กลุ่มทุน “สยามนิรมิต” ลั่นขออยู่นิ่ง ๆ Wait & See 3 ปี

สยามเนรมิต
สัมภาษณ์พิเศษ

การทยอยประกาศปิดกิจการของธุรกิจในวันนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่ประเด็นที่น่าตื่นเต้น หรือประหลาดใจอีกต่อไป ล่าสุด กลุ่ม “กิติพราภรณ์” ผู้สร้างตำนานสวนสนุกของไทยอย่างแดนเนรมิต ดรีมเวิลด์ และโรงละคร “สยามนิรมิต” ได้ตัดสินใจปิดฉากโรงละคร “สยามนิรมิต กรุงเทพฯ” ที่ทุ่มลงทุนไปกว่า 1,500 ล้านบาท เมื่อปี 2548 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทิ้งไว้เพียงแค่ตำนานในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “พัณณิน กิติพราภรณ์” เจ้าของและประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพฯ และสยามนิรมิต ภูเก็ต และกรรมการผู้จัดการสวนสนุกดรีมเวิลด์ (รังสิต คลอง 3 ปทุมธานี) ถึงกรณีตัดสินใจปิดให้บริการโรงละคร “สยามนิรมิต กรุงเทพฯ” อย่างถาวร รวมถึงแนวคิด มุมมองต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย ไว้ดังนี้

“วัคซีน” ไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

“พัณณิน” บอกว่า การตัดสินใจปิดให้บริการแบบถาวรของ “สยามนิรมิต กรุงเทพฯ” ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนฐานของข้อมูลที่ชัดเจน โดยเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข้อมูลยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั่วโลกว่า แม้ทุกประเทศจะพยายามเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตัวเอง เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในความเป็นจริงแล้วก็คงไม่มี hard immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นเพราะเชื้อโควิดมีวิวัฒนาการที่รวดเร็วและพัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ

ประเด็นการไม่มี herd immunity นี้หมายความว่า ไม่ว่าเราจะควบคุมอย่างไรหรือฉีดวัคซีนไปได้มากกว่า 70% ของจำนวนประชากร หรือเท่าไหร่ก็ตาม ไวรัสโควิดก็จะไม่มีวันจบ ยังคงอยู่กับโลกใบนี้

นั่นหมายความว่า “วัคซีน” ไม่ใช่คำตอบของการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็จะยังอยู่กับเรา และเราก็จะต้องอยู่กับโควิดให้ได้ด้วยเช่นกัน

อีกประเด็นคือ จากข้อมูลของคอนซัลต์ใหญ่ ๆ ในเซอร์เวย์ของสำนักวิจัยทั่วโลก เกินครึ่งระบุว่า ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้งในปี 2024 หรือหลังจากนั้น

ดังนั้น แม้ “สยามนิรมิต กรุงเทพฯ” จะเป็นพื้นที่เช่าระยะยาว 25 ปี แต่เราใช้เวลาสร้าง และประดิดประดอยนานมาก เดิมที่คิดว่าจะใช้เวลาสร้าง 1 ปีครึ่ง ในความเป็นจริงแล้วใช้เวลาก่อสร้างไป 3-4 ปี กว่าจะปรับโชว์ให้ลงตัวอีกเกือบ 1 ปี ทำให้เวลาการทำธุรกิจลดลงไปอีก

ไม่มีประโยชน์ที่จะไปต่อ

“พัณณิน” บอกด้วยว่า ตัวแปรหลักอีกปัจจัยในการตัดสินใจครั้งนี้ คือ สัญญาเช่าที่ยังเหลืออยู่อีกไม่กี่ปีนั้น ทำให้มองว่ากว่าสถานการณ์ของไวรัสโควิดจะสงบลง และกว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้ง น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี การปิดถาวรเลยเป็นทางออกที่ดีที่สุด หลังจากที่ปิดชั่วคราวมาตั้งแต่ 17 มีนาคม 2563 และสูญเสียมหาศาลไปกับการประคับประคองธุรกิจตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา

พูดง่าย ๆ คือ ไม่มีเหตุผลที่จะรอแล้ว

พร้อมย้ำว่า การปิดให้บริการ “สยามนิรมิต กรุงเทพฯ” นั้น ไม่ใช่เพราะว่าเราไปไม่ไหว แต่เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปต่อ

“ถามว่าผูกพันไหม ก็ผูกพันมากนะ เพราะเราตั้งใจ เราเหนื่อยมาเยอะมากกับการมุ่งมั่นในการพัฒนาโชว์ และนักท่องเที่ยวทั่วโลกก็บอกว่า สยามนิรมิต คือ the best show in the world เป็นโชว์ที่ดีที่สุดในโลกโชว์หนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องยอมรับความจริงให้ได้ เพราะโลกมนุษย์เราจะเอาชนะธรรมชาติไม่ได้”

วิบากกรรม “สยามนิรมิต”

“พัณณิน” บอกด้วยว่า แม้ว่าที่ผ่านมา “สยามนิรมิต กรุงเทพฯ” จะมีเวลาทำธุรกิจมากว่า 10 ปี (ก่อนเกิดวิกฤตโควิด) แต่โรงละครแห่งนี้ยังอยู่ในสถานะ “ลำบาก” และยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน เมื่อบวกกับต้นทุนที่ต้องประคับประคองธุรกิจในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราว ต้องถือว่าเป็น “วิบากกรรม” ครั้งใหญ่ของโรงละครแห่งนี้อีกครั้ง

พร้อมย้อนความให้ฟังด้วยว่า ด้วยความที่โรงละครแห่งนี้ตั้งอยู่ในทำเลกลางใจเมืองกรุงเทพฯ จึงเผชิญกับวิบากกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งเรื่องการเมือง น้ำท่วม ฯลฯ ผลประกอบการที่ออกมาจึงเป็นเหมือน roller coaster (รถไฟเหาะ) ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่เสถียร และมีความท้าทายที่สูงมาก

แต่ว่าก็ยังโชคดีที่ก่อนหน้านี้เราได้ไปลงทุนตั้งรกรากไว้อีกแห่งที่ภูเก็ต เมื่อ 9-10 ปีก่อน คือ “สยามนิรมิต ภูเก็ต”

“ยอมรับว่าเหนื่อยกับการปลุกปั้นสยามนิรมิต กรุงเทพฯมาก แต่ด้วยความที่เรามีอีกแห่งที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ดินของเราเอง ทำให้รู้สึกเหมือนสยามนิรมิตก็ยังคงอยู่กับเราต่อไป ซึ่งนับจากนี้เราก็ต้องไปโฟกัสที่ภูเก็ตต่อไป”

ขอเบรก “Wait & See” 3 ปี

เมื่อถามว่าประเมินการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทยอย่างไร “พัณณิน” บอกว่า ส่วนตัวไม่กล้าตอบว่าการท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่เพราะธุรกิจที่ทำอยู่นั้นถือว่าเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของภาคการท่องเที่ยวของประเทศ แต่ก็เชื่อในข้อมูลของสำนักรีเสิร์ชเซ็นเตอร์ต่าง ๆ ที่วิเคราะห์ว่า น่าจะประมาณ 3 ปี หรือมากกว่านั้น

นั่นหมายความว่า เราต้องรอประเมินสถานการณ์ หรือ wait & see และอยู่นิ่ง ๆ ไปก่อน ยังขยับทำอะไรไม่ได้

เช่นเดียวกับ โรงละคร “สยามนิรมิต ภูเก็ต” ที่วันนี้ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า เราจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อไหร่เพราะไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเกิดความมั่นใจในการเดินทาง และกลับมาเที่ยวภูเก็ต ในอัตราที่มากพอเมื่อไหร่

“โครงการเปิดประเทศภูเก็ตแซนด์บอกซ์ในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นแนวคิดที่ดีเราก็สนับสนุน แต่ในเชิงปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังไม่มากพอสำหรับการรีสตาร์ตธุรกิจ”

ดังนั้น ประเด็นสำคัญในวันนี้คือ ต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น เรียนรู้ และหาแนวทางปรับตัว แก้ไขต่อไป

เชื่อ นทท.มองหาโปรดักต์ที่ดี

ต่อคำถามที่ว่า มองว่าหลังโควิดธุรกิจ attraction หรือสถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบโชว์ศิลปวัฒนธรรมจะยังตอบโจทย์นักท่องเที่ยวอยู่หรือไม่ “พัณณิน” บอกว่า ส่วนตัวมองว่าประเด็นที่เป็นอุปสรรคสำคัญน่าจะเป็นเรื่องของกฎ กติกาใหม่ของการเดินทางระหว่างประเทศมากกว่าเรื่องของโปรดักต์ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ หรือต้องการวัคซีนพาสปอร์ต ฯลฯ

แต่สำหรับโปรดักต์ท่องเที่ยวนั้นยังเชื่อว่านักท่องเที่ยวยังแสวงหาโปรดักต์ที่ดี ซึ่งที่ผ่านมา “สยามนิรมิต” เป็นโชว์ที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย และได้รับการยอมรับว่าเป็นโชว์ที่ดีที่สุดในโลกโชว์หนึ่งที่ได้รับคะแนนจากการรีวิวของทริปแอดไวเซอร์ในระดับที่ดีมาตลอด

ที่สำคัญ ยังพิสูจน์แล้วว่าเป็นโชว์ที่นักท่องเที่ยวทุกชาติ ทุกภาษาให้การยอมรับมาเกือบ 20 ปี จึงมั่นใจว่าเมื่อไหร่นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจการเดินทางและพร้อมกลับมาในปริมาณที่มากพอ “สยามนิรมิต” ก็พร้อมเปิดให้บริการอีกครั้งแน่นอน