คนไทยสุดอั้นเตรียมเที่ยว “โปรโมชั่น-ผู้ติดเชื้อ” ตัวแปรหลัก

ท่องเที่ยว

วันนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักมาแล้ว 1 ปี 9 เดือน การฟื้นฟูเพื่อให้ธุรกิจกลับมาเดินหน้าต่ออีกครั้งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

ข้อมูลการสำรวจและวิจัยตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคจึงน่าจะเป็น “เข็มทิศ” ที่ดีสำหรับการนำทางให้ผู้ประกอบการวางแผนการทำการตลาดได้ตรงเป้าหมาย สอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหลังโควิดที่เปลี่ยนไป และสามารถกลับมาพลิกฟื้นและเดินหน้าต่อได้อีกครั้ง

เชื่อมั่นการท่องเที่ยว

“ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) บอกว่า ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในวันนี้เริ่มที่จะมองเห็นโอกาสในการกลับมาฟื้นฟูธุรกิจกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ (domestic tourism)

ดังนั้น เพื่อให้คนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้อย่างยั่งยืน จึงได้พยายามนำงานวิจัยและการสำรวจข้อมูลการตลาดและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปัจจุบันจากหลาย ๆ สำนักมาเสนอ เพื่อให้คนท่องเที่ยวเห็นแนวโน้มและความต้องการของตลาดหลังจากนี้

โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลของการสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวของอินทัช รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลแทนซี่ (In-Touch Research) ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และการสำรวจของบาลามิซี่ รีเสิร์ซ แอนด์ คอนซัลแทนต์ (Baramizi Research) ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ

โดยตอบว่า มีความมั่นใจอย่างยิ่ง 4.95% เชื่อมั่น 10.10% และเชื่อมั่นปานกลาง 43.50% ส่วนกลุ่มที่ยังไม่เชื่อมั่นมีสัดส่วน 24.46% และไม่เชื่อมั่นอย่างยิ่ง 6.99%

ทั้งนี้ สาเหตุที่พบว่าความเชื่อมั่นไม่สูงนักนั้นเป็นผลจากในช่วงที่ทำการสำรวจ คือ ช่วงเดือนสิงหาคม-กรกฎาคม ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังค่อนข้างสูง หรืออยู่ในระดับ 15,000-16,000 คนต่อวัน

โดยในกลุ่มที่ยังคงไม่เชื่อมั่นนั้น ส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ โดย 90.86% คือ พบผู้ติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก (สิงหาคม) 3.61% ไม่ได้รับวัคซีน 2.14% มาตรการป้องกันไม่เข้มงวดพอ 1.77% สภาพเศรษฐกิจไม่ดี และ 0.84% วัคซีนไม่มีคุณภาพ

ส่วนเหตุผลที่เชื่อมั่นพบว่า 24.04% บอกว่า มั่นใจในมาตรการป้องกัน 17.34% มั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด 4.68% มั่นใจว่าจะดูแลตัวเองได้ดี 4.33% เดินทางสะดวก และ 41.9% คือ ความเข้มงวดของมาตรการของจังหวัดปลายทาง

อยากเที่ยว-ยังไม่ตัดสินใจครึ่ง ๆ

“ดร.อดิษฐ์” บอกด้วยว่า เมื่อดูประเด็นความต้องการท่องเที่ยวในปี 2564 พบว่า สัดส่วนคนที่ต้องการเดินทางกับยังไม่ได้ตัดสินใจมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจส่วนใหญ่ หรือ 47.89% บอกว่า ไม่อยากเผชิญความเสี่ยงการติดโควิด รองลงมาคือ สถานการณ์การเงินไม่พร้อม (13.86%) ยังไม่ฉีดวัคซีน (12.15%) ไม่สะดวกกับมาตรการควบคุมเข้า-ออกจังหวัดปลายทาง (11.57%) และต้องการให้คนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนก่อน (8.13%)

ส่วนกลุ่มที่ต้องการเดินทางนั้นระบุว่า มีแผนท่องเที่ยวในเดือนกันยายน 5.87% เดือนตุลาคม 11.69% เดือนพฤศจิกายน 12.01% และธันวาคม 66.73%

โดยเหตุผลของการเดินทางนั้นส่วนใหญ่ (54.87%) ต้องการท่องเที่ยว พักผ่อน ตามด้วย เยี่ยมญาติ (22.36%) ทำธุรกิจ หรือติดต่อราชการ (10.62%)

รอ “โปรโมชั่น-มาตรการ” กระตุ้น

สำหรับปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการตัดสินใจเดินทางนั้น อันดับ 1 คือ โปรโมชั่น เช่น ส่วนลดค่าห้องพัก (49.27%) รองลงมาคือ มาตรการส่งเสริมภาครัฐ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทัวร์เที่ยวไทย (39.50%) โปรโมชั่นส่วนลดค่าเดินทาง เช่น ตั๋วเครื่องบิน รถเช่า (39.13%) มาตรการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง เรารักกัน (37.84%) และความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนวันจอง/วันท่องเที่ยว (37.68%)

ส่วนแรงจูงใจผลักดันให้ออกเดินทางท่องเที่ยว คือ ความอึดอัดจากการที่บ้านไม่สามารถเป็นที่พักผ่อนให้ความผ่อนคลาย ทำให้เกิดความเครียดสะสม จึงเกิดความต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ ซึ่งจากข้อมูลการวิจัยพบว่า แรงจูงใจที่โดดเด่น คือ

1.ท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ

2.ท่องเที่ยวสายชิล ใช้ชีวิตให้ช้าลง ผ่อนคลายความเครียด

3.ท่องเที่ยวเพื่อคลายความเหงา บรรเทาความเบื่อหน่าย

และ 4.ท่องเที่ยวเพื่อความรู้สึกเป็นอิสระ ค้นพบด้านใหม่ ๆ และเข้าใจตัวเองมากขึ้น

“เที่ยวข้ามภาค” มาแรง

โดยแผนการเดินทางที่เป็นจุดหมายปลายทางในประเทศที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้นั้น “ดร.อดิษฐ์” บอกว่า จากการสรุปข้อมูลวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่ หรือ 71.51% มีแผนเดินทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาค และ 28.49% มีแผนเดินทางภายในภูมิภาคตัวเอง

ส่วนลักษณะการท่องเที่ยวนั้นพบว่า 81.98% ต้องการพักค้างคืน และ 18.02% ไม่พักค้างคืน โดยมีจำนวนวันท่องเที่ยวเฉลี่ย 3.07 วัน โดยจังหวัดยอดนิยม 10 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ (17.17%) ตามด้วย กระบี่ (12.10%) ภูเก็ต (7.97%) ชลบุรี (7.56%) กาญจนบุรี (6.82%) กรุงเทพฯ (6.55%) เพชรบูรณ์ (2.41%) จันทบุรี (2.37%) ประจวบฯ (2.31%) และสุราษฎร์ธานี (2.11%)

สำหรับวันเดินทางท่องเที่ยวนั้นพบว่าต้องการเที่ยววันเสาร์-อาทิตย์ 43.81% วันจันทร์-ศุกร์ 43.55% และวันหยุดพิเศษ หรือนักขัตฤกษ์ 12.64%

จากผลการวิจัยนี้พบว่า แนวโน้มคนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ กับวันธรรมดาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

คนรุ่นใหม่พร้อมออกเดินทาง

แนวโน้มดังกล่าวสอดรับกับผลการวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ที่ได้ทำวิจัย “NEO TOURISM ท่องเที่ยวมิติใหม่เจาะอินไซต์นักเดินทาง” จากกลุ่มตัวอย่างการสำรวจงานวิจัย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 18-35 ปี (ไม่มีลูก) และกลุ่มครอบครัว ทั้งในเชิงคุณภาพจากกลุ่มตัวอย่าง 50 คน และเชิงปริมาณ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,048 คน

โดยผลการวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะออกเดินทางท่องเที่ยว คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะที่กลุ่มครอบครัวเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน และมีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ

ที่สำคัญ ท่องเที่ยวไทยไม่อาจจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป โดยปี 2565 นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ และการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติจะได้รับความนิยมสูงสุด

โดยจังหวัดท่องเที่ยวที่จะได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรกในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ตามลำดับ และในกลุ่มครอบครัว ได้แก่ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ตามลำดับ

ลุ้นผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 500 คน/วัน

“ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร” หัวหน้าสาขาการตลาด CMMU บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้นักเดินทางกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง อันดับ 1 คือ ยอดผู้ติดเชื้อลดลงน้อยกว่า 500 คนต่อวัน รองลงมาคือ สัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีน มีมากกว่า 70% ทั่วประเทศ และอันดับ 3 ตนเองได้รับวัคซีนที่มั่นใจ mRNA

และเมื่อพิจารณาสถิติความต้องการในการท่องเที่ยวพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ 45.8% และกลุ่มครอบครัว 52.2% ยังรู้สึกกังวล โดยรอสถานการณ์คลี่คลายก่อน รองลงมากลุ่มคนรุ่นใหม่ 43.8% และกลุ่มครอบครัว 28.3% ต้องการเที่ยวโดยเร็วที่สุด ตามด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ 10.4% และกลุ่มครอบครัว 19.6% เที่ยวก็ได้ ไม่เที่ยวก็ได้

ธุรกิจอาหาร-ประกันมาแรง

โดยธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ระหว่างทริปที่นักเดินทางโหยหาที่สุด คือ ธุรกิจกลุ่มร้านอาหารและคาเฟ่ ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่มักมีพฤติกรรมตระเวนหาอาหารโดยจะเลือกร้านที่ไม่แออัด มีพื้นที่นั่งด้านนอก ขณะที่กลุ่มครอบครัว ให้ความสำคัญต่อการพักผ่อนในที่พักเป็นหลัก โดยเปลี่ยนเป็นรับประทานอาหารในโรงแรม เพราะเชื่อมั่นในการรักษาความสะอาด และเลือกทำกิจกรรมในโรงแรมมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทาง

อีกหนึ่งการค้นพบที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจประกันเดินทางเสริมเรื่องโควิด-19 อาจจะเป็นบริการที่มาแรง เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่สนใจซื้อประกันมากถึง 59.4% ขณะที่กลุ่มครอบครัวสนใจซื้อประกันพุ่งสูงถึง 71.7%

ใช้จ่ายเฉลี่ย 3-5 พันต่อทริป

สำหรับข้อมูลด้านงบประมาณ และระยะเวลาที่นักเดินทางจะใช้สำหรับการวางแผนจัดทริปท่องเที่ยวหลังโควิด-19 นั้น “ผศ.ดร.บุญยิ่ง” บอกว่า มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่จะเลือกจัดแผนการเดินทางที่ 3-4 วัน เดินทางเป็นกลุ่ม 3-4 คน ตั้งงบประมาณต่อคนไว้ 3,000-5,000 บาท

ส่วนกลุ่มครอบครัว เลือกจัดทริป 3-4 วัน เฉพาะคนในครอบครัว ตั้งงบประมาณต่อครอบครัวลดลงเหลือ 3,000-5,000 บาท

เฟซบุ๊ก-Google ครองใจ

โดยช่องทางออนไลน์ในการใช้หาข้อมูลก่อนการเดินทางพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมดูข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก (Facebook) 31.1% รองมาคือเว็บไซต์ Google 29.4% และ YouTube 21.9% ส่วนกลุ่มครอบครัว นิยมดูข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Google 38.6% รองลงมาคือ เฟซบุ๊ก (Facebook) 29.8% และ YouTube 19.8%

นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่พบได้ชัดเจน คือ นักเดินทางเลือกติดต่อตรงกับโรงแรม (direct to hotel : D2H) เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น 2% และกลุ่มครอบครัวเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่การติดต่อจองที่พักผ่าน online travel ลดน้อยลง กลุ่มคนรุ่นใหม่ลดลง 5% และกลุ่มครอบครัวลดลง 3%

โดยนักเดินทางทั้ง 2 กลุ่มคิดเห็นตรงกันว่า ยอมจ่ายแพงเพื่อให้ยกเลิกการจองได้ ดีกว่าการจองถูกกว่า แต่ยกเลิกไม่ได้

กลยุทธ์การตลาดเพื่อ “ธุรกิจท่องเที่ยว”

ด้านกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับการท่องเที่ยวยุคใหม่นั้น “ธรชญาน์ สุขสายชล” นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลวิจัยทำให้ค้นพบแนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่ (neotourism trends) 3 ข้อที่ต้องให้ความสำคัญประกอบด้วย 1.nature seeking ตามหาธรรมชาติ 2.hygiene aholic ติดสะอาด และ 3.flexi needed ต้องการความยืดหยุ่น

พร้อมด้วยกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่เรียกว่า “roadmap strategies” ที่จะเป็นแนวทางการรับมือของธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวไทยสู่ยุค neotourism รับปี 2565 ได้แก่

R : reliable service คือ ยกระดับความน่าเชื่อถือในการบริการ ธุรกิจต้องมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนทั้งในด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย คุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงศักยภาพของบุคลากรที่แสดงถึงความพร้อมในการให้บริการ

O : optimized experience คือ ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ปรับให้โดนใจนักท่องเที่ยว ธุรกิจต้องสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ โดยปรับให้เหมาะกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป

A : antidisease คือ ปลอดเชื้อ ปลอดโรค ปลอดโปร่ง และปลอดภัย ธุรกิจต้องเน้นเรื่องความสะอาด ปลอดภัย มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อแสดงความมั่นใจต่อนักเดินทาง เช่น เปลี่ยนจาก welcoming drink เป็น welcoming hygienic kit set มอบหน้ากากผ้าสกรีนโลโก้โรงแรม หรือ ATK (home use) เป็นของที่ระลึก

D : direct to hotel คือ ดีลตรงกับโรงแรม แต้มต่อโดนใจ จัดให้ไม่อั้น ธุรกิจต้องรู้จักสร้างช่องทางการขายที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ตัดคนกลางออกจากกระบวนการซื้อขายเพื่อลดช่องว่างในการสื่อสาร และมอบบริการที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

M : media matching คือ ใช้สื่อหลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง เจาะกลุ่มเป้าหมายต่างวัยต่างสไตล์ โดยการใช้ช่องทาง การสื่อสารที่หลากหลาย

A : alliance คือ กระชับมิตรกับคู่ค้าเพื่อจัดการบริการแบบเกื้อหนุน สร้างเครือข่ายทางธุรกิจเพื่อผนึกกำลัง รังสรรค์บริการที่ครบครันสมบูรณ์แบบ

และ P : part of community คือ ขับเคลื่อนชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจตนให้ยั่งยืน การที่ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนชุมชนผ่านรูปแบบการให้บริการที่กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ให้บริการบนพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรอบ

รวมไปถึงการพัฒนาธุรกิจของตนเพื่อให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน