ลุ้นคลอด “แผนฟื้นฟู” บินไทย ผู้ทำแผนเสียงแตกปมจ้าง FA 630 ล้าน

การบินไทย

ลือสะพัดแผนฟื้นฟูการบินไทยสะดุด ทีมผู้ทำแผนเสียงแตก วงในเผย “ปิยสวัสดิ์-ชาญศิลป์” จุดชนวนร้อนใช้เสียงข้างมากยื่นขอศาลจ้าง “เกียรตินาคินภัทร” นั่งที่ปรึกษาการเงิน ค่าตอบแทน 630 ล้าน ดึงนักลงทุน ขณะที่ผู้ทำแผนรายอื่นชี้ไม่ใช่หน้าที่ ด้าน “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค-อีวาย-ชาญศิลป์” ยืนยันแผนฟื้นฟูเสร็จแล้ว พร้อมยื่นต่อศาลได้ทัน 2 กุมภาพันธ์นี้แน่นอน

จากกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยืดระยะเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางเมื่อ 14 กันยายน 2563 จาก 2 มกราคม 2564 เป็น 2 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ล่าสุดเกิดกระแสข่าวสะพัดหน้าสื่อต่าง ๆ ว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง

ลือสะพัด ! แผนฟื้นฟูสะดุด

แหล่งข่าวในบริษัทการบินไทยรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ายิ่งใกล้วันยื่นแผนฟื้นฟูการบินไทย กระแสข่าวความคิดเห็นไม่ตรงกันของคณะผู้ทำแผนทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส, พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ยิ่งแรงต่อเนื่อง

โดยหนักสุดคือ การปล่อยข่าวว่าแผนฟื้นฟูที่ทีมผู้ทำแผนทั้ง 7 รายนั้นสะดุด เนื่องจาก ฟินันซ่า ที่ปรึกษาการเงินไม่ต่อสัญญาทำแผน การเจรจาเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามแผน รวมถึงความคิดเห็นของทีมทำแผนบางส่วนไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและไม่ให้ความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, บริษัทอีวายฯ ฯลฯ ส่งผลให้แผนปรับโครงสร้างหนี้และแผนธุรกิจไม่คืบหน้า

ปมร้อนที่ปรึกษาการเงิน 630 ล.

แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงและทำให้ความเห็นของทีมผู้ทำแผนทั้ง 7 เสียงแตกคือ กลุ่มเสียงข้างมากซึ่งมีพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร มีแนวคิดจะว่าจ้างบริษัทเกียรตินาคินภัทรมาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพิ่มอีก 1 ราย ด้วยค่าตอบแทนถึง 630 ล้านบาท เพื่อหานักลงทุนให้บริษัท

ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคและบริษัทอีวายฯ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากอำนาจหน้าที่ในการจัดหา หรือว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อหานักลงทุนหรือเงินทุนนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 2 หลังจากทำแผนฟื้นฟูซึ่งเป็นขั้นตอนแรกเสร็จแล้ว และอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ทำแผนทั้ง 7 คนนี้มีอำนาจหน้าที่เพียงทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จเพื่อส่งให้ศาลพิจารณาเห็นชอบเท่านั้น

ทำเกินหน้าที่ “ผู้ทำแผน”

ด้านกลุ่มเสียงข้างมากนั้นยังคงยืนยันจะว่าจ้างบริษัท เกียรตินาคินภัทร ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากให้เกียรตินาคินภัทรไปหาเงินทุนมาให้บริษัท ทำให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าภารกิจในการหาเงินทุนนั้นไม่ใช่หน้าที่ของผู้ทำแผน แต่เป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนที่จะเข้ามาในขั้นตอนต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ฝั่งเสียงข้างมากยังได้ขอไฟแนนเชียลโมเดลจากบริษัทอีวายฯ ซึ่งได้ทำเสร็จแล้วเพื่อนำไปให้เกียรตินาคินภัทรไปเจรจากับกลุ่มนักลงทุน แต่บริษัทอีวายฯ ไม่ให้ ผู้บริหารกลุ่มนี้จึงไม่พอใจการทำงานของบริษัทอีวายฯ ไปด้วย

ที่ปรึกษากฎหมายไม่เอาด้วย

โดยล่าสุดผู้บริหารกลุ่มดังกล่าวจึงใช้มติเสียงข้างมากไปยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ศาลอนุญาตว่าจ้างเกียรตินาคินภัทร ตามมติเสียงข้างมาก

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่อไปว่า มีผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งยืนยันว่า การดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางของกลุ่มผู้ทำแผนครั้งนี้ได้ดำเนินการเองทั้งหมด โดยบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการให้

“ประเด็นดังกล่าวนี้หลายคนวิเคราะห์ว่า แนวทางการยื่นต่อศาลเพื่อขอจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินครั้งนี้ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของผู้ทำแผน ทำให้แม็คเค็นซี่ฯ ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายไม่เห็นด้วยเช่นกัน และเจ้าหนี้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่หารือเจ้าหนี้ก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหารก็เคยขอศาลขายทรัพย์สินทั้งที่ดินและหุ้นโดยไม่แจ้งเจ้าหนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง” แหล่งข่าวกล่าว

รับปัญหาภายในสุด “ซับซ้อน”

พร้อมระบุว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาปัญหาภายในของการบินไทยค่อนข้างซับซ้อน โดยก่อนหน้าที่จะมีการตั้งคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูนั้น พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานบอร์ดการบินไทยได้คัดเลือกจ้างบริษัทอีวายฯ เข้ามาก่อนแล้ว พอเริ่มทำงานพบว่าบทบาท หน้าที่ของบริษัทอีวายฯ ในประเทศไทยนั้นเชี่ยวชาญเฉพาะทำแผนฟื้นฟูทั่วไป จึงวางกรอบทำงานเฉพาะแผนฟื้นฟูเท่านั้นไม่ได้รวมแผนงานด้านธุรกิจการบิน

สุดท้ายต้องจ้างบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ โค ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินเข้ามาเป็นที่ปรึกษาอีก 1 ราย เพื่อมาทำงานคู่กับบริษัทอีวายฯ เพราะในแผนฟื้นฟูนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเลขทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องโครงสร้างบริษัท ฯลฯ หรือที่เรียกว่า financial model ซึ่งเป็นตัวเลขทางบัญชีและโครงสร้างธุรกิจทั้งหมด

“ตอนที่บอร์ดจ้างบริษัทอีวายฯ นั้นได้จ้างบริษัทฟินันซ่ามาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และให้ทำงานร่วมกับอีวายฯ ในการทำไฟแนนเชียลโมเดลและแผนธุรกิจในการฟื้นฟู แต่พอสัญญาจ้างหมดลงในเดือนสิงหาคม 2563 ทางการบินไทยไม่ได้ต่อสัญญา และไม่ได้จ้างใครเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแทนแต่อย่างใด”

พร้อมยื่นศาล 2 ก.พ.นี้

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หนึ่งในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ได้ออกมาชี้แจงผ่านสื่อ พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้บริษัทอีวายฯ ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้ส่งร่างแผนฟื้นฟูฯ ให้ผู้ทำแผนทั้งหมดเพื่อพิจารณาเห็นชอบแล้วตั้งแต่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้บริษัทอีวายฯ ยังได้ทำการหารือกับเจ้าหนี้หลัก เพื่อขอความคิดเห็นและแนวทางต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแผนฟื้นฟูฯ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย สำหรับตนเองนั้นที่ผ่านมามีความคิดเห็นสอดคล้องกับผู้ทำแผนฯ ท่านอื่นมาตลอด ยกเว้นเรื่องหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมายเท่านั้น

เช่นเดียวกับนางชุติมา ปัญจโภคากิจ กรรมการ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ที่ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การดำเนินงานจัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในฐานะผู้ทำแผนก็ได้จัดส่งร่างแผนให้คณะทำแผนทั้งหมดพิจารณากันแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและเปิดรับคอมเมนต์ และมั่นใจว่าแผนดังกล่าวพร้อมยื่นต่อศาลล้มละลายกลางได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ตามกำหนดแน่นอน


ขณะที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันว่า บริษัทยังคงดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูตามขั้นตอนที่ศาลล้มละลายกลางกำหนดไว้ โดยขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว เพื่อให้สามารถยื่นแผนต่อศาลล้มละลายกลางได้ทันตามกำหนดเวลาคือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 นี้