหลักมาจากมาตรการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวของภาครัฐ และความพยายามในการทำการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทย

ขณะที่โควิดระลอกใหม่นี้ก็แพร่ระบาดในช่วง “ไฮซีซั่น” ส่งท้ายปีเก่า 2563 และต้อนรับปีใหม่ 2564 ช่วงเวลาแห่ง “ความหวัง” และช่วงเวลา “กอบโกย” ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวพอดิบพอดี

เรียกว่ามา “ดับฝัน” คนท่องเที่ยวไปหมดสิ้นอย่างรวดเร็ว

วันนี้เครื่องยนต์ท่องเที่ยวดับลงทุกตัว ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่เดินทาง ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศที่เหลือเป็น “ความหวังเดียว” ของคนท่องเที่ยวก็ดับลงแล้วเช่นกัน

รายได้ท่องเที่ยวไทยทั้งระบบกำลังจะเป็นเหมือนเมื่อครั้งเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 อีกครั้ง

ประเด็นที่น่าเป็นกังวลคือ จนถึงขณะนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ททท., กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ฯลฯ ยังไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือ เยียวยา กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรอบนี้อย่างไรบ้าง มีเพียงกรอบกว้าง ๆ ที่ระบุว่า น่าจะออกมาในรูปแบบของการเติมสินเชื่อ และพักชำระหนี้ ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่เสี่ยง 28 จังหวัดเท่านั้น

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวฯ ประเมินว่า หากเราสามารถคุมโควิด-19 ได้ในเดือนมกราคมนี้ เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยเราน่าจะเริ่มกลับมาในเดือนเมษายน

แต่ประเด็นปัญหาที่ “คนท่องเที่ยว” เป็นห่วงคือ กังวลว่าหลังจากที่เราควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว “คนไทย” จะมีเงินในกระเป๋าเหลือสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวกันแค่ไหน เพราะการแพร่ระบาดรอบนี้กระทบกับปัญหาปากท้องของประชาชนทั่วไปอย่างหนักด้วยเช่นกัน

ถามว่า “ทางออก” คืออะไร ? ผู้เขียนเองมองว่า โจทย์หลักหลังจากนี้ รัฐบาลคงต้องใช้มาตรการกระตุ้นที่ “แรง” กว่าครั้งก่อน การให้เงินสนับสนุน (subsidize) เพื่อกระตุ้นคนไทยออกเที่ยวในรอบใหม่นี้ น่าจะต้องจูงใจกว่าเดิม

และหากมองว่า “ท่องเที่ยว” ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภาครัฐคงต้องกล้าปล่อย “ซอฟต์โลน” และใส่เงินซับซิไดซ์ ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการด้วย เพื่อประคับประคองให้วงจรของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบอยู่รอดต่อไปได้

ถ้ายังมองแบบเดิม คิดแบบเดิมเชื่อว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยคงไม่มีใครมีพลังฝ่าวิกฤตระลอกใหม่นี้ไปได้…