นับเป็นก้าวแรกที่ดีไม่น้อยสำหรับการเปิด “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสในเฟสแรกของการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โดยพบว่า ในช่วง 25 วันแรก (1-25 กรกฎาคม 2565) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าภูเก็ตแล้วจำนวน 11,585 คน มีอัตราการจองโรงแรม ที่พัก SHA+ ช่วงกรกฎาคม-กันยายน 2564 รวม 271,833 คืน (room night) และมีอัตราการจองห้องพักล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565 รวม 5,064 คืน
เชื่อม 4 จังหวัดทะเลไทย 1 ส.ค.
“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุม ศบศ. สัปดาห์ที่ผ่านมาได้รายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการลดจำนวนวันสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาภูเก็ตจาก 14 วันเหลือ 7 วัน
จากนั้นในช่วง 7 วันหลังให้สามารถเชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยวไปเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า (สุราษฎร์ธานี), เกาะพีพี เกาะไหง อ่าวไร่เลย์ (กระบี่) และเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เขาหลัก (พังงา) ในรูปแบบซีลรูตที่เรียกว่า island hopping ได้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
หมายความว่า ตั้งแต่ 1 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถบินตรงเข้ามาเที่ยวประเทศไทยที่ภูเก็ตและสมุย จากนั้นจะสามารถเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวได้ถึง 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (สมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง อ่าวไร่เลย์) และพังงา (เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เขาหลัก)
ทั้งนี้ มั่นใจว่าการอยู่ในภูเก็ตเหลือ 7 วัน และเพิ่มพื้นที่เชื่อมโยงดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวสามารถเพิ่มโปรแกรมการท่องเที่ยวได้หลากหลายขึ้นและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเข้ามาเที่ยวภูเก็ตและพื้นที่เชื่อมโยงใน 4 จังหวัดทะเลใต้ของประเทศไทยได้ดีขึ้นด้วย
สายการบินรายใหม่ทยอยเข้า
ขณะที่ “ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร” รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ในเดือนสิงหาคมนี้จะมีสายการบินอีก 4 สายการบินที่จะบินตรงเข้าภูเก็ต ประกอบด้วย
กัลฟ์แอร์ ให้บริการเส้นทางบาห์เรน-ภูเก็ต จำนวน 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ไทยเวียตเจ็ท ให้บริการเส้นทางบินสิงคโปร์-ภูเก็ต จำนวน 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
คาเธ่ย์ แปซิฟิค ให้บริการเส้นทางฮ่องกง-ภูเก็ต
และโอมานแอร์ ให้บริการเส้นทางมัสกัต-ภูเก็ต จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
จากปัจจุบันที่มีสายการบินให้บริการเส้นทางบินตรงเข้าภูเก็ตแล้วจำนวนหนึ่ง ได้แก่ การบินไทย, กาตาร์ แอร์เวย์, เอมิเรตส์, เอทิฮัด, EL AL อิสราเอล และสิงคโปร์แอร์ไลน์ส (สิงคโปร์แอร์ไลน์สให้บริการ 2 เที่ยวบินต่อวัน ช่วงระหว่าง 19 กรกฎาคม-30 ตุลาคมนี้)
และเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของสายการบินดังกล่าวนี้ จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตได้ในจำนวนที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนที่นั่งของสายการบิน และเป็นไปตามเป้าที่ ททท.วางไว้คือ ประมาณ 100,000 คน ในช่วง 3 เดือนแรกนี้ (กรกฎาคม-กันยายน 2564)
เร่งสื่อสารย้ำ “ภูเก็ต” ปลอดภัย
ด้าน “ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมดูแลตลาดอินบาวนด์ หรือนักท่องเที่ยวขาเข้า วิเคราะห์ว่า ภาพรวมที่เกิดขึ้นขณะนี้ถือว่า “ภูเก็ตเดสติเนชั่น” อยู่ในทิศทางที่ดี ทั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาที่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ และการควบคุมการแพร่ระบาด โดยยังไม่พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามานั้น นำเชื้อสายพันธุ์ใหม่เข้ามาระบาด และคนในพื้นที่เองก็ยังไม่ได้เป็นต้นตอนำเชื้อไประบาดในกลุ่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ฉะนั้น ประเด็นที่ทาง ททท.ต้องดำเนินการต่อจากนี้คือ เร่งสื่อสารว่าภูเก็ตเป็นพื้นที่เปิดรับเฉพาะการท่องเที่ยว และเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ไม่ได้รับผลกระทบจากภาพใหญ่ของประเทศที่ยังคงมีปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
พร้อมย้ำว่า ในหลักการของการสื่อสารแล้ว รัฐบาลต้องแยก “ภูเก็ต” ออกมาเป็นสแตนด์อะโลน เพื่อสื่อสารว่าเป็นเดสติเนชั่นที่ปลอดภัย และมีมาตรการพิเศษในการปิดล้อมไม่ให้โควิดระบาดจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาในพื้นที่เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังควรใช้นักท่องเที่ยวที่อยู่ภูเก็ตครบ 14 วันแล้ว และยังอยู่ต่อ และบางส่วนไปต่อในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นเป็นจำนวนมากนั้นให้ช่วยขยายผลต่อเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังเชื่อมั่นว่าเมืองไทยมีความปลอดภัย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจ
ความหวังกระตุ้น ศก.ไทย
“ดร.อดิษฐ์” บอกอีกว่า ประเด็นสำคัญที่สุดเวลานี้คือ ภูเก็ตต้องรักษาป้อมปราการเมืองให้ดี ต้องรักษาพื้นที่ให้ภูเก็ตมีอัตราการแพร่ระบาดให้ต่ำที่สุดเพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินหน้าต่อไป และเป็นเครื่องจักรสำคัญในการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เจอวิกฤตมาแล้วกว่า 1 ปี
และไม่เพียงแต่ภูเก็ตเท่านั้น พื้นที่เชื่อมโยงในอีก 3 จังหวัดก็ต้องยกมาตรการการควบคุมโรคระบาดให้เข้มข้นขึ้นด้วย เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวได้วอร์มอัพและเตรียมพร้อมสำหรับการทำตลาดในช่วงไฮซีซั่น หรือช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ต่อไปได้
สำหรับการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในฐานะสมาคมที่ดูแลตลาดอินบาวด์นั้น “ดร.อดิษฐ์” ประเมินว่าตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวสำหรับปีนี้ส่วนใหญ่จะมาจากโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เป็นหลัก ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ พัทยา หัวหิน หรือเชียงใหม่นั้น ในระยะเวลาอันสั้นนี้คงยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแน่นอน
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์โรคระบาดปัจจุบัน คาดว่าน่าจะใช้เวลาเคลียร์อีกราว 2-3 เดือน หรือเร็วสุดน่าจะเห็นการเปิดประเทศในปริมาณที่มากขึ้นในเดือนตุลาคม และหากปีนี้สามารถทำเป้านักท่องเที่ยวได้ถึง 1 ล้านคนก็ถือว่าดีที่สุดแล้ว