“อุดม ตันติประสงค์ชัย” ผู้ปลุกปั้น “โอเรียนท์ไทย-วันทูโก” เสียชีวิตแล้ว

สิ้นแล้ว! “อุดม ตันติประสงค์ชัย” ผู้ปลุกปั้น “โอเรียนท์ไทย-วันทูโก” สายการบินโลว์คอสต์รายแรกของไทย หลังศาลเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์โอเรียนท์ ไทย เมื่อ 5 มกราคมที่ผ่านมา

แหล่งข่าวจากธุรกิจสายการบินเปิดเผยว่า เมื่อบ่ายวันนี้ (16 มกราคม 2564) แฟนเพจเฟซบุ๊ก “บันทึกไม่ลับของคนขับเครื่องบิน” ได้โพสต์รูปแบบและข้อความว่า “อุดม ตันติประสงค์ชัย เจ้าของสายการบิน Orient Thai และ วันทูโก เสียชีวิตแล้ว หลังจากพึ่งปิดตำนานสายการบินโฮเรียนท์ไทยไม่กี่วันก่อน” พร้อมทั้งระบุด้วยว่า คุณอุดมคือผู้บุกเบิกสายการบินต้นทุนต่ำ (lowcost) คนแรกในประเทศไทย คือ โอเรียนท์ไทย โดยมาก่อนนกแอร์และแอร์เอเชีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุดม ตันติประสงค์ชัย เกิดเมื่อปี 2498 ที่กรุงเทพฯ ในครอบครัวทำธุรกิจกิจการโรงฟอกหนัง ไปเรียนที่ไต้หวันตั้งแต่อายุ 13 ปี มีชื่อภาษจีนว่า “เฉิน สวย จิ่น” ต่อมาได้ไปเรียนที่โรงเรียนช่างกลเครื่องบินที่ฮ่องกง เมื่ออายุ 17 ปีได้กลับเมืองไทยและดำเนินธุรกิจส่งออกหนังฟอกไปฮ่องกง พร้อมแปรรูปเศษหนังที่ไม่มีค่า ไขมันไขวัวขายไปทำสบู่ และส่งออกน้ำมันปาล์ม ทำสบู่ให้กับไต้หวัน จากนั้นได้ขยายธุรกิจไปในเวียดนาม, กัมพูชา ฯลฯ

เริ่มต้นธุรกิจสายการบินด้วยการบริหารสายการบิน แคมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ (CIA) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของกัมพูชา ในนามของบริษัท Fuldaa ที่ได้รับสัมปทานจากคณะรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อปี 2533 และเริ่มเปิดบินเที่ยวแรกในเดือนพฤษภาคม 2535 เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ และได้ปิดลงเมื่อปี 2537

หลังจากนั้นได้กลับมาตั้งหลักที่ประเทศไทย โดยนำเครื่องบินนจำนวน 3 ลำมาด้วย ระหว่างที่รอใบอนุญาตในปี 2537 นั้นได้รับการติดต่อจาก William Gatchalian ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานพลาสติกของฟิลิปปินส์ ให้ร่วมหุ้น 60-40% ทำสายการบิน แอร์ ฟิลิปปินส์ หลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดเสรีการบินในปี 2537
ในปี 2538 ก็ได้เริ่มสายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ สายการบินต้นทุนต่ำ (lowcost) ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศระหว่างภูมิภาค บินจากเชียงใหม่สู่อุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น ฯลฯ

3 ธันวาคม 2546 ได้เริ่มสายการบินวัน ทู โก กระทั่ง 16 กันยายน 2550 เครื่องบินสายการบิน วันทู โก เกิดอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกรันเวย์ที่สนามบินภูเก็ต ส่งผลให้ผู้โดยสารและนักบิน 90 คนเสียชีวิต
สายการบินโอเรียนท์ไทยได้ยุติการบริการเที่ยวบินทั้งหมดอย่างถาวรในปี 2561 เนื่องจากถูกสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สั่งพักใบอนุญาตทำการบิน แบบไม่มีกำหนด สืบเนื่องมาจากปัญหาด้านภาระหนี้สินที่ค้างจ่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงค่าเช่าที่จอดเครื่องบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. และค่าใช้บริการจราจรทางอากาศของวิทยุการบินแห่งประเทศไทย

ล่าสุดศาลล้มละลายได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ทั้งหมด โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 เรื่อง คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จํากัด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483