จี้ยกระดับคุมเข้ม “ภูเก็ต” หวั่นโควิดพุ่งสะเทือน “แซนด์บอกซ์”

มิวเซียมภูเก็ต

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของจังหวัดภูเก็ตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งทะลุ 100 คนในรอบ 1 สัปดาห์

ขณะที่กรอบปฏิบัติ หรือ Standard Operating Procedure (SOP) ของโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” นั้นระบุว่า หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่เกิน 90 คนในรอบ 1 สัปดาห์ จังหวัดต้องยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามแผนเผชิญเหตุที่ได้นำเสนอต่อ ศบค.ที่ระบุไว้ว่า หากเกิดกรณีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอัตราที่เกินจากที่สาธารณสุขกำหนดไว้ จังหวัดภูเก็ตจะพิจารณาดำเนินการตั้งแต่ปรับลดกิจกรรมลง กำหนดเส้นทางท่องเที่ยว ฯลฯ ไปจนถึงยุติโครงการ

ภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อ ได้แก่

1.กรณีที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนเกิน 90 รายต่อสัปดาห์

2.ลักษณะการกระจายของโรคทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล

3.มีผู้ติดเชื้อครองเตียงมากกว่า 80% ของศักยภาพของจังหวัด

4.มีการระบาดมากกว่า 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้างหรือหาความเชื่อมโยงไม่ได้

และ 5.พบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้าง ควบคุมไม่ได้

หวั่นสะเทือน “แซนด์บอกซ์”

“สุมลมาญ ไวยกิจการ” ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดภูเก็ต บอกว่า ปัจจุบันภูเก็ตมีการดำเนินการโครงการ Phuket Sandbox โดยมีเงื่อนไขในการเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาดโควิดควบคู่กับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ที่ผ่านมาภูเก็ตมีการเข้ามาของคนต่างจังหวัดและคนภูเก็ตที่เดินทางเข้า-ออกไปต่างจังหวัด และมีการนำเชื้อโรคจากการเดินทางเข้ามาภูเก็ต

ขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ปกปิดข้อเท็จจริงที่ไปสัมผัสเสี่ยงสูงและไม่ยอมไปตรวจ ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างทุกวัน ในฐานะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจึงได้ทำหนังสือถึงนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาเสนอมาตรการควบคุมโควิดในจังหวัด เพื่อไม่ให้กระทบ Phuket Sandbox ที่กำลังสร้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชนอยู่ในขณะนี้

ชงปิดเกาะคุมคนไทยเข้าออก

“สุมลมาญ” ระบุว่า สาระหลักในจดหมายคือ เสนอผู้ว่าฯพิจารณาปิดเกาะภูเก็ตเป็นเวลา 14 วัน (แบบมีเงื่อนไข) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มหนักขึ้นในขณะนี้ โดยปิดด่านท่าฉัตรไชย (ทางบก) การเดินทางข้ามจังหวัดทางท่าเรือต่าง ๆ (ทางน้ำ) และทางอากาศยานสายการบินภายในประเทศ (ทางอากาศ) โดยให้เหลือไว้เฉพาะนักท่องเที่ยวตามโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์เท่านั้น เป็นระยะเวลา2 สัปดาห์ (ตั้งแต่ 1-14 สิงหาคม 2564)

โดยมีเงื่อนไขและข้อยกเว้นในบางประเด็นไว้สำหรับบุคคลที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าออกเป็นรายกรณี เช่น มาพักเพื่อพบเพื่อน ญาติ หรือสามี ภรรยา ที่เข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ หรือคนที่มีนัดพบแพทย์ มีประชุม มีนัดศาล นัดฉีดวัคซีน ฯลฯ รวมถึงรถขนส่งสินค้าต่าง ๆ ซึ่งบุคคลหรือธุรกิจเหล่านี้ต้องแสดงหลักฐาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอแนวทางในการปฏิบัติภายในจังหวัดภูเก็ตอีก 3 ประเด็นหลัก คือ

1.เร่งทำการตรวจคัดกรองโรคเต็มพื้นที่

2.จัดหาที่กักตัวผู้ป่วยสัมผัสเสี่ยงสูง

และ 3.เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในสภาวะนิ่ง ให้เปิดดำเนินการกิจการ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สั่งปิดไว้ในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นแหล่งจับจ่าย หมุนเวียนทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต

ยอดจองห้องพัก ส.ค.ลดฮวบ

ด้าน “นันทาศิริ รณศิริ” ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลการยืนยันจองห้องพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ผ่านระบบ SHABA หรือ SHA Plus Booking Authentication System พบว่า ยอดยืนยันการจองสำหรับเดือนสิงหาคมนี้มีแนวโน้มชะลอตัวค่อนข้างมาก

โดยตัวเลข ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 พบว่า มียอดยืนยันการจองห้องพักระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 รวมจำนวน 292,832 คืน เป็นการจองของเดือนกรกฎาคม 192,875 คืน สิงหาคม 92,764 คืน และกันยายน 7,211 คืน

อย่างไรก็ตาม ททท.สำนักงานต่างประเทศยังพยายามสื่อสารไปในต่างประเทศว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ยังคงเดินหน้าต่อ และสถานการณ์การระบาดของโรคของภูเก็ตนั้นอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้

ชี้รับมือตามแผนเผชิญเหตุ

ขณะที่ “ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร” รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” กรณีที่มีการแพร่ระบาดเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขภูเก็ตแซนด์บอกซ์ว่า การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในประเทศในขณะนี้มากกว่า 80% เป็นกลุ่มที่เฝ้าระวัง และอยู่ในสถานกักตัวแล้ว ไม่ได้เป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นรายวัน รวมถึงบางส่วนเป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งกลับบ้านเกิดทำให้สาธารณสุขสามารถควบคุมดูแลได้

และย้ำว่า เงื่อนไขกรณีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 90 คนต่อสัปดาห์นั้นเป็นเพียงแค่สเต็ปเริ่มต้นที่ส่งสัญญาณให้ทางจังหวัดทบทวนและยกระดับความเข้มข้นของมาตรการต่าง ๆ เท่านั้น ยังไม่ใช่เงื่อนไขให้ยกเลิก “แซนด์บอกซ์”

พร้อมอธิบายว่า สเต็ปต่อไปต้องดูว่าพบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดใหม่เกิน 3 คลัสเตอร์ กระจายไปใน 6 ตำบล 3 อำเภอหรือไม่ และเกินจำนวนเตียงที่โรงพยาบาลจะรับได้หรือยัง

“ที่ผ่านมาหลังเจอสเต็ปแรกคือจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินเงื่อนไข ทางจังหวัดก็ได้ยกระดับมาตรการไปแล้วบางส่วน เช่น กำหนดให้คนไทยที่จะเข้าภูเก็ตต้องฉีดวัคซีนครบตามเงื่อนไขและต้องตรวจหาเชื้อด้วย เป็นต้น โดยแนวปฏิบัติขณะนี้ล้วนเป็นไปตามแผนเผชิญเหตุ”

เรียกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ยังสามารถขับเคลื่อนได้ตามแผน เพราะยังมีหลายระดับและมีหลายองค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาก่อนนำไปสู่การยกเลิก “แซนด์บอกซ์”

(ต้อง) ชั่งน้ำหนัก “การระบาด-กระตุ้นเศรษฐกิจ”

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ภูเก็ตจะยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ แต่แน่นอนว่าหากมองในภาพรวมทั้งประเทศ ต่างประเทศยังคงมองประเทศไทยเป็นพื้นที่สีแดง

“ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข่าวการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทยที่ยังสูงต่อเนื่องนั้น ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะนี้

โดยหากประเมินจากยอดยืนยันการจองห้องพักผ่านระบบ SHABA ของ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” สำหรับเดือนสิงหาคมนี้จะพบว่ามีอัตราการเติบโตที่ลดลง โดยมีอัตราการจองล่วงหน้าในขณะนี้เพียงแค่เหลือประมาณ 8,000-9,000 คืนเท่านั้น

ทั้ง ๆ มีการยืนยันจากสายการบินรายใหม่คอนเฟิร์มบินตรงเข้าภูเก็ตในเดือนสิงหาคมนี้อีก 4 สายการบิน คือ กัลฟ์แอร์, โอมานแอร์, คาเธ่ย์ แปซิฟิค และเวียตเจ็ท โดยในส่วนของคาเธ่ย์ฯนั้นน่าจะทำให้ได้นักท่องเที่ยวระยะไกลที่มาต่อเครื่องที่ฮ่องกง ส่วนกัลฟ์แอร์และโอมานแอร์นั้นเราจะได้นักท่องเที่ยวจากยุโรปที่มาต่อเครื่องตะวันออกกลาง

ต่อคำถามว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวันนี้จะกระทบต่อการเดินหน้า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” หรือไม่ “ภูมิกิตติ์” บอกว่า ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต่างประเทศมองเข้ามา ดูแล้วไม่อยากเดินทางมาแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

สำหรับในมุมของตัวเองที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวนั้น ไม่ได้กังวลเรื่อง “แซนด์บอกซ์” เลย และมองว่าเป็นเรื่องเล็กมากเมื่อเทียบกับความปลอดภัยของคนในพื้นที่ว่า “แค่ไหน” ที่ยังรับได้

เพราะ “แซนด์บอกซ์” คือสมดุลใหม่คือการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพยายามประคับประคองให้ทั้ง 2 ฝั่งเดินคู่ไปด้วยกันให้ได้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาตัดสินใจก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าฝั่งไหนได้เสียมากกว่ากัน