“ท่องเที่ยว” กัดฟันรอ มาตรการรัฐ-ซอฟต์โลนต่อลมหายใจ

เที่ยวใต้

แม้ว่าที่ผ่านมา แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่กักตัวตามโมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเฟสแรก (1 เมษายน-30 มิถุนายน) ที่ลดจำนวนวันกักตัวเหลือ 7 วันสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว และ 10 วันสำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะล่มไป เพราะการแพร่ระบาดไวรัสโควิดยังรุนแรง โดยกระทรวงการต่างประเทศออกประกาศให้ผู้เดินทางเข้าไทยจากทุกประเทศจะต้องเข้ากักตัว 14 วันเหมือนเดิม แม้ว่าผู้เดินทางจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น รัฐบาลก็ได้ประกาศชะลอมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 และ “ทัวร์เที่ยวไทย” ไปด้วย เพราะสถานการณ์โดยรวมยังไม่เอื้อให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยว

เดินหน้าทั้ง ตปท.-ในประเทศ

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯยอมรับว่า แผนการลดจำนวนวันกักตัวนักท่องเที่ยว 7 วัน และ 10 วันตามโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์นั้นล้มไปแล้ว แต่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังพยายามเดินหน้าผลักดันแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัว ซึ่งกำหนดไว้ 1 กรกฎาคมนี้ ที่จังหวัดภูเก็ตต่อไป

โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ททช.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบตามแนวทางการเปิดประเทศโดยไม่กักตัว 1 กรกฎาคมนี้ ที่จังหวัดภูเก็ตแล้ว พร้อมเห็นชอบให้เพิ่มพื้นที่รับนักท่องเที่ยวโดยไม่กักตัวจากเดิม 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี (สมุย-พะงัน-เกาะเต่า) ชลบุรี (พัทยา) และเชียงใหม่ เป็น 10 จังหวัด

โดย 4 พื้นที่ใหม่ คือ กรุงเทพฯ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ต่อไป โดยแนวทางดังกล่าวนี้ ททช.จะนำเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ส่วนตลาดในประเทศนั้น “พิพัฒน์” บอกว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องชะลอโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 และ “ทัวร์เที่ยวไทย” ไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังรุนแรง อย่างไรก็ตาม กระทรวงและ ททท.จะเร่งเดินหน้ากระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศทันที หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเบาบางลง หรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือไม่เกินวันละ 200 คน

ยันวัคซีนคือคำตอบทุกเรื่อง

“ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในวันนี้ เป็นอะไรที่น่าหนักใจพอสมควร ซึ่งจากการร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้ข้อสรุปว่า คำตอบของทุกเรื่องในวันนี้ยังคงเป็นเรื่องของ “วัคซีน”

โดย สทท.อยากให้รัฐกระจายวัคซีนไปในพื้นที่ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ให้ครบตามที่วางแผนไว้ เพื่อทำให้ “ภูเก็ต” เป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดประเทศให้ได้ เพราะการเดินหน้าขับเคลื่อนต่อมีความจำเป็นมากสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“เราอยากเรียกร้องให้รัฐบาลระดมฉีดวัคซีนที่ภูเก็ตก่อนให้ครบตามเป้า เพราะคนภูเก็ตมีความพร้อมที่จะฉีด ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจในภาคท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ ถ้าวัคซีนฉีดครบเกาะภูเก็ต น่าจะเป็นโมเดลตัวอย่างให้กับในอีก 9 จังหวัดที่อยู่ในแผน”

หนุน “ภูเก็ต” เต็มที่

“ชำนาญ” บอกด้วยว่า อีกประเด็นที่ภาคเอกชนมองคือ ไม่อยากให้คิดว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” หรือที่เราเรียกกันว่า “ภูเก็ตโมเดล” เป็นแค่การนำนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่อยากให้มองเป็นต้นแบบของการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัว เพราะภูเก็ตมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายวัคซีน รวมถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการ และเตรียมพร้อมหลังจากโควิดเบาบางลงด้วยว่าแผนฟื้นฟูที่จะออกมาเป็นอย่างไร

“แม้ว่ามีประกาศกระทรวงการต่างประเทศออกมา หรือข้อมูลหลาย ๆ ประเด็นของกระทรวงสาธารณสุขออกมาเป็นระยะ แต่ภาครัฐเองก็ยังคงยืนยันแผนเปิดประเทศตามเดิม เราจึงต้องร่วมผลักดันอย่างเต็มที่”

“ชำนาญ” อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า สิ่งที่เอกชนรับรู้เวลานี้คือ แผนการเปิดภูเก็ต 1 กรกฎาคมนี้ ล่าช้าแน่นอน แต่ยังยืนยันว่า หากเราไม่วางแผนอะไรเลย ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ ซึ่งหากรอให้สถานการณ์พร้อมแล้วค่อยเตรียมแผนฟื้นฟู ก็อาจจะล่าช้าเกินไป

หวังซอฟต์โลนต่อลมหายใจ

นอกจากนี้ เรื่องของ “ซอฟต์โลน” ก็ยังคงเป็นประเด็นที่คนท่องเที่ยวต้องการ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ย่ำแย่มาก หากภายใน 3 เดือนนี้ ธุรกิจยังเดินไม่ได้ หลายกิจการจำเป็นต้องปิดตัว เพราะไม่สามารถประคองตัวได้แล้วจริง ๆ

“ตอนนี้ก็ถือเป็นข่าวดีที่รัฐบาลส่งสัญญาณเรื่องซอฟต์โลนว่า รอบนี้น่าจะทำให้หลายผู้ประกอบการเข้าถึงได้บ้าง มีการปรับลดเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้โอกาสเข้าถึงน่าจะมากขึ้น และน่าจะถึงรายเล็ก ๆ มากขึ้น”

พร้อมย้ำว่า ในเวลานี้ซอฟต์โลนเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วนเช่นกัน เพื่อนำมาต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการอยู่รอดต่อไป เพราะการปล่อยให้ธุรกิจล้มหายตายจากก็เป็นภาระหนักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเหมือนกัน

“วันนี้ต้องยอมรับว่า คนไทยเองก็ไม่มั่นใจในด้านการท่องเที่ยว ทุกอย่างอยู่ในภาวะนิ่งสนิท ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการในภูเก็ต, กระบี่, พังงา, พัทยา รวมถึงหัวหิน ตอนนี้โรงแรมทุกแห่งแทบไม่มีคนเข้าพัก แห่งที่มีคนเข้า ก็มีอัตราการเข้าพักไม่เกิน 5% และหลายแห่งก็เตรียมปิดตัว”

ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลปล่อยซอฟต์โลนออกมาประคองธุรกิจในช่วงนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการพอมีสภาพคล่องและรักษาธุรกิจไว้รองรับเมื่อท่องเที่ยวเริ่มกลับมาอีกครั้ง

วอนปรับเงื่อนไขมาตรการกระตุ้น

ขณะที่ “ธนพล ชีวรัตนพร” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเลื่อนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้อให้คนเดินทางระหว่างจังหวัด เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังสูง

แน่นอนว่า การเลื่อนทั้ง 2 โครงการออกไป ทำให้แผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศสำหรับปีนี้อาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย ทาง สทน.อยากให้รัฐบาลพิจารณาปรับเงื่อนไขของโครงการเพิ่มเติม เพื่อให้คนไทยที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวเข้าถึงมาตรการได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย เนื่องจากสถานการณ์และความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวในปัจจุบันอยู่ในภาวะติดลบในทุก ๆ ด้าน

“เมื่อเราสามารถคุมการแพร่ระบาดได้มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาต้องแรงและดึงดูดมากกว่าเดิม เพื่อกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยว โดยเงื่อนไขที่บางอย่างที่อยากให้ปรับคือ ให้สามารถใช้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ รวมถึงรูปแบบวิธีการจองห้องพักและแพ็กเกจเดินทางท่องเที่ยว ก็ต้องง่ายขึ้นเช่นกัน”

คาด มิ.ย.คนไทยกลับมาเดินทาง

โดยที่ผ่านมาทาง สทน.ได้ทำหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาปรับเงื่อนไขการเข้าถึงมาตรการกระตุ้นไปที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้ว โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์หลังโควิดระลอก 3 เปลี่ยนไปจากตอนนี้แน่นอน

และหวังว่า สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจะกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันนี้คนท่องเที่ยวเจ็บหนักทุกเซ็กเตอร์ จึงอยากให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นให้แรงกว่าเดิม เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้