“อิตัลไทย” กัดฟันฝ่าพิษโควิด “ธุรกิจโรงแรมไม่มีวันตาย”

 

วิกฤตโควิด-19 นับเป็นปัจจัยที่เป็นความท้าทายใหม่ที่ผู้ประกอบการทั่วโลกที่ต้องเร่งปรับทัพ ทิศทางธุรกิจกันใหม่ เพราะวิกฤตนี้ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ธุรกิจทุกระดับต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการลูกค้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ยุทธชัย จรณะจิตต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทอิตัลไทย ถึงภาพรวมธุรกิจหลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19 มากว่า 1 ปี โดยเฉพาะทิศทางการบริหารจัดการธุรกิจในกลุ่มฮอสพิทาลิตี้ ที่มีทั้งโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 54 แห่ง ใน 8 ประเทศ (31 แห่งตั้งอยู่ในประเทศไทย) ภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ อาทิ อมารี, Shama, OZO รวมถึงโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล และศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ เป็นต้น

อัตราเข้าพักต่ำ-ราคาร่วง

“ยุทธชัย” บอกว่า วิกฤตโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจกลุ่มที่เหนื่อยที่สุด คือ กลุ่มโรงแรมและบริการ ภายใต้บริษัท ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป และธุรกิจไลฟ์สไตล์ (ศูนย์การค้า, อาหาร และเครื่องดื่ม) ทำให้ตัวเองต้องเข้ามานั่งเป็นซีอีโอดูแลเอง จากเดิมที่ใช้ผู้บริหารต่างชาติ

“ด้วยสถานการณ์ทำให้เป็นจังหวะที่ดีที่เจ้าของต้องเข้ามาดูแลเอง เพราะสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ปรับตัวได้เร็วและมีแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจนขึ้น”

ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิดระลอกแรก โรงแรมปิดให้บริการชั่วคราวจากนโยบายล็อกดาวน์ ทำให้มีรายได้ลดลงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในปี 2563 ลดลงประมาณ 65% จากปีก่อนหน้า สำหรับปัจจุบันอัตราการเข้าพักของโรงแรมในกลุ่มออนิกซ์อยู่ที่ประมาณ 15% ขณะที่จุดคุ้มทุนต้องมีอัตราเข้าพักประมาณ 30-40% แต่ก็ต้องเปิดบริการเพราะ “โรงแรมเป็นสิ่งมีชีวิต” การปิดให้บริการอาจขาดทุนมากกว่าการ “เปิดให้บริการ” เพราะการปิดบริการจะทำให้ห้องพัก เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เสียหายมาก การรีโอเพ่นนิ่งจะต้องใช้เงินในการรีโนเวตเยอะมาก

ปัญหาของธุรกิจโรงแรมในขณะนี้ นอกจากอัตราการเข้าพักต่ำแล้ว เรตราคาขายยังต่ำด้วย เช่น โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ราคาขายปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 18,000-20,000 บาทต่อคืน ปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ 4,000-5,000 บาทต่อคืน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ เพราะกลุ่มลูกค้าตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นคนไทย หรือชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในเมืองไทย

“ตอนนี้เราทำแพ็กเกจราคา 9,999 บาทต่อคน รวมห้องพัก อาหารและเครื่องดื่ม สปา ฯลฯ พ่วงด้วยเออร์ลี่เช็กอิน และเลตเช็กเอาต์ เหมือนเข้าพัก 1 คืน ได้พัก 2 วัน และก็ยังเชื่อว่าสถานการณ์จะยังอยู่แบบนี้ไปอีกสัก 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง”

ใช้เวลาฟื้นฟู 2 ปี

“ยุทธชัย” บอกว่า น่าจะใช้เวลาฟื้นฟูสักประมาณ 2 ปี กว่าทุกอย่างจะกลับมา recover แม้ว่าจะมีข่าวดีเรื่องวัคซีน แต่ปัญหาคือเมืองไทยยังฉีดวัคซีนได้ไม่ครบ ขึ้นอยู่กับวัคซีนที่เข้ามาว่าจะมีปริมาณมากแค่ไหน คาดว่ากว่าจะถึงจุดที่ประชาชนได้ฉีดวัคซีนครอบคลุม น่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี หมายความว่าปีนี้ นักท่องเที่ยวก็จะยังไม่กลับมามากนัก ดังนั้นในเชิงธุรกิจ กลุ่มออนิกซ์ลุ้นเพียงแค่บริหารให้ทุกโรงแรมสามารถเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น

“ตอนนี้หลักการบริหารของผมคือ ให้มองเรื่องรายได้รวมแต่ละแห่งว่าจุดคุ้มทุนของโรงแรมแต่ละแห่งอยู่ที่เท่าไหร่ เช่น จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 10 ล้านต่อเดือน ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้เข้ามา 10 ล้าน เพื่อให้ตัวเลข top line ของงบกำไร/ขาดทุนไม่ติดลบ”

ปรับโครงสร้าง-เพิ่มทุน

“ยุทธชัย” ฉายภาพว่า โดยส่วนตัวมองว่าใน 2 ปีข้างหน้า โรงแรมทุกกลุ่มจะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการเพิ่มทุน ซึ่งในส่วนของบริษัท เดือนเมษายนนี้ก็จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นเรื่องขอเพิ่มทุนในหลักหลายร้อยล้าน โดยจะทยอยใส่เงินลงมาให้สอดรับกับสถานการณ์ รวมถึงในส่วนของการขอเงินกู้จากสถาบันการเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ส่วนหนี้สินเดิมก็ต้องขอเลื่อนผ่อนชำระไป

ที่ผ่านมาบริษัทก็ได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2-3% จากธนาคารออมสิน และไทยพาณิชย์ มาหมุนเวียนประมาณ 150 ล้านบาท เฉลี่ยที่ 20-30 ล้านต่อแห่ง ซึ่งก็ไม่ได้มาก เพราะถ้าเป็นโรงแรมใหญ่จะมีต้นทุนหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านบาทต่อเดือน ใช้แค่ 2-3 เดือนก็หมดแล้ว

“ตอนนี้โรงแรมของเราใหม่เอี่ยมทุกแห่ง เพราะเราทุ่มงบฯรีโนเวตไปเยอะมากในช่วงตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด เช่น อมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ ใช้งบฯรีโนเวตไปประมาณ 1,200 ล้านบาท ตอนนี้ก็เสร็จเรียบร้อย เตรียมเปิดตัวในภาพลักษณ์ใหม่ หรือโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ปีที่ผ่านมาใช้งบฯรีโนเวตไปประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งก็มองว่าเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับรองรับตลาดที่จะเปิดกลับมาอีกครั้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิกฤตที่ผ่านมานั้นทำให้เป็นหนี้ในระยะที่ยาวขึ้นด้วย”

หยุดลงทุนยาว 3 ปี

สำหรับการลงทุนในโรงแรมแห่งใหม่ของตัวเองจะชะลอไปอย่างน้อย 3 ปี เพื่อประคองให้ธุรกิจก้าวผ่านภาวะวิกฤตนี้ไปก่อน โดยขณะนี้มีการลงทุนที่ค้างไว้ 1 แห่ง คือที่มัลดีฟส์ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุน คาดว่าน่าจะเสร็จพร้อมเปิดในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 “ออนิกซ์” ยังมีแผนเปิดให้บริการโรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์แห่งใหม่ อีก 8-10 แห่ง ใน 3 ประเทศ คือ ไทย, จีน และมาเลเซีย ซึ่งเป็นส่วนของการรับจ้างบริหาร และในปี 2564 อีก 12 แห่ง

ไม่คาดหวัง “เปิดประเทศ”

ต่อคำถามว่า ไทม์ไลน์การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัวของรัฐบาลที่จะเริ่ม 1 กรกฎาคมนี้ เป็นปัจจัยบวกมากน้อยแค่ไหน “ยุทธชัย” บอกว่า ส่วนตัวยังไม่คาดหวังอะไรเลย บรรยากาศโดยรวมยังไม่ได้ จึงมองเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากกว่า เนื่องจากประเมินว่าปีนี้ ต่างชาติที่จะเข้ามายังมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มไฮเอนด์ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มหลักที่เข้ามาท่องเที่ยว

“ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในหลายประเทศก็ยังไม่นิ่ง ผมมองว่าถ้าเรายังไม่ได้ฉีดวัคซีนก็ยังไม่ปลอดภัย แต่ถึงฉีดวัคซีนแล้วก็ไม่ได้แปลว่าป้องกันได้ 100% เหมือนกัน ซึ่งผมมองว่าในอุตสาหกรรมโรงแรม อย่างน้อยต้องใช้เวลาประคับประคองอีก 2 ปี เพื่อจะให้เราอยู่ในจุดคุ้มทุนได้”

ธุรกิจโรงแรมไม่มีวันตาย

“ยุทธชัย” ยังบอกด้วยว่า แม้ส่วนตัวจะมองว่ายังต้องใช้เวลาอีกราว 2 ปี สำหรับการทำให้ธุรกิจกลับมารีคัฟเวอร์ได้ แต่ก็ยังมั่นใจว่าธุรกิจโรงแรมไม่มีวันตาย และคนทั่วโลกยังต้องเดินทางท่องเที่ยว เพียงแต่รูปแบบของการบริหารจัดการ รวมถึงโครงสร้างด้านต้นทุน วิธีการขาย การตลาด ฯลฯ ต้องเปลี่ยนไป ทำอย่างไรถึงจะเกิดการซื้อ หรือต้องมีกิมมิกการขายที่หลากหลายขึ้น

“ต้องดูว่า ณ เวลานั้น ๆ ต้องขายให้ได้ราคา หรือต้องการขายให้ได้วอลุ่ม อย่างสถานการณ์ในตอนนี้ เราต้องเน้นขายให้ได้วอลุ่ม เพราะการดันราคาขายให้สูงขึ้น เป็นเรื่องที่ยากมาก จึงต้องตัดสินใจว่าทำอย่างไรให้มีรายได้เข้ามา”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทอิตัลไทยบอกอีกว่า แม้ธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมาก แต่กลุ่มอิตัลไทยยังมีธุรกิจในฟากของธุรกิจรับเหมา งานวิศวกรรม และการก่อสร้าง และธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรช่วยประคับประคองในด้านรายได้ และปีนี้เตรียมตั้ง 2 บริษัทใหม่รองรับการทำธุรกิจโซลาร์ลูฟ และบริษัทเทรดดิ้ง ต่อยอดจากธุรกิจเอ็นจิเนียริ่ง

โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้รวม 13,500 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จากกลุ่มฮอสพิทาลิตี้และไลฟ์สไตล์ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 30-40% จากช่วงก่อนโควิด มีสัดส่วนถึง 60-70% โดยกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง วางระบบ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนัก อาจขยับไปได้ถึง 70% เนื่องจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมนั้นยังต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ที่จะทำให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้