ททท.โหมโรง “แซนด์บอกซ์” ผนึก “เอเย่นต์-แอร์ไลน์” ปลุกภูเก็ต

ยุทธศักดิ์ สุภสร
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทุกส่วนยังคงเดินหน้าเตรียมความพร้อมอย่างหนักสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติ 1 กรกฎาคมนี้ ที่จังหวัดภูเก็ต และในอีก 9 จังหวัด ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ประกอบด้วย กระบี่, พังงา, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย, พะงัน, เกาะเต่า), ชลบุรี (พัทยา), เชียงใหม่, กรุงเทพฯ, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ ตามโรดแมป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวสำหรับในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 นี้ ไว้ดังนี้

เตรียมความพร้อม 3 ด้าน

“ยุทธศักดิ์” บอกว่า แนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่องทั้ง 10 จังหวัดนั้น หลัก ๆ แล้วประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่

1.แผนการพัฒนาด้านซัพพลายไซด์ เช่น เรื่องของสุขอนามัย ความปลอดภัย การปรับภูมิทัศน์ ความเป็นเจ้าบ้านที่ดี รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อเตรียมรองรับการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า กลุ่มศักยภาพใช้จ่ายสูงตามนโยบายรัฐบาล

2.แผนการกระจายและฉีดวัคซีน ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันติดตามและแก้ปัญหา หากพื้นที่ไหนได้รับวัคซีนไม่ครบตามเป้าที่วางไว้ว่าต้องปรับวิธี หรือปรับพื้นที่การฉีดก่อนและหลังอย่างไร รวมถึงแผนการบริหารความเสี่ยงของพื้นที่และความพร้อมด้านสาธารณสุขหากมีการแพร่ระบาดซ้ำ

และ 3.แผนการตลาด ซึ่งถือเป็นงานที่ ททท.รับผิดชอบโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทำการตลาด ทั้งแนวทางการดำเนินงานการประสานงาน การคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาจังหวัดภูเก็ตในช่วงไตรมาส 3 และอีก 9 จังหวัดในช่วงไตรมาส 4

“ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ประธานบอร์ด ททท.ได้ย้ำว่า ทั้ง 3 แนวทางหลัก ๆ นี้ ทุกพื้นที่ที่เป็นพื้นที่นำร่องในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเราต้องทำไปพร้อม ๆ กัน ฉะนั้น ทุกพื้นที่ต้องมีแผน ตอนนี้ผมเองได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯลงไปดูในแต่ละพื้นที่ ทำแผน และต้องทำงานร่วมกับทางสภาพัฒน์อย่างใกล้ชิด”

นักท่องเที่ยวลุ้นเปิด “ภูเก็ต”

“ยุทธศักดิ์” บอกด้วยว่า สำหรับภูเก็ตซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโมเดล “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนแล้วพอสมควร

โดยได้วัคซีนมาแล้วประมาณ 2 แสนโดส ต้องการอีก 2 แสนโดสภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และในระยะต่อไป ซึ่งต้องเอาใจช่วยให้แผนการกระจายวัคซีนลงภูเก็ตทำได้ตามแผน เนื่องจากเรื่องจำนวนวัคซีนที่ภูเก็ตต้องการนั้นได้ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมาแล้ว

แต่ด้วยตัวแปรใหม่ ๆ และมีคลัสเตอร์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวันทั่วประเทศ จึงต้องคอยมอนิเตอร์ว่านโยบายการกระจายวัคซีนของรัฐจะส่งผลกระทบต่อเรื่องการเปิด “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” หรือไม่ อย่างไรต่อไป แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่าขณะนี้รัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศพอ ๆ กับการดูแลทางด้านสาธารณสุขด้วย

อย่างไรก็ตาม ททท.ได้ให้สำนักงานตัวแทนในต่างประเทศสำรวจความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในตลาดยุโรปส่วนใหญ่ไม่กังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยมากนัก

เช่นเดียวกับบรรดาเอเย่นต์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดของประเทศไทย อาจเป็นเพราะว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่อยู่ในระดับ 2,000-3,000 คนนั้นถือว่าน้อยมากหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ สิ่งที่เอเย่นต์และนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกังวล คือ การแพร่ระบาดรอบใหม่นี้จะทำให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนใจไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโรดแมปเดิมหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ททท.ในต่างประเทศยังให้ข้อมูลยืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าเปิดประเทศตามแผนเดิมที่ได้ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าไปแล้ว

ผนึกเอเย่นต์-แอร์ไลน์ปลุกตลาด

สำหรับแผนการทำการตลาดนั้น “ยุทธศักดิ์” บอกว่า สิ่งสำคัญที่พยายามสื่อถึงนักท่องเที่ยวในต่างประเทศขณะนี้ คือ ทำให้พวกเขามองไปที่การจัดการเตรียมความพร้อมของ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” เป็นหลัก ไม่ใช่ประเทศไทยทั้งประเทศ โดยกลยุทธ์การทำการตลาด เฉพาะพื้นที่ลักษณะนี้ ททท.เคยดำเนินการมาแล้วในหลายครั้ง

อาทิ ในช่วงที่ประเทศไทยมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในกรุงเทพฯ แต่ภูเก็ต, เชียงใหม่ ฯลฯ ยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ เป็นต้น ซึ่งแนวทางการสื่อสารขณะนี้ คือ การสื่อสารให้นักท่องเที่ยวโฟกัสเฉพาะพื้นที่ภูเก็ต และ 10 จังหวัดที่อยู่ในแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก

พร้อมทั้งตอกย้ำเรื่องความปลอดภัย มาตรฐานของระบบสาธารณสุข รวมถึงความพร้อมต่าง ๆ ของซัพพลายไซด์ โดยในเบื้องต้นนี้จะเลือกสื่อถึงกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในตลาดระยะไกล และเป็นกลุ่มลูกค้าเก่าที่รู้จักและคุ้นเคยกับประเทศไทยเป็นอย่างดีแล้วเป็นหลัก ยังไม่เน้นกลุ่มที่เดินทางครั้งแรก

นอกจากนี้ ยังเจรจากับสายการบินทั้งที่บินตรงเข้าภูเก็ต และผู้ให้บริการชาร์เตอร์ไฟลต์ (เช่าเหมาลำ) รวมถึงสายการบินที่บินตรงเข้าสุวรรณภูมิด้วย หากคาพาซิตี้ของเที่ยวบินที่บินตรงภูเก็ตรองรับไม่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาได้เจรจากับทางบริษัทท่าอากาศยานไทยให้เตรียมพื้นที่รองรับแล้ว

ไม่เพียงเท่านี้ ยังเตรียมคุยกับบริษัทเอเย่นต์ทัวร์ในต่างประเทศ เพื่อเตรียมเสนอขายแพ็กเกจนำเที่ยวเข้าภูเก็ต และเส้นทางเชื่อมโยงไปจังหวัดใกล้เคียง

“ตอนนี้ราคาแพ็กเกจทัวร์ 7-8 วัน ที่เอเย่นต์เตรียมนำเสนออยู่ระหว่าง 1.5-2.2 แสนบาทต่อแพ็กเกจ สูงกว่าราคาที่เราเคยขายก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้เชื่อว่าน่าจะทำให้การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวหลังโควิดปรับตัวสูงขึ้น หรือมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ราว 75,000 บาทต่อคนต่อครั้ง จากเดิมประมาณ 50,000 บาทต่อคนต่อครั้ง”

ตั้งเป้า Q3 นทท. 1.29 แสนคน

ผู้ว่าการ ททท.ยังบอกอีกว่า หลักการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น นอกจากเรื่องของการกระจายฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุม 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) แล้ว ยังขึ้นอยู่กับนโยบายการเดินทางออกนอกประเทศของประเทศอื่น ๆ ที่ต้องกลับไปแล้วไม่กักตัวด้วยเช่นกัน

“ตอนนี้เราดำเนินการด้านการตลาดบางส่วนไปแล้ว โดยตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 3 เดือนแรกของการเปิด คือ ระหว่าง 1 กรกฎาคม-30 กันยายนนี้ หรือในไตรมาส 3 รวมที่ 1.29 แสนคน ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้สูงเพราะเฉลี่ยที่ราว 3-4 หมื่นคนต่อเดือนนั้นไม่ถือว่าสูงจนเกินไปนัก”

สำหรับเป้าหมายระยะยาวเมื่อเปิดพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวอีก 9 จังหวัด ตามแผนในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งปีสำหรับปีนี้จะอยู่ที่ 3-4 ล้านคน หรือมีรายได้รวมที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท

ซับซิไดซ์ตั๋วบินภูเก็ตไปทั่ว ปท.

“ยุทธศักดิ์” ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ตามมาตรการของ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” เข้าภูเก็ตโดยไม่กักตัวนั้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาต้องอยู่ในภูเก็ต 7 วัน หลังจากนั้น สามารถที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้ โดยขณะนี้ ททท.ได้เตรียมแผนทำโปรโมชั่นร่วมกับสายการบินภายในประเทศโดยให้เงินอุดหนุนบางส่วน (subsidize) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการออกจากภูเก็ตไปจังหวัดไหนก็ได้ทั่วประเทศจำนวน 1 แสนใบ

ทั้งนี้ เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตให้เดินทางไปท่องเที่ยวและใช้จ่ายในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เห็นว่าพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศก็ได้ประโยชน์จากการเปิดภูเก็ตด้วยเช่นกัน