ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เว็บไซต์เดอะมิเรอร์ของอังกฤษ ได้รายงานผลการจัดอันดับราคาค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวระยะยาวของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งสำรวจโดย Post Office Travel Money พบว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวโดยใช้ระยะเวลานาน แต่คุ้มค่ามากที่สุดอันดับ 1 ของโลก ประจำปี 2017
ไม่เพียงเท่านี้ กรุงเทพฯยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา และเต็มไปด้วยกิจกรรมและวัฒนธรรมที่ชวนให้สัมผัส รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยเฉพาะวัดวาอารามและพระบรมมหาราชวังที่วิจิตรงดงาม
ล่าสุดสำนัก ข่าว “ซีเอ็นเอ็น” ยังได้จัดอันดับให้ Bangkok street food หรืออาหารริมทางของประเทศไทย เป็นอาหารริมทางที่ดีที่สุดอันดับ 1 ของโลกจาก 23 เมืองทั่วโลกเป็นปีที่ 2 เช่นเดียวกับนิตยสารฟอร์บสก็จัด อันดับให้อาหารริมทางในกรุงเทพฯเป็นอันดับ 1 ใน World top 10 cities for street food ทำให้ร้านอาหารริมทางในกรุงเทพฯและจังหวัดท่องเที่ยวเป็นที่กล่าวขานในบรรดา นักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นอย่างมาก
นับเป็นจุดแข็งสำคัญที่มี เสน่ห์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นเมืองจุดหมายปลายทางของผู้หลงใหลในอาหาร อันเป็นการช่วยเพิ่มอาชีพให้กับคนไทย โดยอาหารที่ขึ้นชื่อคือ ผัดไทย, หอยทอด, ส้มตำ, ก๋วยจั๊บ, ก๋วยเตี๋ยว, ข้าวมันไก่ ข้าวเหนียวมะม่วง ฯลฯ
“ดร.นพ ดล ปิยะตระภูมิ” รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ บอกว่า ทางสถาบันและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประชุมกับสำนักอนามัย, สถาบันอาหาร วิทยาลัยดุสิตธานี, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์, วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม และโรงเรียนสอนทำอาหารครัววันดี เพื่อจัดตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบและจัดตั้งมาตรฐานผู้ประกอบอาชีพ street food
โดยจะเน้นการประเมินมาตรฐานและออกใบรับรองเพื่อการันตีมาตรฐาน คุณวุฒิวิชาชีพของผู้ประกอบอาชีพร้านอาหารริมทาง และครอบคลุมไปถึง food truck ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่
ขณะที่สำนักงาน กรุงเทพมหานคร ยังได้มีนโยบายในการจัดระเบียบเพื่อฟื้นฟูชื่อเสียงร้านอาหารริมทางที่ขึ้น ชื่อในอดีตให้มีความคึกคักขึ้นด้วย อาทิ สามย่าน, เจริญกรุง บางรัก, เยาวราช, นางเลิ้ง, ท่าพระจันทร์, บางลำพู, ถนนข้าวสาร, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สุขุมวิท 38, เพชรบุรี เป็นต้น
จากนั้นยังมีแผนจะขยายการยกระดับร้านอาหารริมทางในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป
โดยที่ ผ่านมาได้เริ่มจัดระเบียบเพื่อความสะอาดในย่านเยาวราช และถนนข้าวสารไปแล้ว และจะขยายการจัดระเบียบไปยังย่านอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อรักษาเสน่ห์ของความเป็น street food ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้
นอกจากนี้ ในส่วนของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพร้านอาหารริมทาง อาทิ สำนักอนามัยจะทำหน้าที่ดูแลความสะอาดของร้านค้าภาชนะ ให้ถูกสุขลักษณะอนามัย สถาบันอาหารก็จะให้คำแนะนำด้านคุณภาพของส่วนผสม วัตถุดิบก่อนนำมาประกอบอาหาร
ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการร้านอาหารริมทาง หรือ street food ในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มีประสบการณ์ที่ดีในการมาท่องเที่ยวประเทศไทย