ภารกิจใหม่ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ดัน “การบินไทย” พ้นล้มละลาย

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร การบินไทย
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร การบินไทย
สัมภาษณ์

ทันทีที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยเมื่อเช้าวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมาในช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้น “การบินไทย” ยังมีประชุมกรรรมการ (บอร์ด) เพื่อรับทราบกรณีศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟู รวมถึงพิจารณาบทบาทหน้าที่ทีมบริหารทันที

พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบให้ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาออก พร้อมกรรมการบอร์ดอีก 3 คน คือ พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ศิษยะศริน ประธานบอร์ด นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองประธาน และนายบุญทักษ์ หวังเจริญ กรรมการอิสระ โดยมีผลตั้งแต่15 มิถุนายน 2564

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการลาออกจากตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรการบินไทยในฐานะ 1 ในผู้บริหารแผนฟื้นฟู ไว้ดังนี้

เริ่มนับ 1 แผนฟื้นฟูทันที

“ชาญศิลป์” บอกว่า การบินไทยได้เริ่มต้นนับ 1 สู่กระบวนการฟื้นฟูทันที นับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางผ่านแผนฟื้นฟูเมื่อ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยอำนาจการบริหารทั้งหมดนับจากนี้จะอยู่ในมือผู้บริหารแผนทั้ง 5 คน และทั้ง 5 คนต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และนำความรู้ความสามารถของแต่ละคนที่มีแตกต่างกันมาช่วยกันขับเคลื่อนให้เร็วที่สุด หรือเป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่ร่วมกันขับเคลื่อน

และสามารถที่จะดำเนินการเป็นผู้วางแผนส่งต่อมาถึงผู้ปฏิบัติการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร ซึ่งทุกอย่างมีข้อกำหนดอยู่แล้ว เพราะวันนี้ปัญหาของการบินไทยมีเยอะมาก ทั้งปัญหาโครงสร้างหนี้ โครงสร้างทุน เครื่องบิน ฯลฯ หลายเรื่องหลายประเด็นยังรอการดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามแผนโดยเร็ว

โฟกัสงาน “บริหารแผน”

พร้อมอธิบายว่า โครงสร้างโดยรวมหลังแผนฟื้นฟูนั้นการบินไทยยังมีบอร์ดบริหารเหมือนเดิม แต่อำนาจการบริหารทั้งหมดจะไปอยู่ที่ผู้บริหารแผนแทน ส่วนซีอีโอ หรือดีดี จะบริหารงานที่เป็น day to day

เมื่อถามถึงเหตุผลในการลาออกจากตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารการบินไทย “ชาญศิลป์” บอกว่า ไม่มีอะไร มีเหตุผลเดียวคือ เมื่อตนเป็นผู้บริหารก็ไม่ควรจะต้องเป็นซีอีโอด้วย เพื่อที่จะได้มาทุ่มเทและทำงานในด้านที่ตัวเองถนัด

“อย่างที่ผมเคยบอกว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่บอร์ดพิจารณากัน ไม่ใช่ผมคนเดียว และผมก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องเป็นดีดี หรือซีอีโอ ส่วนตัวมองว่าถ้าผมได้ทำในสิ่งที่ถนัดน่าจะมีประสิทธิภาพกับองค์กรมากกว่า”

พร้อมอธิบายว่า ภาระกิจที่ตนเข้ามาการบินไทยตั้งแต่แรกคือ มาร่วมทำแผนฟื้นฟู เวลานี้ภาระกิจการทำแผนฟื้นฟูเสร็จแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ ร่วมกันทำให้แผนที่วางไว้บรรลุเป้าหมายและทำได้จริง ซึ่งเป็นภาระกิจที่ยากกว่า และใช้เวลาในการทำงานที่นานกว่า

“หลายเรื่องเราได้เดินหน้าทำไปแล้วในช่วงระหว่างการเขียนแผน เช่น เรื่องเครื่องบิน, โครงการองค์กร บุคลากร ฯลฯ จากนี้เราจึงต้องมาสานต่อและทำเรื่องอื่น ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย”

เดินหน้าเพิ่มรายได้-ลดต้นทุน

“ชาญศิลป์” บอกด้วยว่า ตามที่การบินไทยไทยแถลงข่าวออกไปว่า วันนี้มูลค่าหนี้ของแผนฟื้นฟูการบินไทยอยู่ที่ประมาณ 56,000 ล้านบาท ถึงวันนี้วันที่ผู้บริหารแผนเข้ามาการบินไทยได้เดินหน้าแผนสำเร็จไปแล้ว 45% โดยสามารถลดต้นทุนไปได้แล้ว 25,700 ล้านบาท ตัวเลขนี้เป็นผลจากการที่ทีมบริหารได้เริ่มดำเนินการไปล่วงหน้าแล้ว

ทั้งการเจรจาต่อรองสัญญาเช่าเครื่องบิน การปรับโครงสร้างองค์กร ลดเงินเดือน ปรับลดพนักงาน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ยังมีเป้าหมายในเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีต้นการดำเนินงานที่สามารถแข่งขันในตลาดได้

พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมาการบินไทยไม่เคยหยุดให้บริการ เพียงแต่หันไปโฟกัสเที่ยวคาร์โก้ หรือขนส่งสินค้า เที่ยวบินรับคนไทยกลับบ้าน เป็นต้น

หวัง “ภูเก็ต” ช่วยดันรายได้

สำหรับแผนการหารายได้นั้น “ชาญศิลป์” บอกว่า หากดูเรื่องของจำนวนเที่ยวบินของการบินจะพบว่าในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาการบินไทยมีจำนวนเที่ยวบินประมาณ 400 เที่ยวบินเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มี 177 เที่ยวบิน และค่อยทยอยเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดเข้ามาหมุนเวียน

โดยในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 นี้จะเริ่มมีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเองก็มีการฉีดวัคซีนในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว

โดยในไตรมาส 3 นี้การบินไทยมีแผนเปิดเที่ยวบินจาก 5 เมืองในโซนยุโรปเข้าภูเก็ต ตามนโยบายเปิดภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” 1 กรกฎาคมนี้ ประกอบด้วย เที่ยวบินจากแฟรงก์เฟิร์ต, โคเปนเฮเกน, ลอนดอน, ปารีส และซูริก ส่วนเส้นทางที่ใช้เวลาทำการบิน 3-4 ชั่วโมงนั้นจะทำการบินโดยสายการบินไทยสมายล์ เช่น พนมเปญ, ไซ่ง่อน, ฮานอย เป็นต้น

จากนั้นจะทยอยเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไตรมาส 4 อีกส่วนหนึ่งด้วย เช่น เส้นทางจากเดลี, เกาหลี, ญี่ปุ่น สู่ภูเก็ต และฮ่องกง, สิงคโปร์ สู่ภูเก็ต (โดยไทยสมายล์)

“ในส่วนของภูเก็ตนั้นแม้ว่าช่วงแรกจะยังมีจำนวนผู้โดยสารไม่มากนักแต่เราก็ต้องเริ่ม ดีกว่าไม่ทำ และปล่อยให้เครื่องจอดอยู่เฉย ๆ ซึ่งหลังจากที่ประกาศออกไปพบว่ามียอดการจองตั๋วเข้ามาแล้ว 40-50% ถือว่าโอเค ที่สำคัญยังเป็นการทดสอบความพร้อมในด้านต่าง ๆ และก็น่าจะทำให้เรามีรายได้เข้ามาช่วยหมุนเวียนอีกส่วนหนึ่งด้วย”

ลุ้น “เงินใหม่” ทยอยเข้า

สำหรับประเด็นของ “ทุนใหม่” มูลค่า 50,000 ล้านบาทที่จะต้องเข้ามาตามแผนฟื้นฟูนั้น “ชาญศิลป์” บอกว่า ณ เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเงินใหม่ตามแผนจะเข้ามาเมื่อไหร่ อย่างไร และมาในรูปแบบไหน เพิ่มทุน หรือเงินกู้ แต่ทีมบริหารก็จะเร่งเจรจาให้เข้ามาเร็วที่สุด ทั้งเจ้าหนี้รัฐบาลและเจ้าหนี้ในส่วนธนาคาร เพื่อเพิ่มทุนเสริมสภาพคล่อง โดยเงินทุนหมุนเวียนที่บริษัทเหลืออยู่ได้ไม่เกินสิ้นปีนี้

พร้อมย้ำว่า ทุนใหม่ 50,000 ล้านบาทนี้จะค่อย ๆ ทยอยเข้ามาตามความจำเป็นภายใน 3 ปีแรกนี้ ไม่ได้เข้ามาเป็นก้อนครั้งเดียว แต่ถ้าหากการบินไทยเปิดทำการบินได้มาก มีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้นความจำเป็นในการใช้เงินส่วนนี้ก็อาจไม่ได้มากนัก

ทั้งนี้ การบินไทยก็มีแผนสำรองสำหรับการบริหารสถาพคล่องด้วยการเตรียมขายสินทรัพย์รอง ประเภทตึกรามบ้านช่องที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น สำนักงานสีลม สำนังานในต่างประเทศ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าธุรกิจของการบินไทยจะทยอยกลับมาดีขึ้นได้ราว 80-90% ของปี 2562 ในราวปี 2566 และบรรลุเป้าหมายสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ให้เร็วที่สุด หรือภายใน 5 ปีตามที่กฎหมายระบุไว้…