“สวนสยาม” ย้ำเปิดบริการ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด

สวนสยาม
สัมภาษณ์

หลังจากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศเรื่องมาตรการควบคุม “โควิด” โดยสั่งปิดสถานบันเทิง-ผับ-บาร์-คาราโอเกะ งดงานรื่นเริง งานประชุมสัมมนาเกิน 50 คน ฯลฯ รวมถึงร้านอาหาร-ห้างสรรพสินค้า (ปิด 21.00 น.) และงดให้บริการในส่วนของเครื่องเล่น ที่เล่นเกม และสวนสนุกในห้างทั้งหมด โดยมีผลเวลา 00.01 น. ของวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา

ประกาศดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับธุรกิจ “สวนสนุก” ขนาดใหญ่อย่าง “สวนสยาม” หรือ สยามอะเมซิ่งพาร์คเป็นอย่างมาก ว่าต้องถูกปิดตามประกาศดังกล่าวด้วยหรือไม่ กระทั่ง “ดร.ไชยวัฒน์ เหลืออมรเลิศ” ประธานที่ปรึกษา ออกแถลงการณ์ว่า สวนสนุกแห่งนี้ได้รับความกรุณาจากภาครัฐว่าเป็นสถานที่ที่ประชาชนยังสามารถมาพักผ่อนหย่อนใจ คลายความเครียดได้ พร้อมยืนยันว่า “สวนสยาม” ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

ขณะที่ “สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจสวนน้ำสวนสนุก บริษัทสยามพาร์คบางกอก จำกัด ผู้บริหารสยามอะเมซิ่งพาร์ค หรือสวนสยาม-ทะเลกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทาง แนวทางการให้บริการภายใต้ภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไว้ดังนี้

สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ
สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจสวนน้ำสวนสนุก บริษัทสยามพาร์คบางกอก จำกัด ผู้บริหารสยามอะเมซิ่งพาร์ค หรือสวนสยาม-ทะเลกรุงเทพฯ

ยันเปิดบริการตามปกติ

“สิทธิศักดิ์” บอกว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” หรือ สวนสยามได้หยุดให้บริการไปถึง 5-6 เดือน โดยเป็นกลุ่มธุรกิจแรก ๆ ที่รัฐบาลสั่งปิดให้บริการนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่รัฐประกาศให้กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2563

และถูกสั่งปิดอีกครั้งเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 หลังจากที่ประเทศเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอก 2 คลัสเตอร์สมุทรสาคร ครั้งนี้ต้องปิดให้บริการไปอีก 1 เดือน

ล่าสุดประเทศไทยเราต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิดอีกครั้งเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ครั้งนี้หลายธุรกิจถูกภาครัฐประกาศปิดให้บริการ หลายธุรกิจถูกกำหนดเวลาเปิดให้บริการ เป็นเวลา 14 วัน สำหรับ “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” นั้นได้รับความกรุณาจากภาครัฐให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข

ชูมาตรฐาน D-M-H-T-T

“สิทธิศักดิ์” บอกอีกว่า ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดขึ้น ๆ ลง ๆ เช่นนี้ “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” ยังมีความมั่นใจอย่างหนึ่งว่า ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 300 ไร่ อีกทั้งยังเป็นสวนสนุกแบบเปิด (out door) เชื่อว่าสถานที่แห่งนี้มีความปลอดภัยสูง ทุกคนสามารถเข้ามาเที่ยวและพักผ่อนได้

ขณะเดียวกันทางสวนสนุกก็มีมาตรการด้านความปลอดภัยตามกฎของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) ด้วยมาตรฐานการบริการที่ยึดหลัก D-M-H-T-T โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทั้งการคัดกรองเข้มงวด รักษาระยะห่างบนเครื่องเล่นและจุดบริการ และหมั่นทำความสะอาดพื้นที่จุดสัมผัสร่วม ฯลฯ

โดย D : Distancing คือ เว้นระยะห่างที่นั่งบนเครื่องเล่นทุกชนิด และระยะห่างในพื้นที่บริการ

M : Mask Wearing คือผู้ใช้บริการและพนักงานทุกคนสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ใช้บริการ

H : Hand Washing คือทำความสะอาดเครื่องเล่นหลังให้บริการทุกรอบ และจัดเตรียมแอลกอฮอล์ไว้บริการทั่วบริเวณ

T : Testing คือ วัดอุณหภูมิลูกค้าและพนักงานทุกคนก่อนเข้าพื้นที่ โดยต้องมีอุณหภูมิไม่สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส

และ T : Thai Cha Na คือ เช็กอินผ่านแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ทุกครั้งเมื่อเข้าใช้บริการ

เรียกว่ามีมาตรการดูแลที่เข้มข้น ทั้งก่อนเข้าใช้บริการและระหว่างการใช้บริการ

รีโนเวตสวนน้ำรับซัมเมอร์

ไม่เพียงเท่านี้ “สุทธิศักดิ์” บอกว่า ในช่วงระหว่างที่ปิดให้บริการ 5-6 เดือน เมื่อปี 2563 สวนสนุกแห่งนี้ได้ใช้โอกาสนั้นลงทุนรีโนเวตในส่วนของสถานที่และเครื่องเล่นบางส่วนด้วย หลังจากที่เครื่องเล่นบางตัวไม่ได้ปิดเพื่อซ่อมบำรุงมาระยะเวลาหนึ่ง และทาสีเครื่องเล่นใหม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่กลับมาอีกครั้ง

โดยในส่วนของ “สวนน้ำ” ได้มีการถ่ายน้ำทะเลเทียมออกเพื่อทาสีใหม่และเปลี่ยนน้ำใหม่ทั้งหมด และลงทุนประดับตกแต่งพื้นที่ในสไตล์ “อะโลฮ่า ฮาวาย” ทั่วบริเวณ พร้อมเปิดโซนใหม่ Beach Bar ริมทะเลเทียม เป็นจุดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเมนูพิเศษ และจุดถ่ายรูปเช็กอินใหม่ ๆ

พร้อมทั้งใช้งบฯราว 10 ล้านบาท จัดเทศกาล Aloha Big Holiday 2021 ขึ้นระหว่างวันที่ 3 เมษายน-16 พฤษภาคม 2564 ต้อนรับเทศกาลซัมเมอร์ ซึ่งเป็นฤดูการขายของธุรกิจสวนน้ำ-สวนสนุก โดยย่อเกาะฮาวายมาไว้ที่สวนสยาม

เร่งโปรเจ็กต์ “บางกอกเวิลด์”

“สิทธิศักดิ์” ยังบอกด้วยว่า ไม่เพียงแต่การยกระดับและมาตรฐานเครื่องเล่นเท่านั้น ที่ผ่านมา “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” ยังเร่งดำเนินการก่อสร้างสำหรับโครงการ “บางกอกเวิลด์” บนพื้นที่ 70 ไร่ด้านหน้าทางเข้าสวนสยาม ภายใต้งบฯลงทุนราว 3,000 ล้านบาท ด้วยหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของโซนกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะกลับมาในอนาคต โดยขณะนี้การก่อสร้างดำเนินการไปแล้วประมาณ 80% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2565 นี้

“ตอนนี้เรากำลังคุยกันว่าเราคงต้องปรับแผนการตลาดสำหรับโครงการ “บางกอกเวิลด์” ในช่วงเปิดโครงการ โดยหันมาเน้นเปิดให้บริการในส่วนของร้านค้าที่จับกลุ่มคนไทยเป็นหลักไปก่อน จากเดิมที่ตั้งใจทำเป็นศูนย์รวมโอท็อปขนาดใหญ่สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาค่อยทำการปรับแผนการตลาดกันอีกครั้ง”


พร้อมย้ำว่า ระหว่างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มานี้ “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” จะโฟกัสตลาดคนไทยเป็นหลัก รวมถึงออกโปรโมชั่นที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทย คาดหวังว่าปีนี้จะมีคนไทยเข้ามาเที่ยวราว 1 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19