โรงแรมวิกฤตลามรายใหญ่ สภาพคล่องอยู่ไม่ถึง 3 เดือน

โรงแรมโอด ! ธุรกิจวิกฤตหนักลามถึงทุนใหญ่ ผู้ประกอบการกว่าครึ่งตลาดที่เปิดบริการเผยเหลือสภาพคล่องอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน ส่วนอีก 1 ใน 4 ยันเดินต่อได้ไม่ถึง 1 เดือน จับตาทุนใหญ่ เชนอินเตอร์ ทยอยปิดชั่วคราวอีกระลอกตามรอยรายเล็ก-กลางที่ปิดหนีตายไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ยันสถานการณ์ยังมองไม่เห็นอนาคต มาตรการรัฐไม่เอื้อ อยากขายทิ้งมากกว่าพักหนี้

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมธุรกิจโรงแรมว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดผลจากการล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้โรงแรมที่เปิดให้บริการอยู่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการโรงแรม 272 แห่ง (ในกรุงเทพฯ) พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาลดลงอีกครั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมิถุนายน 2564

สภาพคล่องเหลือไม่ถึง 3 เดือน

โดยมีโรงแรมเปิดให้บริการปกติประมาณ 40% เปิดบริการบางส่วน 38% และปิดชั่วคราวราว 22% และมีสัดส่วนของโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่มีสัดส่วนการปิดชั่วคราว 19.5% และโรงแรมส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการมีรายได้อยู่ในระดับต่ำมาก โดยมากกว่า 56.9% ของโรงแรมที่เปิดกิจการมีรายได้กลับมาไม่ถึง 10% (เทียบกับช่วงก่อนโควิด)

นอกจากนี้ ยังพบว่า 58% มีสภาพคล่องลดลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (มิถุนายน) และประเมินตัวเองว่ามีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 3 เดือน ที่สำคัญมีผู้ประกอบการในสัดส่วน 23% มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกไม่เกิน 1 เดือนนับจากนี้

“ก่อนหน้านี้โรงแรมบางส่วนโดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง รวมถึงโรงแรมที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักประมาณครึ่งหนึ่งในตลาดได้ตัดสินใจทยอยปิดให้บริการชั่วคราวกันไปตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ตอนนี้ไล่มาถึงคิวของผู้ประกอบการรายใหญ่และเชนอินเตอร์แล้ว”

อัตราเข้าพักร่วงเหลือแค่ 6.5%

นางมาริสากล่าวด้วยว่า ไม่เพียงเท่านี้ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมโดยรวมยังมีอัตราการเข้าพักในอัตราเฉลี่ยที่ประมาณ 10% เช่นกัน แต่หากแยกโรงแรมกลุ่มที่ปรับตัวไปรับลูกค้าต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย และกลุ่ม workation หรือ staycation รวมถึงกลุ่มที่เปิดรับนักท่องเที่ยวตามโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ อัตราการเข้าพักของโรงแรมทั่วประเทศจะอยู่ที่เพียงแค่ 6.5% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงแรมทั่วประเทศส่วนใหญ่ หรือประมาณ 69% เห็นด้วยกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดมองว่า โครงการดังกล่าวส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวตามที่คาดการณ์ไว้ โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 16% ต่างจากโครงการสมุยพลัสที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ราว 6% เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าสถานการณ์ในเดือนสิงหาคมนี้จะแย่ลงจากเดือนกรกฎาคมแน่นอน คาดว่าจะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศที่ระดับ 8% โดยภาคเหนือที่น่าจะต่ำสุดที่ประมาณ 4%

วอนรัฐเร่งกระจายวัคซีน

นางมาริสากล่าวต่อไปอีกว่า จากแนวโน้มดังกล่าวบวกกับกระแสการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง และคาดว่ารัฐบาลจะยังคงขยายมาตรการล็อกดาวน์ไปอีกนั้น กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่ยังเปิดให้บริการบางส่วนอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดในเวลานี้ตัดสินใจปิดให้บริการชั่วคราวในอัตราที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากว่าโรงแรมไม่สามารถทำธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นการขายห้องพัก ห้องอาหาร และห้องจัดเลี้ยง ประชุมสัมมนา ยกเว้นโรงแรมในกลุ่มที่ยังมีลูกค้าพักระยะยาวที่ยังพอมีรายได้เข้ามาช่วยจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ

“ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ วัคซีนคือคำตอบเดียวที่จะช่วยสร้างความหวังและความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจได้ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งกระจายวัคซีนเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวโดยเร็ว เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาได้บ้าง อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้คนเกิดความเชื่อมั่นและเกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้บ้าง และสิ่งที่สมาคมโรงแรมอยากนำเสนอต่อไปคือ ความชัดเจนของแผนเปิดประเทศตามนโยบาย 120 วันของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นและวางแผนได้ว่าจะกลับมาพลิกฟื้นได้อย่างไรต่อไป”

จับตาหนี้ NPL พุ่ง

แหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศได้รับผลกระทบหนัก ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมา 1 ปีครึ่งแล้ว ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศก็หยุดชะงักไปตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดระลอก 2 เมื่อปลายปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงระลอก 3 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยโรงแรมส่วนใหญ่ที่ยังเปิดให้บริการอยู่นั้นล้วนอยู่ได้จากเงินกู้เป็นหลัก

“โรงแรมส่วนใหญ่ไม่อยากปิดตัวชั่วคราว เนื่องจากต้นทุนการกลับมาเปิดอีกครั้งค่อนข้างสูง จึงกัดฟันประคับประคองมาเรื่อย ๆ โดยใช้ทั้งเงินทุนส่วนตัว เงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยหวังว่าไม่นานธุรกิจคงจะกลับมา แต่ผ่านมา 1 ปีครึ่งแล้วธุรกิจยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ตรงกันข้ามกลับยิ่งดิ่งลง ทุกคนต้องแบกภาระต้นทุนทางการเงินมหาศาล ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย ฯลฯ ที่น่าจับตามองหลังจากผู้ประกอบการทยอยขาดสภาพคล่อง คือ หนี้เสีย หรือ NPL ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่มทุนโรงแรมในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้” แหล่งข่าวกล่าว

ขาใหญ่-รร.หรูจ่อปิดชั่วคราว

แหล่งข่าวรายเดิมยังกล่าวต่อไปอีกว่า หากย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาจะพบว่า โรงแรมหรูของกลุ่มทุนใหญ่หลายแห่งทยอยเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการเดอะ เรสซิเดนซ์ แอท สินธร เคมปินสกี้ โฮเทล แบงค็อก, สินธร เคมปินสกี้ โฮเทล แบงค็อก, โครงการโอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพฯ, โรงแรมคาเพลล่า กรุงเทพฯ, โฟร์ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์ ฯลฯ แต่ตอนนี้มีข่าวว่าโรงแรมหรู เชนอินเตอร์ ของกลุ่มทุนใหญ่หลายแห่งเริ่มทยอยปิดให้บริการชั่วคราว อาทิ คาเพลล่า กรุงเทพฯ, โฟร์ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานค่อนข้างสูง

ประกอบกับข้อเรียกร้องที่นำเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมนั้นไม่บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือเรื่องของการพยุงการจ้างงาน รวมถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือแม้แต่โครงการโกดังพักหนี้ที่เงื่อนไขไม่เอื้ออำนวยนั ทำให้เจ้าของมีความคิดที่เลือกขายโรงแรมไปเลยมากกว่าเข้าโกดังพักหนี้

“ฮอสพิเทล” คือทางออก

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย (THA) และเจ้าของโรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจโรงแรมโดยรวมนั้นเจ็บหนักและอยู่ในสถานะไม่ไหวกันมากว่า 1 ปีแล้ว เนื่องจากต้องแบกต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งต้นทุนการเงิน ค่าบุคลากร และค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ บางส่วนที่ไม่ไหวจริง ๆ ก็ตัดสินใจปิดชั่วคราวกันไปนานแล้ว บางส่วนปรับตัวเป็นโรงแรมกักตัวของรัฐบาล หรือ AQ บางโรงแรมก็ทำปรับเป็นโรงแรมทางเลือก หรือ ASQ เพื่อให้ประคองให้โรงแรมยังเปิดบริการต่อได้ ล่าสุดคือ การปรับตัวเป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือฮอสพิเทล ซึ่งก็ถือว่าเป็นทางออกที่ดีระดับหนึ่ง ทำให้โรงแรมมีรายได้เข้ามาช่วยดูแลค่าสาธารณูปโภคและค่าจ้างพนักงานบ้าง

หอการค้าเร่งปลดล็อกปล่อยกู้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางในการขับเคลื่อนการใช้มาตรการแอสเซตแวร์เฮาซิ่งนั้น ปัจจุบันเพิ่งปล่อยไปได้ประมาณ 1,000 กว่าล้าน ขณะนี้ทางหอการค้าไทยและสภาหอฯ ได้ประสานไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ช่วยผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ทำให้การปล่อยสินเชื่อนี้เพิ่มมากขึ้น


“ล่าสุดตอนนี้พบว่ายังไปติดอยู่ที่กรมที่ดิน หอการค้ากำลังพยายามเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ (connection the dot) ไปที่กรมที่ดินให้เร่งรัด เกี่ยวกับเรื่องการยกเว้นภาษีที่ดิน หากแก้ไขได้คิดว่าน่าจะปล่อยได้อีกหลายหมื่นล้าน” นายสนั่นกล่าว