‘ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’ เดือนแรก เงินสะพัด สู่ระบบเศรษฐกิจพันล้าน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

ผ่านไป 1 เดือนแล้ว สำหรับการทดลองเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดภูเก็ต หรือ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”

แม้การดำเนินงานในระยะแรกจะขลุกขลักบ้าง เพราะระบบบางอย่างไม่พร้อม แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย

โดยประเมินกันคร่าว ๆ ว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจะมีนักท่องเที่ยวราว 13,000-15,000 คน (ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 มีจำนวน 11,806 คน)

จากการเก็บสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวฯระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เข้าภูเก็ตแซนด์บอกซ์มีการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปเฉลี่ยอยู่ที่ราว 89,000 บาท (จากจำนวนวันเข้าพักเฉลี่ยประมาณ 11 คืน) หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 8,000 บาท พร้อมให้ข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลักเซอรี่ พร้อมใช้เงิน

ขณะที่ ศบศ.แถลงไปก่อนหน้านี้ว่า เดือนแรกภูเก็ตน่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1 หมื่นคน ใช้จ่ายเฉลี่ย 70,000 บาทต่อคนต่อทริป เงินสะพัด 534 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนลองคำนวณจากการคาดการณ์เบื้องต้นก็น่าจะอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับของกระทรวงท่องเที่ยวฯ เนื่องจากเฉพาะค่าโรงแรม ที่พัก กลุ่ม 5 ดาวตอนนี้ก็น่าจะเฉลี่ยประมาณ 3,000 บาทต่อคืน หากนักท่องเที่ยวจองอย่างต่ำ 14 คืน จะประมาณ 42,000 บาท รวมค่าทำสวอบ (RT-PCR) อีก 3 ครั้ง 8,000 บาท ก็จะตกอยู่ที่ราว 50,000 บาท

นี่ยังไม่รวมค่าอาหาร ค่าช็อปปิ้ง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

หรือคำนวณง่าย ๆ แค่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 5,000 บาท หากอยู่ 14 วัน จะใช้เงินประมาณ 70,000 บาท

นั่นหมายความว่า หากอิงตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะพบว่าในช่วงเดือนแรกของการเปิด “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” น่าจะมีเงินสะพัดในภูเก็ตแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

แต่หากคำนวณตามเกณฑ์การประเมินขั้นต่ำที่การใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 70,000 บาทต่อคนต่อทริป เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจะมีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในภูเก็ตแล้วราว ๆ 900 ล้านบาท

คนภูเก็ตอาจมีคำถามว่า เงินที่ว่าสะพัด 900-1,000 ล้านบาทนี้ เกิดขึ้นจริงไหม แล้วไปอยู่ที่ใคร…แน่นอนว่า กลุ่มที่เห็นชัดเจนสุดน่าจะเป็นโรงแรม ที่พัก

แต่ต้องยอมรับว่า รายได้ที่เกิดขึ้นนี้อาจยังไม่เป็นกอบเป็นกำนัก เพราะจำนวนคนที่เข้ามายังถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับช่วงเวลาปกติที่มีมากถึงปีละกว่า 10 ล้านคน สร้างรายได้ปีละ 4-5 แสนล้านบาท

ที่สำคัญ ก็คงยังไม่ได้ทำให้โรงแรมแต่ละแห่ง “คุ้มทุน” กับการเปิดให้บริการแต่อย่างใด แต่ก็น่าจะดีกว่าไม่ทำอะไรเลยสักอย่างแน่ ๆ

ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะสื่อสารให้ทั่วโลกรับรู้ว่า “ภูเก็ต” เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย มีศักยภาพในการเปิดรับต่างชาติ มีระบบการบริหารจัดการและการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 การแพร่ระบาดในภาพรวมของประเทศไทยนั้นไม่เกี่ยวกับพื้นที่เกาะภูเก็ต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติ

เพื่อให้ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ยังสามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมายเปิดประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจต่อไป

เพราะเวลานี้ “ภูเก็ต” คือโมเดลแห่งความหวังของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย

ส่วนประเด็นที่น่าจับตามองหลังจากนี้คือ การต่อยอด “แซนด์บอกซ์” จากภูเก็ตสู่สมุย พะงัน เกาะเต่า ตั้งแต่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา และอีก 2 จังหวัดคือ เกาะพีพี เกาะไหง อ่าวไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ และเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ และเขาหลัก จังหวัดพังงา ในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าจะทำให้ “ภูเก็ตเดสติเนชั่น” ของไทยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากยิ่งขึ้นแค่ไหน อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้คนภูเก็ตเองก็ต้องยอมรับว่า “ภูเก็ต” นั้นได้เปรียบจังหวัดอื่น ๆ ค่อนข้างมาก เพราะ 1.คนภูเก็ตได้รับการฉีดวัคซีนเกิน 70% แล้ว หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิดอีกระลอก ก็คงไม่หนักหนาสาหัสเหมือนพื้นที่อื่น ๆ แน่นอน

และ 2.ธุรกิจท่องเที่ยวของภูเก็ตเริ่มขยับแล้ว แม้ว่าจะยังไม่มากพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการที่กลับมาเปิดให้บริการอยู่ได้ หรือ “คุ้มทุน” แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทำให้คนจำนวนหนึ่งเริ่มกลับมามีงานทำ มีรายได้บ้างแล้ว

วันนี้ “ภูเก็ต” จึงเป็นเมืองที่น่าอิจฉาของเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ

ในฐานะที่ภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่อง อาจต้องลงแรง ลงใจ อดทนและเสียสละมากหน่อย แต่ถ้าฟื้นก็จะเป็นพื้นที่ที่ฟื้นก่อนคนอื่นเช่นกัน ในทางกลับกัน ก็อยากให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศให้กำลังใจ “ภูเก็ต” ให้เดินต่อไปได้ตามแผน และเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาพธุรกิจการท่องเที่ยวอีกครั้งได้…