เดิมพันครั้งใหม่ “ไทยแอร์เอเชีย” ท่ามกลางวิกฤตที่ยังไม่รู้ “จุดต่ำสุด”

มาตรการของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. (CAAT) ที่สั่งห้ามสายการบินภายในประเทศรับส่งผู้โดยสารเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดตั้งแต่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นปัจจัยที่ทุบซ้ำธุรกิจการบินอีกระลอกใหญ่

โดยทันทีที่สถานการณ์การบินทุกแห่งหยุดทำการบิน นั่นหมายความว่ารายได้จะเป็นศูนย์ทันที ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงอยู่ การบริหารจัดการท่ามกลางวิกฤตจึงยังเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อไป

เพราะวันนี้ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ ณ เวลานี้ถึง “จุดต่ำสุด” ของธุรกิจการบินแล้วหรือยัง

ดิ้นหาแหล่ง “เงินทุน”

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และสายการบินไทยแอร์เอเชีย ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการบริหารธุรกิจเพื่อฝ่าวิกฤตระลอกใหม่ครั้งล่าสุด หลังจากประกาศหยุดธุรกิจชั่วคราวในเดือนสิงหาคมนี้เป็นเวลา 1 เดือนไว้ดังนี้

“ธรรศพลฐ์” บอกว่า ธุรกิจสายการบินทุกรายได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดเช่นเดียวกับทุกธุรกิจมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ผู้ประกอบการทุกรายต่างดิ้นเอาตัวรอดไปให้ได้ โดยเฉพาะประเด็นการหาแหล่งเงินทุน เนื่องจากธุรกิจสายการบินมีต้นทุนที่สูง

ที่สำคัญแนวทางการยื่นขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน จากรัฐบาลก็ไม่ใช่ความหวังเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ ต้องเรียกร้อง ในฐานะผู้เสียภาษี ถ้าได้ก็ดี ธุรกิจก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง แต่หากไม่ได้ก็ให้สังคมรับรู้ว่ารัฐบาลเราบริหารอย่างไร

สำหรับกรณีของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกข่าวประชาสัมพันธ์ว่าได้ดำเนินการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการสายการบินไปแล้ว 4 รายนั้น “ธรรศพลฐ์” ยืนยันว่า วงเงินที่เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้นั้นไม่เกี่ยวข้องกับวงเงิน “ซอฟต์โลน”

ตามที่กลุ่ม 7 สายการบินยื่นเสนอขอไป เป็นเพียงการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเดิมก่อนโควิด รวมถึงให้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าแบบลดเงินต้น ดอกเบี้ย ยืดระยะการชำระเงินกู้ ซึ่งก็เป็นการดำเนินการตามมาตรการปกติของเอ็กซิมแบงก์

ปรับลดต้นทุนทุกรูปแบบ

โดยในส่วนของไทยแอร์เอเชียนั้น “ธรรศพลฐ์” บอกว่า ได้พยายามประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดด้วยการปรับลดต้นทุนการบริหารมาทุกรูปแบบในช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นleave without pay จ่ายค่าจ้าง 25% ปรับลดเงินเดือน 50% เจรจาขอผ่อนปรนการชำระหนี้ ฯลฯ และรวมกลุ่มกับ 7 สายการบินเพื่อเข้าพบรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือด้านการเงินมาตลอดตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ภายใต้วงเงินซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล้านบาท

และพยายามพูดคุยมาอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้รับคำตอบ กระทั่งล่าสุดได้นำเสนอในนามสมาคมการบินฯ และลดวงเงินซอฟต์โลนของ 7 สายการบินเหลือเพียงแค่ 5,000 ล้านบาท

โดยขอให้รัฐบาลช่วยเพียงแค่ส่วนของการรักษาการจ้างงานของทั้ง 7 สายการบินไว้เท่านั้น ส่วนอื่นทุกสายการบินยังคงแบกรับภาระกันเอง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด

แผนเพิ่มทุนเดิมเสร็จสิ้นกันยาฯ

“ธรรศพลฐ์” ย้อนความว่า สำหรับ “ไทยแอร์เอเชีย” นั้น ก่อนหน้านั้นได้เจรจาพูดคุยกับกองทุนหลายแหล่ง และมีกองทุนให้ความสนใจ ซึ่งถึงเวลานี้ก็ยังคอนเฟิร์มว่าแผนการเพิ่มทุนที่เคยประกาศไปเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น ยังคงเดินหน้าอยู่ตามเดิม แต่เวลานี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนกันยายนนี้

เรียกว่า ถ้าผ่านสิ้นเดือนกันยายนนี้ไปได้ “ไทยแอร์เอเชีย” อยู่รอดปลอดภัยแน่นอน

เพียงแต่ระหว่างทางในช่วง 2 เดือนนี้เราต้องรอเวลา ทำใจอยู่เฉย ๆ ทำตัวให้นิ่งที่สุด เพื่อหยุดรายจ่ายให้ได้มากที่สุด จุดไหนเจรจาขอผ่อนปรนได้ก็ต้องทำ เพราะไม่มีรายได้ ไม่มีเงินจริง ๆ

สิ้นเดือนกันยายนได้เงินทุนใหม่เข้ามาจะรีบทยอยจ่ายคืนให้ทันที ทั้งในส่วนของพนักงาน ซัพพลายเออร์ต่าง ๆ

“เดิมเราคาดการณ์กันว่าจะประคับประคองธุรกิจและเงินหมุนเวียนให้อยู่ได้ถึงเดือนกันยายน เพราะในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ไทยแอร์เอเชียได้กลับมาทำการบินเส้นทางภายในประเทศแล้วประมาณ 80-90% ของจำนวนเส้นทางบินเมื่อเทียบกับก่อนโควิด

แต่สุดท้ายธุรกิจก็มาสะดุดอีกครั้งกับคำสั่งห้ามบินเมื่อช่วงหลังสงกรานต์ และล่าสุดคือตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทั่งถึงวันนี้สายการบินก็ยังไม่สามารถกลับมาบินได้ ทำให้รายได้กลายเป็นศูนย์อีกครั้ง”

คาดการณ์ยาก-ไม่แน่นอนสูง

เมื่อถามว่ายังประเมินว่าทุนใหม่ที่จะเข้ามา 6,000 ล้านบาทตามแผนนั้น จะทำให้เราสามารถอยู่ต่อได้อีก 3 ปีตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่

“ธรรศพลฐ์” บอกว่าตอนนี้ทุกอย่างไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย ทุกอย่างอยู่บนความไม่แน่นอน ยังประเมินกันแบบวันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เพราะยังไม่รู้ว่าหมดล็อกดาวน์รอบนี้แล้วรัฐบาลจะยังล็อกดาวน์ต่ออีกหรือไม่

หรือสายการบินจะกลับมาบินได้อีกครั้งเมื่อไหร่ หรือเปิดให้บริการแล้วคนจะเดินทางกันมากน้อยแค่ไหน รวมถึงว่าประเทศเราจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้เมื่อไหร่

“ส่วนตัวผมมองว่าก่อนที่เราจะเปิดให้ต่างประเทศเข้ามา เราต้องเปิดให้เกิดการเดินทางภายในประเทศให้ได้สัก 80-90% ก่อนอย่างน้อยสัก 3 เดือน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น”

ชี้มีสายการบินหยุดบินยาวแน่

ต่อคำถามว่า มองอย่างไรหากล็อกดาวน์ลากถึงเดือนกันยายน “ธรรศพลฐ์” บอกว่า ถ้าอยากล็อกดาวน์ต่อไม่มีใครห้าม แต่พอล็อกดาวน์แล้วเศรษฐกิจหยุดชะงัก รัฐบาลก็ไม่มีอะไรเยียวยาเลย ไม่เอาเงินไปให้เขาเลยไม่มีใครทนอยู่บ้านได้หรอก

และหากเป็นแบบนี้อีกหน่อยประชาชนก็จะไม่สนใจ และจะออกไปทำมาหากิน เพราะตอนนี้ทุกคนไม่มีจะกินกันหมดแล้ว ไม่สนใจเรื่องล็อกดาวน์

แต่สำหรับธุรกิจสายการบินนั้น หากต้องล็อกดาวน์ต่อถึงเดือนกันยายนจะยิ่งเจ็บปวดหนักขึ้นไปอีก และก็คงไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจสายการบินเท่านั้น ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องก็คงหนักเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ร้านค้าภายในสนามบิน แท็กซี่รับส่งผู้โดยสารสนามบิน ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ พังกันหมดทุกภาคส่วน

ที่สำคัญ หากภายใน 2-3 เดือนนี้ซอฟต์โลนรัฐบาลยังไม่ออกมาช่วยผู้ประกอบการ เชื่อว่าจะมีบางสายการบินที่ตัดสินใจหยุดบินระยะยาวเกิดขึ้นแน่นอน

ประเด็นสำคัญคือ จะทำให้ทุกคนอยู่ได้อย่างไร เพราะการคิดในมุมของสาธารณสุขเพียงด้านเดียวไม่พอ ควรคิดด้านเศรษฐกิจด้วย แต่ทุกวันนี้รัฐบาลยังคิดไม่ครบวงจร ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิดในวันนี้คือ รัฐบาลจะทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบ