โวเชอร์ที่พักพุ่งรับคลายล็อก “มาคาเลียส” ย้ำการ์ดอย่าตก

โรงแรมที่พัก

“มาคาเลียส” สตาร์ตอัพธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ เผยยอดจองโวเชอร์ที่พักพุ่ง 100% รับรัฐคลายล็อก เดินทางข้ามจังหวัดได้ โรงแรม-ที่พักใกล้กรุงเต็มทุกเสาร์-อาทิตย์ เตือนนักท่องเที่ยวระมัดระวัง เลี่ยงคนหมู่มาก ขณะที่ผู้ประกอบการเข้มเรื่องสุขอนามัย เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ หวั่นโควิดระลอก 5 มาอีกรอบ

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) สตาร์ตอัพธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์แบรนด์ไทย เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา

ณีรนุช ไตรจักร์วนิช
ณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด

โดยอนุญาตให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ ส่งผลให้ยอดจองโวเชอร์ที่พักของบริษัทพุ่งสูงขึ้นกว่า 100% โดยมียอดจองสูงกว่า 10,000 โวเชอร์ภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่พักใกล้กรุงเทพฯ เช่น พัทยา (ชลบุรี) หัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) ระยอง เขาใหญ่ (นครราชสีมา) กาญจนบุรี เป็นต้น และจากการสอบถามโรงแรมที่พักหลายแห่งในช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ พบว่ามีการจองเข้าพักเกือบเต็ม 100% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง

“แม้ทางรัฐบาลจะมีมาตรการคลายล็อกดาวน์และยอดจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดจำนวนลง แต่ก็ยังคงประมาทในการใช้ชีวิตไม่ได้ ดังนั้น นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องยกการ์ดให้สูงตลอดเวลา”

สำหรับในฟากของนักท่องเที่ยวนั้น อาจจะต้องเพิ่มการดูแลตัวเองที่มากขึ้นเป็นพิเศษเมื่อเดินทางออกไปท่องเที่ยว เช่น สอบถามถึงมาตรการด้านสุขอนามัยของโรงแรมที่จะเข้าพักทุกครั้งหลีกเลี่ยงพื้นที่การอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก อาจพิจารณาเลือกโรงแรมที่มีพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่กว้างขวาง หรือการเลือกโรงแรมขนาดเล็กที่มีจำนวนห้องพักน้อย เป็นต้น

ขณะที่ผู้ประกอบการในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ถือเป็นโอกาสของธุรกิจท่องเที่ยวที่จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณหรือจำนวนนักท่องเที่ยว และต้องมีการเข้มงวดด้านสุขภาพอนามัยเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การเว้นระยะห่าง

โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การสอบถามหรือคัดกรองนักท่องเที่ยวก่อนเข้าพัก เช่น การสอบถามเรื่องการฉีดวัคซีน (ไทม์ไลน์) การท่องเที่ยวช่วงก่อนหน้าในรอบ 7 วัน รวมถึงบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้าพัก เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของการบริการก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่น การเช็กอิน เช็กเอาต์ บนห้องพัก การเพิ่มจุดรับประทานอาหารเช้าแบบ open air ริมสวนหรือริมชายหาด เป็นต้น

นางสาวณีรนุชกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าบริษัทคาดการณ์ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากนี้ต่อไปจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามลำดับ และคาดว่า
จะกลับมาให้บริการได้แบบเต็ม 100% ช่วงประมาณปี 2565-2566 ตามคาดการณ์ของไออาต้า (สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ) ที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้


โดยคาดการณ์จากภาพรวมของการควบคุมโรคระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีการอนุญาตให้สายการบินต่างประเทศบินเข้าประเทศไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องช่วยกันประคับประคองให้ธุรกิจท่องเที่ยวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้