“ดุสิตธานี” ฝ่าวิกฤตโควิด-Q1 กวาดกำไร 74 ล้าน

เครือดุสิตธานี

“ดุสิตธานี” ฝ่าวิกฤตโควิดระลอก 2 เผยไตรมาส 1/64 กวาดกำไร 74 ล้านบาท โรงแรมในประเทศทำรายได้ทั้งจากค่าห้องพัก-ที่ไม่ใช่ห้องพัก ขณะที่ในต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวกลับมาให้บริการได้ตามปกติแล้วบางส่วน

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมของสถานการณ์โรงแรมในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สมุทรสาครในช่วงเดือนมกราคม แต่สถานการณ์ดังกล่าวอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่กระจายไปทั่วประเทศ ทำให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ โรงแรมในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงทำรายได้ทั้งจากค่าห้องพัก และรายได้ที่ไม่ใช่ห้องพัก

เช่น การตั้งร้านพ็อปอัพสำหรับจำหน่ายอาหาร การส่งอาหารแบบดีลิเวอรี่ รวมถึงการให้บริการอื่น ๆ ของ Dusit on Demand ซึ่งเป็นความพยายามปรับ business model หรือโครงสร้างธุรกิจ เพื่อรับมือกับโควิด-19

ขณะที่ธุรกิจโรงแรมของกลุ่มดุสิตธานีในต่างประเทศสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ จากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยหลายประเทศได้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ไปแล้ว ทำให้ธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งโรงแรมในต่างประเทศของกลุ่มดุสิตธานีสามารถทำผลงานได้ในระดับที่น่าพอใจ

ทั้งในประเทศจีน ประเทศแถบตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และมัลดีฟส์ สะท้อนให้เห็นว่าการกระจายการลงทุนของดุสิตธานีที่มีทั้งโรงแรมในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถตอบโจทย์การกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ บริษัทยังทำการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งเป็นงานหลังบ้านที่เมื่อสามารถปรับกระบวนการทำงานได้แล้วก็จะทำให้องค์กรมีความกระชับขึ้น คล่องตัวขึ้น และใช้เป็นคลัสเตอร์โมเดลที่พนักงานสามารถทำงานได้หลายหน้าที่ และสามารถแบ่งปันทรัพยากรในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเรื่องการประหยัดต้นทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

ทำให้เผยผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2564 มีรายได้รวม 1,311 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว มีกำไรสุทธิได้ 74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดทุนสุทธิ 82 ล้านบาท

“ผลประกอบการในไตรมาสนี้ยังไม่ได้สะท้อนการระบาดของโควิดระลอก 3 ซึ่งกระจายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ และคาดว่าจะส่งผลกดดันผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ที่อัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนยังคงต้องระมัดระวังในการบริหารสภาพคล่องและเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อรองรับสถานการณ์ตลอดเวลา” นางศุภจีกล่าว

และว่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีความพยายามที่จะรักษาความสามารถในการทำกำไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้น รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเพื่อรอวันธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หลังจากที่มีการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง