“ธุรกิจไมซ์” ร่วงยาว ! คาดอีก 4 ปี (ถึง) จะกลับมาเท่าปี’62

ธุรกิจไมซ์

แม้ว่ารัฐบาลจะเปิดให้นักเดินทางกลุ่มธุรกิจชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามามาในประเทศไทยได้เป็นกลุ่มพิเศษตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ธุรกิจไมซ์ของไทยก็ยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่ต่างจากธุรกิจท่องเที่ยวในเซ็กเตอร์อื่นๆ เช่นกัน

“จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังคงกระทบต่อธุรกิจไมซ์ (ประชุมสัมมนา, อินเทนซีฟ, คอนเวนชั่นและอีเวนต์) ต่อเนื่องมาถึงปีงบประมาณ 2564 ซึ่งคาดการณ์ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณนี้หนักกว่างบประมาณปี 2563 เนื่องจากในปีนี้ธุรกิจไมซ์ได้รับผลกระทบทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ

ปี 2564 (ยัง) ท้าทายสูง

ทำให้การเดินทางของตลาดไมซ์ต่างประเทศยังคงมีความท้าทายสูงและยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่นักในปีนี้ โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจไมซ์สำหรับปี 2564 นี้ น่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องอีกประมาณ 90% เมื่อเทียบกับปี 2563 ขณะที่ในปี 2563 นั้น ธุรกิจไมซ์ได้รับผลกระทบในช่วงล็อกดาวน์ และกระทบหนักกับตลาดต่างประเทศเท่านั้น ตลาดภายในประเทศบางส่วนยังสามารถจัดได้ ทำให้ตัวเลขรายได้ของปี 2563 ลดลงแค่ราว 60% เมื่อเทียบกับปี 2562

ทั้งนี้ หากเทียบกับตัวเลขรายได้ของปี 2562 ซึ่งเป็นปีปกติก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น น่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 ปี หรือราวปี 2568 กว่าธุรกิจไมซ์ของประเทศไทยจะพลิกฟื้นกลับมาได้ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้ ธุรกิจจะกลับมาในระดับประมาณ 25% ปี 2566 กลับมาได้ราว 50% และเพิ่มเป็นประมาณ 70% ในปี 2567 และกลับสู่ภาวะปกติได้ในปี 2568 หรือมีอัตราประมาณ 80%

ทั้งนี้ จะเน้นการทำการตลาดด้วยการดึงงานและเจาะกลุ่มตลาดระยะใกล้และมีความพร้อมก่อน เช่น สิงคโปร์, จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย และไต้หวัน เป็นต้น (อาจมีการปรับคาดการณ์ตามสถานการณ์อีกครั้ง)

กระตุ้นใน ปท.ลดพึ่งพา ตปท.

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดไมซ์ในประเทศนั้น “จิรุตถ์” ให้ข้อมูลว่า ยังคงเป็นเป้าหมายหลักในการกระตุ้นตลาดในช่วงแรกและพัฒนาต่อยอดให้มีความยั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ โดยเน้นการประชุมสัมมนาภาครัฐและเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อนพร้อมกับการสร้างแรงงาน และกระจายงานสู่ภูมิภาค เพื่อฟื้นฟูให้ผู้ประกอบการอยู่รอดและกลับมาแข็งแรง

โดยคาดว่าในปี 2564 นี้จะกลับมาที่ราว 35% และเพิ่มเป็น 60% ในปี 2565 และที่ 80% ในปี 2566 และกลับสู่ปกติ 100% ในปี 2567 จากนั้นในปี 2568 จะกลับมาเติบโตเป็น 110%

“การฟื้นตัวของธุรกิจไมซ์นั้นขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีน การควบคุมโรคระบาด นโยบายในการเปิดให้คนเดินทางออกนอกประเทศของแต่ละประเทศ สายการบิน โรงแรม ฯลฯ” จิรุตถ์อธิบาย

เตรียมพร้อมผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ทีเส็บยังคงเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไมซ์ในทุกด้าน โดยขณะนี้ได้เตรียมดำเนินการใน 3 โครงการหลัก ประกอบด้วย 1.เตรียมความพร้อมบุคลากรไมซ์ฉีดวัคซีน โดยหารือร่วมกับ 3 สมาคมอุตสาหกรรมไมซ์ ได้แก่ TICA, TEA และ EMA ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลและรายได้บุคลากรไมซ์ที่ต้องการฉีดวัคซีน โดยทีเส็บจะเป็นผู้ดำเนินการและประสานงานหลักกับกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข

2.เตรียมความพร้อมสถานที่จัดงานศูนย์ประชุมที่ปรับพื้นที่รองรับผู้ติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน อาทิ อิมแพ็ค, ศูนย์ประชุมหาดใหญ่, ศูนย์ประชุมเชียงใหม่ ฯลฯ ให้มีความพร้อมเพื่อกลับมาดำเนินธุรกิจและรองรับการจัดงานไมซ์ได้เหมือนเดิมโดยเร็ว เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง

และ 3.เร่งกระตุ้นการจัดงานไมซ์ภายในประเทศ โดยสานต่อโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า เฟส 3” ปัจจุบันมีผู้ขอรับการสนับสนุนและอนุมัติแล้วรวม 148 โครงการ หลังจากเปิดโครงการมาตั้งแต่ 16 เมษายน 2564 (ขอรับการสนับสนุนได้จนถึง 15 กันยายน 2564 และจัดกิจกรรมได้ถึง 20 ตุลาคม 2564)

ผนึก 5 แอร์ไลน์รับเปิดภูเก็ต

“จิรุตถ์” ยังพูดถึงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-มีนาคม 2564) ด้วยว่า ตลาดต่างประเทศมีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ และรายได้ลดลงประมาณ 90% เมื่อเทียบกับปี 2563 ขณะที่ตลาดในประเทศพบว่ามีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ลดลงประมาณ 60% และมีรายได้ลดลงประมาณ 70% เมื่อเทียบกับปี 2563

โดยในปีงบประมาณ 2564 นี้ พบว่า ตลาดต่างประเทศมีจำนวนงานไมซ์ที่ยกเลิกไปทั้งหมด 14 ราย และมีงานไมซ์ที่ถูกเลื่อนออกไปทั้งสิ้น 39 งาน และงานที่ยังยืนยันจัดตามแผน 44 งาน

ส่วนงานไมซ์ภายในประเทศนั้นถูกยกเลิกการจัดงานไปทั้งหมด 14 งาน ถูกเลื่อนการจัดงาน 44 งาน และยังยืนยันจัดตามแผน 33 งาน (ดูตารางประกอบ)

ไม่เพียงเท่านี้ ทีเส็บยังได้เข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมทำตลาดไมซ์รองรับนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต 1 กรกฎาคมนี้ โดยโฟกัสทำการตลาดร่วมกับ 5 สายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินตรงเข้าภูเก็ต ได้แก่ สายการบินไทย, เอมิเรตส์, สิงคโปร์แอร์ไลน์, แอลอัลอิสราเอลแอร์ไลน์ส และกาตาร์ แอร์เวย์

ทั้งนี้ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มคอร์ปอเรต เดินทางเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เดินทางเข้ามา…