5 สมาคมท่องเที่ยว ลุ้นรัฐอนุมัติวงเงินกู้เสริมสภาพคล่อง “หมื่นล้าน” รีสตาร์ทธุรกิจ

ท่องเที่ยว

องค์กรด้านการท่องเที่ยวระดับโลกหลายสำนักคาดการณ์กันว่าภาพรวมของธุรกิจการท่องเที่ยวโลกน่าจะฟื้นตัวได้ราวปี 2567 ขณะที่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะช้ากว่านั้นอีกราว 1-2 ปี การคาดการณ์ดังกล่าวชี้ชัดว่า ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยยังติดกับดักของไวรัสโควิดไปอีกไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี

ประเด็นปัญหาเวลานี้คือ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยทุกเซ็กเตอร์ไม่สามารถกลับมารีสตาร์ตธุรกิจอีกครั้งได้ เพราะไม่ได้ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 1 ปี ขณะที่ภาครัฐกำลังเร่งขับเคลื่อนนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้นโจทย์สำคัญของรัฐในขณะนี้คือจะ “ปั๊มหัวใจ” ผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้กลับมาเต้นอีกครั้งได้อย่างไร

ธุรกิจท่องเที่ยวตายยกแผง

“ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และ “อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคม ATTA ร่วมกันให้ข้อมูลว่า จากงานวิจัยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย โดย ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ระบุว่า ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมีธุรกิจลดลงแทบจะเป็นศูนย์ตั้งแต่เดือนที่ 6 หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด และตายสนิททั้งระบบเมื่อถึงเดือนที่ 12

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจนำเที่ยว โรงแรมที่พัก การขนส่ง จำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจสันทนาการต่าง ๆ (ดูกราฟประกอบ) และเป็นไปในแนวโน้มเดียวกันทั้งเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองรอง

5 สมาคมขอ 3 มาตรการเร่งด่วน

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) จึงขอเป็นเจ้าภาพร่วมหารือกับอีก 4 สมาคมท่องเที่ยว ประกอบด้วย สมาคมโรงแรมไทย (THA), สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.), สมาคมสปาไทย และสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) มาร่วมเป็นประธาน พร้อมนำเสนอนโยบายแก้ปัญหาของภาคการท่องเที่ยวเร่งด่วน 3 เรื่องหลัก

ประกอบด้วย 1.เร่งฉีดวัคซีนให้จังหวัดท่องเที่ยว โดยจัดสรรวัคซีนให้คนในพื้นที่ รวมประชากรแฝงและชาวต่างชาติ 70% ในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว และเปิดรับนักท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด รวมถึงฉีดวัคซีนให้คนภูเก็ตตามแผน “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัว และกระจายวัคซีนสร้างความพร้อมให้กับเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่มีแผนเปิดในไตรมาส 4 นี้

2.ขอให้รัฐสนับสนุนการจัดงานประชุมสัมมนา โดยอนุญาตให้จัดประชุมในโรงแรม พร้อมกำหนดจำนวนผู้ร่วมประชุมตามขนาดจำนวนห้อง เว้นระยะห่าง 2 เมตรต่อคน และสนับสนุนมีการจัดงานประชุมสัมมนาผ่านบริษัทนำเที่ยว

และ 3.ลดเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นตลาด โดยไม่กักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง ขยายประเภทของวัคซีนเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากประเทศต้นทาง ลดวงเงินประกันการเดินทางจาก 100,000 เหรียญสหรัฐ ลงเหลือ 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือลดวงเงินสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทครอบครัว และส่งเสริมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 และ “ทัวร์เที่ยวไทย”

ชงลดค่าไฟ-ตั้งกองทุนฟื้นฟู

นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลช่วยพยุงภาคธุรกิจท่องเที่ยวในระยะยาวอีกหลายประเด็น อาทิ มาตรการช่วยค่าจ้างพนักงาน (co-payment) เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานและช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยสนับสนุนค่าจ้างพนักงาน 50% (ไม่เกิน 7,500 บาท)

สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เสียภาษีถูกต้อง พนักงานอยู่ในระบบประกันสังคม เป็นธุรกิจที่ขาดทุนระยะยาว สูญเสียรายได้ในปี 2563-2564 รวมถึงเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (ปิดกิจการชั่วคราวจากผลกระทบโควิด) ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

มาตรการลดต้นทุนค่าไฟฟ้า (ธุรกิจโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย) โดยขอลดค่าไฟฟ้า 15% เป็นระยะเวลา 7 เดือน (มิถุนายน-ธันวาคม 2564) ยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าต่ำสุด (minimum charge) ขอจ่ายตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง และขอยกเลิกการคิดค่าไฟตามช่วงเวลาการใช้ TOU (tariff on peak) หรือช่วงเวลา 09.00-22.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ตามใบแจ้งค่าไฟฟ้า เป็นเวลา 7 เดือน (มิถุนายน-ธันวาคม 2564)

และขยายระยะเวลาการผ่อนชำระค่าไฟฟ้า (ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง) แบบไม่มีดอกเบี้ย เป็นเวลา 7 เดือน เริ่มตั้งแต่มิถุนายนนี้เช่นกัน

รวมทั้งมาตรการทางด้านภาษี โดยขอขยายเวลาการอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นต่อไปอีก 5 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 5 ปี รวมเป็น 10 ปี ขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ออกไปอีก 2 ปี เป็นต้น

และมาตรการฟื้นฟูและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว โดยเสนอจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว” เพื่อดูแลผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะ และจัดหาเงินช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยให้สถาบันการเงินออกเงื่อนไขพิเศษในการปล่อยสินเชื่อกับบริษัทหรือบุคคล และอนุมัติสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง

ดันเงินเสริมสภาพคล่องหมื่นล้าน

ด้าน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่าในระยะเวลาเร่งด่วนนี้ กระทรวงจะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพื่อขอให้พิจารณาวงเงินสำหรับเป็นเงินเสริมสภาพคล่องในการเปิดธุรกิจมูลค่า 1 หมื่นล้านบาทให้กับผู้ประกอบการนำไปรีสตาร์ตธุรกิจ

และเตรียมพร้อมสำหรับรองรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมาในไตรมาส 4 นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ในอีก 9 จังหวัดที่มีแผนเปิดในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

โดยเงินกู้ดังกล่าวจะเป็นวงเงินกู้ภายใต้เงื่อนไขพิเศษสำหรับผู้ประกอบการบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการโกดังพักหนี้และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) หรือเป็นกลุ่มที่ไม่มีสินทรัพย์สำหรับเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยใช้เงื่อนไขให้ผู้กู้สามารถค้ำประกันแบบไขว้กันได้

“วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทที่พูดกันนี้เป็นวงเงินที่ 5 สมาคมท่องเที่ยวได้นำเสนอมา ซึ่งเรามองว่าจะไปขอมาจากวงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนหลักการพิจารณาวงเงินนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละรายเป็นหลัก”

สำหรับกระบวนการขั้นตอนการดำเนินงานนั้น “พิพัฒน์” ย้ำว่า จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด หรือทันเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินไปหมุนเวียนและกลับมาเริ่มต้นธุรกิจกันได้ทันช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจท่องเที่ยวของไทย

เชื่อวัคซีนเป็นไปตามเป้า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังบอกอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนนั้น เชื่อว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ต้องครอบคลุม 70% ของพื้นที่ภูเก็ตแล้วเพื่อให้จังหวัดภูเก็ตสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามแผน “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ในเดือนกรกฎาคมนี้

ส่วนพื้นที่อื่น ๆ คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้น่าจะครอบคลุมได้ในระดับหนึ่งแล้วเช่นกัน เพื่อให้สามารถเปิดเมืองท่องเที่ยวอีก 9 จังหวัดเป็นไปตามแผน


ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์ในการเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาดำเนินธุรกิจกันอีกครั้งหลังจากที่เผชิญกับวิกฤตโควิดกันมาร่วม 1 ปีครึ่ง…