ท่องเที่ยวอ่วม วอนรัฐอุ้ม “การจ้างงาน”

นักท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้สำรวจแนวทางการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องการจากภาครัฐ ในช่วงวันที่ 10-12 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางการฟื้นฟูธุรกิจในวิกฤตครั้งนี้

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจความต้องการจากผู้ประกอบการ 1,884 ราย แบ่งออกเป็น สถานที่พัก 44.3% ตามด้วยบริษัทนำเที่ยว 23.78%, ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม 10.40%, บริการรถเช่า/บริการรถสาธารณะ 6.95%, ร้านสินค้าที่ระลึก 4.30%, นวดแผนไทย/สปา 2.71%, สวนสนุก/ธีมปาร์ก 2.18% สถานบันเทิง 0.53%, สายการบิน 0.16% และอื่น ๆ 4.62%

จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กต่ำกว่า 5 ล้านบาท (36.36%) และหากโฟกัสเฉพาะธุรกิจที่มีขนาดต่ำกว่า 50 ล้านบาท พบว่ามีสัดส่วนรวมถึง 75.11% โดยปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวยังเปิดให้บริการ 65.34% ปิดให้บริการชั่วคราว 34.66%

สำหรับแนวทางความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐมากที่สุด 4 เรื่องหลัก ๆ ประกอบด้วย

1.มาตรการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (92.57%) ได้แก่ สนับสนุนเงินเดือนค่าจ้างพนักงานเพื่อรักษาการจ้างงาน, ลดค่าไฟฟ้า, ลดค่าน้ำ

2.ขอพักชำระหนี้ (81.16%) โดยส่วนใหญ่ (63.64%) อยากให้ช่วยพักชำระหนี้เป็นเวลา 19-24 เดือน

3.ขอปรับลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมทั้งพักการชำระเงินต้น (79.94%) โดยเสนอว่าอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 1-1.99% มากที่สุด (36.69%) รองลงมาคือ ดอกเบี้ย 0-0.5% (24.04%)

และ 4.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan (78.77%) โดยมูลค่าเงินกู้ที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุดอยู่ในระดับ 1-5 ล้านบาท (31.60%) ส่วนที่ต้องการเงินกู้เกิน 50 ล้านบาท มีเพียง 5.66%

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ยังเสนอให้ปลอดอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่กู้คิดเป็น 45.82% รองลงมาคือ ปลอดดอกเบี้ย 24 เดือนแรก (38.24%) และปลอดดอกเบี้ย 12 เดือนแรก (16.04%)

ทั้งนี้ หากโฟกัสกลุ่มธุรกิจหลัก พบว่า สถานที่พัก ปัจจุบันเปิดให้บริการ 71.89% ปิดให้บริการชั่วคราว 28.11% มาตรการที่กลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด คือ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (95.10%) รองลงมาคือ ขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยพร้อมทั้งพักการชำระเงินต้น (80.50%), ขอพักชำระหนี้ (80.02%) และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (76.32%)

บริษัทนำเที่ยว ปัจจุบันเปิดให้บริการ 53.35% ปิดให้บริการชั่วคราว 46.65% มาตรการที่กลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดคือ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (93.88%) รองลงมา คือ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (83.04%), ขอพักชำระหนี้ (79.46%) และขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยพร้อมทั้งพักการชำระเงินต้น (77.90%)

ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ปัจจุบันเปิดให้บริการ 53.35% ปิดให้บริการชั่วคราว 46.65% มาตรการที่กลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด คือ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (93.88%) รองลงมา คือ ขอพักชำระหนี้ (82.14%), สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (80.10%) และขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยพร้อมพักการชำระเงินต้น (77.55%)

บริการรถเช่า/บริการรถสาธารณะ ปัจจุบันเปิดให้บริการ 53.44% ปิดให้บริการชั่วคราว 46.56% มาตรการที่กลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดคือ ขอพักชำระหนี้ (96.18%) รองลงมาคือ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (88.55%), ขอปรับลดดอกเบี้ยพร้อมพักการชำระเงินต้น (87.79%) และสินเชื่อดอกเบี้ย (80.15%)

ธุรกิจแหล่งท่องเที่ยว/สวนสนุก/ธีมปาร์ก/สนามกอล์ฟ ปัจจุบันเปิดให้บริการ 58.54% ปิดให้บริการชั่วคราว 41.46% มาตรการที่กลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดคือ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (90.24%) รองลงมาคือ ขอพักชำระหนี้ (68.29%), ขอปรับลดดอกเบี้ยพร้อมทั้งพักการชำระหนี้ (65.85%) และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (53.66%)

ธุรกิจสถานบันเทิง (ผับ, บาร์, คาบาเรต์) ปัจจุบันเปิดให้บริการ 10% ปิดให้บริการชั่วคราว 90% มาตรการที่กลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดคือ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (100%) รองลงมาคือ ขอปรับลดดอกเบี้ยพร้อมทั้งพักการชำระหนี้ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในสัดส่วนคือ 90% และขอพักชำระหนี้ (80%)

สายการบิน ปัจจุบันเปิดให้บริการ 66.67% ปิดให้บริการชั่วคราว 33.33% โดยกลุ่มนี้มีต้องการทั้ง 4 มาตรการในสัดส่วน 100%

“ยุทธศักดิ์” บอกด้วยว่า ผลการสำรวจดังกล่าวนี้สะท้อนชัดเจนว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์ประสบปัญหาหนัก และกำลังรอความช่วยเหลือจากมาตรการรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น การสนับสนุนค่าจ้างพนักงาน เพื่อรักษาการจ้างงานเอาไว้

ทั้งนี้ ททท.คาดหวังว่าผลการสำรวจครั้งนี้จะเป็นข้อมูลที่ส่งต่อความต้องการของผู้ประกอบการทุกเซ็กเตอร์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาให้ความช่วยเหลือ
ผู้ประกอบการก่อนที่เราจะเดินหน้าทำการตลาดเชิงรุกต่อไป