ปลื้ม “แซนด์บอกซ์” แนะเร่งปั้นภูเก็ตเป็นฮับต่อยอด

ท่องเที่ยว

ผ่านไปแล้ว 1 เดือนสำหรับการดำเนินการโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” โดยพบว่า เดือนแรกกรกฎาคมมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทั้งหมดรวม 14,055 คน ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ที่ราว 13,000-15,000 คน

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ เข้าที่เข้าทางและปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยตั้งเป้าว่าในช่วง 3 เดือนแรกของโครงการ (กรกฎาคม-กันยายน 2564) จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 100,000 คน และสร้างรายได้ราว 8,900 ล้านบาท

แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์โดยรวมในห้วงเวลานี้จะไม่ค่อยเป็นใจนัก เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในภาพรวมของประเทศยังคงรุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งทะลุหลัก 10,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มแตะ 20,000 คนต่อวันในช่วงเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา

เมื่อบวกกับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาควบคุมการเดินทางภายในประเทศ รวมถึงมาตรการที่เข้มข้นขึ้นของภูเก็ตนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” โดยตรงด้วยเช่นกัน

ขณะที่ “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ยังคงเชื่อมั่นและยืนยันว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ต้องดำเนินต่อไปให้ได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยเป็นเครื่องยนต์ตัวสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ประเทศนั้นวันนี้ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ธุรกิจปิดตัวเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ฯลฯ คนท่องเที่ยวตกงานมหาศาล เครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจตัวนี้ของประเทศดับลงมานานกว่า 1 ปี

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

โดยให้ข้อมูลว่าหากย้อนไปในปี 2562 จะพบว่าประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึง 39-40 ล้านคน สร้างให้เกิดรายได้หมุนเวียนที่ราว 1.9-2 ล้านล้านบาท ต่อมาปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือที่ 6.7 ล้านคน สร้างรายได้เพียง 3 แสนกว่าล้านบาท และสำหรับปี 2564 นี้นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียงแค่ 34,000 กว่าคน เรียกว่าหายไปเกือบจะทั้งหมด หรือหายไปกว่า 99%

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหารือร่วมกันว่าประเทศเราจะโฟกัสเฉพาะเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอีกต่อไปไม่ได้ จึงคิดหาแนวทางกระตุ้นการท่องเที่ยวกระทั่งมาตกผลึกเป็น “ภูเก็ตโมเดล” ในช่วงเริ่มต้น และผ่านการประชุมหารือร่วมกับทุกภาคส่วนมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งฝ่ายภาครัฐและเอกชน กระทั่งสุดท้ายกลายมาเป็น “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” และเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เรียกว่า ผ่านความท้าทายในหลายเรื่องหลายประเด็นมามากมาย พยายามแก้ไขจุดอ่อน ต่อยอดจุดแข็งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผนรองรับความเสี่ยงหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยที่ต้องอยู่ในระดับสูงสุด ฯลฯ

“ชำนาญ” บอกว่า ถึงวันนี้ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ผ่านมา 1 เดือน มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารวมกว่า 14,000 คน ทำให้มีเงินกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท

ตัวเลขนี้อาจจะยังไม่เป็นที่พอใจในภาพรวมสักเท่าไหร่นัก แต่หากเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียงแค่หลัก 1,000 คนต่อเดือน ถือว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม

ที่สำคัญกว่านั้นยังเป็นความสำเร็จสูงสุดในเชิงสัญลักษณ์ด้วยว่า “ไทย” คือผู้นำการท่องเที่ยวโลก โดยภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศนี้ รวมทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถบริหารจัดการท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะในภาคการท่องเที่ยวนั้น วันนี้ประเทศไทยเราต้องแข่งกับนานาชาติทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นมัลดีฟส์ บาหลี ฯลฯ การที่ภูเก็ตประกาศ 1 กรกฎาคมเปิดเมืองจึงเป็นการสื่อสารเพื่อตอกย้ำว่า “ภูเก็ต” ประเทศไทยมีความปลอดภัยสูง พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว

“ชำนาญ” ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า แม้ว่าวันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะยังคงรุนแรงต่อเนื่อง แต่ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ก็ยังต้องเดินหน้าต่อให้ได้ และต้องเดินด้วยความปลอดภัยสูงสุดภายใต้มาตรการของสาธารณสุข

เมื่อบวกกับเมสเสจที่รัฐบาลประกาศพร้อมเปิดประเทศใน 120 วันก่อนหน้านี้ว่าเมืองไหนพร้อมให้เปิดได้เลย ทุกจังหวัดเริ่มกระตือรือร้น ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจเตรียมเปิดธุรกิจและทำให้เกิดทยอยการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการเปิดธุรกิจในช่วงไฮซีซั่น หรือไตรมาสสุดท้ายที่กำลังจะมาถึงนี้

โดยจะเห็นว่าวันนี้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวพยายามต่อยอด “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุยที่เปิดไปแล้วเมื่อ 15 กรกฎาคม หรือกระบี่ พังงาที่อยู่ในแผนการเชื่อมโยงพื้นที่ท่องเที่ยวในรูปแบบ 7+7 ในเดือนสิงหาคมนี้

โดยใช้ภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองที่ผ่านการยอมรับแล้วว่ามีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เป็นฮับในการส่งนักท่องเที่ยวต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายด้านโปรดักต์ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งตอนนี้ก็หวังว่า ศบค.จะพิจารณาและเห็นด้วยในระยะต่อไป

ประเด็นนี้ถือเป็นการรุกคืบอีกก้าวหนึ่งของภูเก็ตแซนด์บอกซ์ที่จะเพิ่มความท้าทายให้กับพื้นที่อื่น ๆ

“ชำนาญ” บอกอีกว่า แม้ว่าภูเก็ตแซนด์บอกซ์ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ก็ถือว่ายังมีอุปสรรคอยู่มากมายโดยเฉพาะประเด็นเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอัตราที่สูงถึงเกือบ 2 หมื่นคนต่อวัน และเรื่องของวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึง ทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินหน้าเปิดเมืองในพื้นที่อื่น ๆ

รวมถึงประเด็นที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกลับมาทำธุรกิจอีกครั้งหลังการระบาดของไวรัสโควิดบรรเทาลง

ทั้งนี้ จากการประชุมล่าสุดกับนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) สภาพัฒน์ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ประชุมก็มีความเห็นให้ไปทำการศึกษาพื้นที่ที่เป็นเกาะอื่น ๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออก พร้อมมีดำริว่าพื้นที่ไหนมีความพร้อมให้เดินหน้าทันที โดยใช้ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เป็นฮับในการส่งต่อนักท่องเที่ยว

ทั้งหลายทั้งหมดนี้ “ชำนาญ” ย้ำว่า ทุกพื้นที่ควรเริ่มต้นเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ เพื่อวอร์มอัพเครื่องยนต์ของภาคท่องเที่ยวให้กลับมาจุดติดอีกครั้ง และพร้อมเดินหน้าได้เต็มที่ในช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้ พร้อมทั้งใช้ความสำเร็จของ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” มาเป็นเครื่องมือต่อยอดต่อไป