เคทีซี ปรับกลยุทธ์การตลาดหมวดท่องเที่ยวรับกระแสเดินทางโค้งท้ายปลายปี

นักท่องเที่ยว

เคทีซีปรับกลยุทธ์การตลาดในหมวดท่องเที่ยวรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นพัฒนาบริการของ KTC World Travel Service ภายใต้ 3 แกนหลัก ซ่อม สร้าง และสนับสนุน พร้อมจัดโครงการ “เที่ยว… อยู่ได้” ช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คาดมีจำนวนผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 200 รายจากทั่วประเทศ

วันที่ 11 กันยายน 2564 นางสาวเจนจิต ลัดพลี ผู้อำนวยการ การตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ภาครัฐได้มีนโยบายในการปิดประเทศ ปิดสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการในการเดินทางเข้าจังหวัด ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ และมีผู้ประกอบการฯ ที่ต้องปิดกิจการไปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยธุรกิจบัตรเครดิตในหมวดท่องเที่ยวของเคทีซีก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเช่นกัน

เจนจิต ลัดพลี

อย่างไรก็ตาม จากการปรับมาตรการของภาครัฐที่เริ่มผ่อนคลาย ทำให้ประชาชนเริ่มมีความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น แต่รูปแบบการท่องเที่ยวจะปรับเปลี่ยนไปจากเดิม นักเดินทางจะมีความระมัดระวังในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น การท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ ๆ ไปกันหลาย ๆ คน หรือ Collective จะลดน้อยลง

และแม้เทรนด์การท่องเที่ยวแบบเดินทางคนเดียวหรือไปกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จะเป็นที่นิยม แต่นักเดินทางก็จะมองหาตัวกลางในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องการความมั่นใจว่าจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนและรวดเร็วที่สุด รวมถึงบริการที่มีคุณภาพ ครอบคลุมการให้บริการเปลี่ยนหรือยกเลิกตั๋วเครื่องบินและโรงแรมที่พัก ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงวิกฤตนี้ ถึงแม้ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อทริปเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันมี 3 รูปแบบ ได้แก่ Domestic Travelers : กลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ เป็นกลุ่มที่มีทิศทางว่าจะกลับมาได้เร็วที่สุด Premium Travelers : กลุ่มพรีเมี่ยม เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย การที่ไม่เดินทางเป็นผลจากมาตรการภาครัฐเท่านั้น เมื่อรัฐประกาศปรับมาตรการ นักเดินทางกลุ่มนี้จึงสามารถเดินทางได้ทันที เนื่องจากได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว และ Essential Travelers: กลุ่มนี้เป็น Segment ที่ต้องเดินทางเพราะมีความจำเป็น เช่น ไปทำงาน หรือไปเรียนหนังสือ

สำหรับ Destination ที่นักเดินทางให้ความสนใจ คือแหล่งท่องเที่ยวที่มีจำนวนคนไม่มาก สามารถเว้นระยะห่างได้ เช่น การท่องเที่ยว Outdoor เพื่อทำกิจกรรมกลางแจ้ง กางเต็นท์ ท่องเที่ยวในสไตล์ธรรมชาติ รวมถึงการท่องเที่ยวแบบ Unseen หรือ Lesser Known”

“ในส่วนของผู้ประกอบการท่องเที่ยว พบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่มีการปรับตัวอย่างมาก อาทิ การพัฒนา Application ให้เป็น One stop Service การขยายบริการไปยังสินค้าบริการที่เกี่ยวเนื่อง ตัวอย่างเช่นกรณีของสายการบินแอร์เอเชียที่เข้าซื้อกิจการของโกเจ็ค / OTA รายใหญ่ๆ มีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นำเสนอ Bundle Package มากขึ้น มีการพัฒนา Loyalty Program ของตนเอง หรือบางสายการบินก็ได้มีการหารายได้เสริม เช่น การขายสินค้าต่าง ๆ” นางสาวเจนจิตกล่าว

และว่าจากนโยบายภาครัฐที่ขอความร่วมมือเรื่องของการ WFH และงดเดินทาง เป็นเหตุให้สมาชิกบัตรฯ ก็ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยว เคทีซีจึงได้ปรับกลยุทธ์การตลาดเน้นพัฒนาเรื่องการให้บริการของศูนย์บริการการเดินทางและท่องเที่ยวสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี หรือ KTC World Travel Service ด้วยการ “ซ่อม” ปรับปรุงการบริการให้ดียิ่งขึ้นรวมถึงการ Rebuild KTC World Travel Service

“สร้าง” บริการที่มีความแตกต่าง (Unique Service) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน จาก Reservation เป็น Counsellor / ขยายบริการเป็น 24 ชั่วโมง เพื่อพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดของสมาชิก เช่น การถูกยกเลิกไฟลท์ / การขยายบริการทางไลน์ เพื่อให้สมาชิกติดต่อได้สะดวกยิ่งขึ้น และการปรับปรุงเว็บไวต์ www.ktc.co.th/ktcworld และ “สนับสนุน” สานความสัมพันธ์กับพันธมิตรธุรกิจอย่างต่อเนื่อง”

นางสาวเจนจิตกล่าวว่า เมื่อมีการปรับมาตรการ การท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญานกลับมาฟื้นตัว และเพื่อขานรับการท่องเที่ยวในประเทศที่ในช่วงไตรมาส 4 นี้ เคทีซีจึงได้จัดโครงการ “เที่ยว… อยู่ได้” เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ สถานที่ท่องเที่ยว หมวดรถเช่า และบริษัทนำเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการออกแบบ จัดทำ และผลิตสื่อแบนเนอร์เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ผ่าน 7 ช่องทางของเคทีซี อาทิ จดหมายรายเดือนสำหรับสมาชิกบัตรเคทีซี / Facebook: KTC Real Privileges / เว็บไซต์เคทีซี / KTC Line Official / E-Newsletter / IG: KTC Card และแอพ KTC MOBILE เพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจและบริการไปยังฐานสมาชิกกว่า 2.6 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการได้มีช่องทางขายหรือตัวแทนจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนด้วยตัวเอง ผ่านทาง KTC World Travel Service พร้อมกันนี้ เคทีซียังได้สนับสนุนโปรโมชั่นพิเศษ มอบเครดิตเงินคืน 10% ให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีที่ใช้จ่าย ณ ร้านค้า หรือสถานประกอบการที่ร่วมรายการ เพียงใช้คะแนน KTC FOREVER เท่ายอดใช้จ่าย และลงทะเบียนแลกรับผ่านเว็บไซต์ www.ktc.co.th/ktctravel ระยะเวลาโครงการระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2564-31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ เคทีซีคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 200 ราย ในกว่า 40 จังหวัดท่องเที่ยว (ครอบคลุมจังหวัดท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง)

“สำหรับแคมเปญการตลาดอื่น ๆ ของเคทีซีในช่วงปลายปี 2564 จะครอบคลุมทุกเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งทางอากาศโดยร่วมกับสายการบินในประเทศ 6 สายการบิน ทางบก โดยจับมือกับผู้ประกอบการบริการรถเช่า และรถไฟไทย และทางเรือที่ได้ร่วมมือกับบริการเรือเฟอรี่และการล่องเรือครุยส์ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงบริการการจองโรงแรมกับ OTA ชั้นนำอีกด้วย” นางสาวเจนจิตกล่าว