ธุรกิจการบินกระอัก ครึ่งปีแรกทั่วโลกหยุดเดินทาง

สนามบิน

จากข้อมูลของสมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก (AAPA) ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ทั่วโลกมีปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศในระดับที่ตกต่ำ จากข้อจํากัดในการเดินทางเข้าประเทศของแต่ละประเทศที่เข้มงวด ทำให้จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 ลดลงถึง 88.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

สำหรับประเทศไทยนั้น การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ภายในประเทศที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเดินทางของผู้โดยสารภายในประเทศและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ผู้โดยสาร “การบิน” ลดฮวบ

ทั้งนี้ จากรายงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท.หรือ AOT ระบุว่า ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2563-มิถุนายน 2564 (9 เดือนแรกของระบบบัญชี AOT) มีปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. มีจำนวนเที่ยวบินรวม 217,579 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 50.42 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีจำนวนผู้โดยสารรวม 19.02 ล้านคน ลดลงร้อยละ 70.81 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

โดยช่วงระหว่าง 1 เมษายน 2564-30 มิถุนายน 2564 (ไตรมาส 3) ทอท.มีผลการดำเนินงานลดลง 1,144.57 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 2,933.90 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 157.76 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 845.48 ล้านบาท และรายได้ภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 123.25 ล้านบาท สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่ลดลง

การบิน

สำหรับรายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบินมีจำนวน 501.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 290.22 ล้านบาท หรือร้อยละ 137.09 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าบริการสนามบินจำนวน 170.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 227.08 โดยมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินรวมร้อยละ 105.04

ประเด็นที่เป็นตัวแปรสำคัญคือในช่วงเดือนเมษายน 2563 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้มีประกาศ เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้สายการบินต้องหยุดทำการบินชั่วคราว และสายการบินส่วนใหญ่หยุดทำการบินเกือบจะตลอดทั้งไตรมาส

“แอร์เอเชีย” หลุดแผน

“สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย ให้ข้อมูลว่า สำหรับไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัทยังไม่สามารถเติบโตได้ตามเเผน

โดยสาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่รุนเเรงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลต่อการดำเนินงานในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนอย่างชัดเจน บริษัทจึงปรับลดและจัดการปริมาณเที่ยวบินอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องธุรกิจ ควบคู่กับการประคองผลประกอบการทั้งในระยะสั้นเเละระยะยาว

โดยไตรมาส 2 ปี 2564 AAV มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,081 ล้านบาท ขาดทุนสำหรับงวด 3,077.9 ล้านบาท และมีรายได้รวมในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน 2564) อยู่ที่ 2,431 ล้านบาท และขาดทุนสำหรับงวด 6,468.5 ล้านบาท

โดยรายได้รวมลดลงร้อยละ 75 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงร้อยละ 65 และค่าโดยสารเฉลี่ยที่ลดลงร้อยละ 26 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องระงับเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องก็ลดลงตามจำนวนเที่ยวบินเมื่อเทียบกับปีก่อน

BA รายได้การบินร่วงยกแผง

ด้านสายการบินบางกอกแอร์เวย์สนั้น “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยถึงผลประกอบการในไตรมาส 2/2564 ว่ามีรายได้รวม 1,442.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.0 ขาดทุนสำหรับงวด 697.9 ล้านบาท

หากดูภาพรวมในครึ่งปีแรกพบว่า มีรายได้รวม 2,800.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 61.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้ของธุรกิจสายการบินลดลงร้อยละ 88.8 ธุรกิจสนามบินลดลงร้อยละ 85.3 และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ลดลงร้อยละ 39.5 ทำให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 1,454.4 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีการบริหารจัดการเส้นทางบินภายในประเทศและความถี่ ให้สอดคล้องกับข้อจำกัดในการเดินทางและปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ลำปาง, กรุงเทพฯ-สุโขทัย, กรุงเทพฯ-ตราด และหาดใหญ่-ภูเก็ต ซึ่งมีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นร้อยละ 102.4 และมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 229.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บินไทยกำไรจากขายทรัพย์สิน

สำหรับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทยที่ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อ 27 พฤษภาคม 2563 ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบตามมติที่ประชุมของเจ้าหนี้เมื่อ 19 พฤษภาคม 2564 นั้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการบินตามสภาวะปกติตั้งแต่ยกเลิกเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศชั่วคราวตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ทำให้รายได้ส่วนใหญ่ของการบินไทยมาจากการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในบางเส้นทาง และเที่ยวบินรับผู้โดยสารกลับประเทศ

โดยในงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 10,220 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 30,273 ล้านบาท หรือ 74.8% สาเหตุสำคัญเนื่องจากทั้งรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 30,486 ล้านบาท (84.2%) รายได้จากการบริการอื่น ๆ ลดลง 1,417 ล้านบาท (35.5%)

ขณะที่ยังมีค่าใช้จ่ายรวม 24,555 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 34,246 ล้านบาท (58.2%) ส่งผลให้ขาดทุนจากการดําเนินงาน 14,335 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 3,973 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม ในช่วงงวด 6 เดือนแรก บริษัทและบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 25,899 ล้านบาท อาทิ กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ กำไรจากการขายเงินลงทุนในสายการบินนกแอร์ กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้รายการปรับปรุงผลประโยชน์พนักงาน ฯลฯ ทำให้ครึ่งปีแรกของปี 2564 มีกำไร 11,121 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 28,030 ล้านบาท