“ดอนเมือง” เร่งขยายสนามบินรับผู้โดยสารพุ่ง-แอร์ไลน์แห่ขอสลอตบิน

“ดอนเมือง” ใกล้แตก ! ทอท.เผยแนวโน้มผู้โดยสารระหว่างประเทศพุ่งกระฉูด หลังไทยหลุดบ่วง ICAO ขณะที่สายการบินแห่ขอเพิ่มสลอตไฟลต์บินเกินศักยภาพรองรับแล้ว เร่งขยายพื้นที่รองรับผู้โดยสารทั้งเพิ่มเคาน์เตอร์ ตม.-เคาน์เตอร์เช็กอิน-จัดสรรพื้นเชิงพาณิชย์ดึงผู้โดยสารรอเช็กอินมาใช้บริการ ล่าสุดเตรียมของบฯเร่งด่วนปัดฝุ่นอาคารโดเมสติกหลังเก่ากลับมาใช้งานได้ในช่วงต้นปี”64

น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2560 (กันยายน 2559-31 ตุลาคม 2560) พบว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองมีเที่ยวบิน 253,544 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 5.38% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 83,263 เพิ่มขึ้น 8.13% และเที่ยวบินภายในประเทศ 170,281 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 4.09%

โดยในส่วนของจำนวนผู้โดยสารพบว่า มีผู้โดยสารรวม 37.18 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.19% แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 13.28 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.94% และผู้โดยสารภายในประเทศ 23.90 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.24% ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จำนวนผู้โดยสารโดยรวมจะยังคงเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10%

แห่เพิ่มไฟลต์บินอินเตอร์

“เป็นที่น่าสังเกตว่าในภาพรวมของสนามบินทั้ง 6 แห่งที่ ทอท.บริหารอยู่นั้น จำนวนเที่ยวบินมีการขยายตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเที่ยวบินเส้นทางระหว่างประเทศ ส่วนเที่ยวบินภายในประเทศก็มีการเติบโตอย่างมากเช่นกัน ยกเว้นที่สนามบินดอนเมืองที่มีการเติบโตเพียงเล็กน้อย” น.ท.สุธีรวัฒน์กล่าว และว่า ทั้งนี้ เป็นผลมาจากกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ได้ลดความถี่ของจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางบินภายในประเทศลง และหันไปทำตลาดในเส้นทางบินระหว่างประเทศแทนประกอบกับกรณีที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยไปแล้ว ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานการบินในระดับสากล ซึ่งนำไปสู่การขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศของสายการบินสัญชาติไทย ทั้งในรูปแบบเส้นทางใหม่ และความถี่ของเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะเส้นทางบินระยะไกล

สลอตบินแน่นหน้าใหม่หมดสิทธิ์

น.ท.สุธีรวัฒน์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานดอนเมือง สามารถรองรับจำนวนเที่ยวบินได้ที่ 800 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งขณะนี้ได้เต็มหมดแล้ว ไม่สามารถเพิ่มได้อีกแล้ว แต่หลังจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้ปลดธงแดงประเทศไทย สายการบินทั้งรายเดิมที่ให้บริการอยู่แล้ว และสายการบินหน้าใหม่ได้เสนอขอเพิ่มเที่ยวบินเข้ามาเป็นจำนวนมาก อยู่ที่ประมาณ 1,200 เที่ยวบินต่อวัน ส่งผลให้สายการบินที่ให้บริการอยู่เดิมต้องปรับแผนการทำธุรกิจของตัวเองภายใต้จำนวนเที่ยวบินที่มีอยู่ โดยพบว่าสายการบินบางแห่งได้ปรับเปลี่ยนตารางบิน ด้วยการหันไปเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และบางแห่งก็ใช้วิธีการเปลี่ยนขนาดเครื่องบินเพื่อให้บรรทุกผู้โดยสารได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนสายการบินใหม่ที่อยากให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองตอนนี้ไม่สามารถทำได้แล้ว

เร่งเพิ่มความสะดวกผู้โดยสาร

น.ท.สุธีรวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้รวม 35 ล้านคนต่อปี แต่ในปีที่ผ่านมามีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยานแห่งนี้อยู่ที่ราว 37 ล้านคนต่อปี ซึ่งเกินศักยภาพในการรองรับแล้ว โดยที่ผ่านมา ทอท.ได้แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขาเข้า ให้รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ถึง 2,000 คนต่อชั่วโมงไปแล้ว

และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อพิจารณาเพิ่มเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขาออกมีปริมาณที่สอดรับกับจำนวนผู้โดยสารขาเข้า จากปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1,850 คนต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4-5 เดือน และสามารถดำเนินการในช่วงก่อนสงกรานต์ปีหน้า

นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มเคาน์เตอร์เช็กอินเพื่อเป็นการรองรับปริมาณผู้โดยสารและลดความแออัด จากเดิมที่มีอยู่ 39 เคาน์เตอร์ให้เป็น 50 เคาน์เตอร์ ซึ่งจะสามารถรองรับการตรวจสแกนผู้โดยสารได้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้โดยสารสามารถเข้าพื้นที่หน้าเคาน์เตอร์เช็กอินได้เร็วขึ้น ลดความคับคั่งบริเวณทางเดินและทางเข้าอาคาร

“ไม่เพียงเท่านี้ เรามีแผนพัฒนาพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ในหลาย ๆ จุด รวมพื้นที่ประมาณ 600 ตารางเมตร ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่มารองรับผู้โดยสารที่มารอเช็กอินไฟลต์เช้าได้เข้ามาใช้ประโยชน์และจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น จากเดิมผู้โดยสารกลุ่มนี้ต้องรอเช็กอินอยู่บนพื้นที่ที่มีจำกัดบริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน และบางครั้งก็ทะลักออกไปอยู่บริเวณทางเดินด้านนอกอาคาร” น.ท.สุธีรวัฒน์กล่าว

ชงของบฯขยายพื้นที่เร่งด่วน

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ น.ท.สุธีรวัฒน์กล่าวว่า ทอท.มีแผนที่จะกระจายจำนวนผู้โดยสารอาคาร 1 (ระหว่างประเทศ) ซึ่งเริ่มแออัดมากขึ้น โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (domestic) หลังเดิม ซึ่งมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีกราว 10 ล้านคน กลับมาใช้งานเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อตั้งงบประมาณ

ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องงบประมาณ การออกแบบ ในช่วงต้นปี 2561 เพื่อทำเรื่องเสนอของบประมาณเพิ่มเติมของปีงบประมาณ 2561 หากได้รับการอนุมัติจะเริ่มดำเนินการทันที ซึ่งคาดว่าไม่น่าเกินปลายปี 2561 และหากเป็นไปตามแผนจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 และจะเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2564