AWC ยกเครื่องพอร์ตแสนล้าน ดีลซื้อกิจการล้นมือ 200 โรงแรม

วัลลภา ไตรโสรัส
วัลลภา ไตรโสรัส

“วัลลภา ไตรโสรัส” ลูกสาวเจ้าสัวเจริญ เดินหน้าทรานส์ฟอร์ม “AWC” กลุ่มโรงแรม-อาคารสำนักงาน-ศูนย์ค้าปลีกค้าส่งมูลค่า 1.34 แสนล้าน ซินเนอร์ยีพอร์ตธุรกิจในเครือทุกมิติ ทั้ง “บุคลากร-จัดซื้อจัดจ้าง” เผยลดต้นทุนลงกว่า 36% สร้างแพลตฟอร์ม “AWC connext” เชื่อมธุรกิจ-ฐานลูกค้าเป็นหนึ่งเดียวรับ next normal กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังโควิด เผยมีโปรเจ็กต์เสนอขายกิจการกว่า 200 โครงการ ดึงระบบดาต้าอะนาไลติกส์มาช่วยวิเคราะห์โครงการ

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ในเครือทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตโควิด

บริษัทได้วางกลยุทธ์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาตอบโจทย์ลูกค้า และสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้พลิกฟื้นโดยเร็ว โดยได้ปรับปรุงรีโนเวตสินทรัพย์ทั้งหมดให้เป็นสินทรัพย์คุณภาพ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ดูแลผู้ถือหุ้น ดูแลคู่ค้า ฯลฯ และปรับกลยุทธ์เรื่องประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งระบบ เพื่อบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายในรูปแบบใหม่

ทรานส์ฟอร์มองค์กร-ลดต้นทุน

โดยช่วงโควิด บริษัทได้บริหารจัดการต้นทุนลดลงได้ประมาณ 36% โดยเป็น fixed cost ประมาณ 22% โดยมีทั้งเรื่องจัดการบุคลากรที่มีใช้ระบบ HR pool ของพอร์ตธุรกิจต่าง ๆ ร่วมกันทั้งโรงแรม อาคารสำนักงานให้เช่า ศูนย์ค้าปลีกและค้าส่ง รวมถึงการรวมระบบจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อช่วยให้ต้นทุนต่ำลง อีกส่วนสำคัญคือการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ด้วยการเปลี่ยนระบบไฟฟ้า ระบบแอร์ต่าง ๆ รวมถึงการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟ ฯลฯ

เนื่องจากระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเป็นต้นทุนใหญ่ของกลุ่มธุรกิจโรงแรม อสังหาฯให้เช่า ซึ่งแนวทางดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนรายจ่ายประจำได้จำนวนมาก และทำให้สามารถสร้างกระแสเงินสดกลับมาได้มากกว่าเดิม

นอกจากนี้ยังพัฒนาแพลตฟอร์มที่เรียกว่า AWC Connext สำหรับเชื่อมโยงและซินเนอร์ยีศักยภาพของธุรกิจในเครือและฐานลูกค้าในเครือข่ายให้มาอยู่ในฐานดาด้าเบสเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงช่องทางใหม่ ๆ ให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์ที่ดีในทุกช่องทางเป็น omniexperience เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในรูปแบบใหม่ โดยผนึกพลังของธุรกิจในพอร์ตทั้งหมด

รวมถึงได้ร่วมกับเชนโรงแรมเปลี่ยนระบบการจองห้องพัก (booking) เนื่องจากมองว่ากลยุทธ์ใหญ่ของโรงแรมคือช่องทางการขาย หากไม่มีระบบบุ๊กกิ้งที่ดีของตัวเองก็จะทำให้มีต้นทุนการจองห้องพักสูงถึง 30% ของรายรับ แต่ระบบบุ๊กกิ้งใหม่นี้ทำให้บริษัทมีต้นทุนอยู่ในระดับ 5-10% ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ยังมีแผนพัฒนาไปถึงเรื่องโมบายแอ็กเซส ที่ครอบคลุมการดูแลเรื่องความปลอดภัยของแขกที่เข้าพักอีกด้วย

ผนึกธุรกิจ-ฐานลูกค้าในเครือ

นางวัลลภาอธิบายว่า ลูกค้า AWC สามารถเชื่อมใช้บริการสินค้าและบริการของทุกธุรกิจในเครือซึ่งเป็น quality asset ร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ เป็นการ merged lifestyle โดยลูกค้าอาคารสำนักงาน ลูกค้ารีเทลสามารถมาใช้ศักยภาพของโรงแรมได้ ลูกค้าโรงแรมก็เข้าแพลตฟอร์มเพื่อซื้อบริการอื่น ๆ ได้ ทำให้ลูกค้าของ AWC สามารถมีความสุขกับประสบการณ์ใหม่ ๆของทั้งเครือ ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา

ยกตัวอย่างเช่น เทรนด์ work anywhereหรือ workation ของลูกค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ได้กลายเป็นโมเดลหลักที่ตอบโจทย์เรื่องอัตราการเข้าพัก (occupancy) ของกลุ่มธุรกิจโรงแรม ดังนั้น หัวใจสำคัญของคอนเซ็ปต์ omniexperience คือต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าในหลากหลายเซ็กเตอร์ซึ่ง

นอกจากลูกค้าอาคารสำนักงาน เข้ามาใช้บริการโรงแรม ลูกค้าโรงแรมเข้าไปบริการในธุรกิจที่ไม่ใช่โรงแรมแล้วปัจจุบันบริษัทยังตอบโจทย์ถึงธุรกิจรีเทล โดยนำสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของกลุ่มรีเทลเข้ามาเพิ่มมูลค่าด้วย

สำหรับธุรกิจในพอร์ตของ AWC มีทั้งในส่วนของฮอสพิทาลิตี้ หรือโรงแรมและการบริการ ที่บริหารภายใต้แบรนด์ชั้นนำระดับโลก อาทิ แมริออท, เดอะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล, โอกุระ, บันยันทรี, ฮิลตัน, เชอราตัน เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ทั้งรีเทล โฮลเซล และคอมเมอร์เชียล อาทิ เอเชียทีคเดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกทเวย์ แอท บางซื่อ, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ, ตะวันนา บางกะปิ และกลุ่มอาคารสำนักงาน โดยโครงการที่โดดเด่นคือ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ และอาคารแอทธินี ทาวเวอร์ โดยข้อมูลงบการเงินณ ไตรมาส 2/64 บริษัท AWC มีสินทรัพย์มูลค่า 134,283.83 ล้านบาท

รับธุรกิจก้าวกระโดดหลังโควิด

นอกจาก AWC Connext จะเป็นแพลตฟอร์มรวมฐานข้อมูลลูกค้าแล้ว ยังเป็นหนึ่งในคุณค่าและซินเนอร์ยีพลังของธุรกิจในเครือให้มีความแข็งแกร่ง รวมถึงยังสามารถสร้างพลังในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างในระดับโอเปอเรชั่นอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทมีฐานที่มั่นคง มีกลไกการทำงานที่ชัดเจน เพื่อตอบโจทย์ดีมานด์ที่จะกลับมาหลังวิกฤตโควิด ให้กลับมาแข็งแกร่งและมั่นคงกว่าเดิมที่สำคัญสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

“เราเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ทำ work from home เมื่อปีที่แล้ว จึงมองว่าประสบการณ์ในเรื่องของ omniexperience จึงเริ่มพัฒนาโปรแกรมอย่างจริงจัง แต่จริง ๆ แล้วเราเตรียมแผนไว้ตั้งแต่ขายไอพีโอเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นตั้งเป้าแผนไว้ 5 ปี เพราะคิดว่าทั้งพนักงานและลูกค้าของเรายังรับกับการเปลี่ยนแปลง แต่พอโควิดมาทำให้การเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด หรือ next normal ได้ทันที” นางวัลลภากล่าว

พาร์ตเนอร์ชิป Key Success

นางวัลลภากล่าวด้วยว่า นอกจากบริษัทจะมุ่งเน้นในเรื่องของการผนึกพลังของธุรกิจและฐานลูกค้าในเครือข่ายแล้ว หนึ่งในจุดแข็งของกลยุทธ์และเป็นหัวใจความสำเร็จคือการจับมือกับพันธมิตร โดยเชื่อมั่นว่าพาร์ตเนอร์ที่ดีมีศักยภาพ จะทำให้ประสบความสำเร็จ เช่น กลุ่มโรงแรมและบริการ (hospitality) บริษัททำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ระดับโลกที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งและมีฐานลูกค้าที่ชัดเจน โดยปัจจุบันมีถึง 8 เชนที่มารวมพลังในโจทย์เชิงธุรกิจ เช่นเดียวกับในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ บริษัทจะเน้นทำงานร่วมกับดีเวลอปเปอร์ต่าง ๆ

รวมถึงเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีที่บริษัทได้เซ็นสัญญากับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพัฒนาระบบนิเวศสำหรับสมาร์ทลิฟวิ่งในโครงการของ AWC ทั้งหมด

หรือในกลุ่มธุรกิจค้าส่ง ได้ร่วมกับแบรนด์ Yiwu (อี้อู) ผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดใหญ่ที่สุดของโลก จากเมืองอี้อู ประเทศจีน ทำโมเดลค้าส่งทั้งอิมพอร์ตและเอ็กซ์ปอร์ต พัฒนาศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำเป็น AEC TRADE CENTER ฮับเออีซี

ไม่หวั่นตลาดเปลี่ยนมีดีมานด์ใหม่

นางวัลลภากล่าวต่อไปอีกว่า จากแนวโน้มตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายอย่างไม่กลับมาเหมือนเดิมนั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจบ้าง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้มีดีมานด์ใหม่เกิดขึ้นที่เข้ามาทดแทนคือ กลุ่ม work anywhere, กลุ่ม staycationรวมถึงกลุ่มลองสเตย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่ากลุ่มแรกที่จะเดินทางคือกลุ่มลักเซอรี่ ซึ่งพร็อปเพอร์ของกลุ่ม AWC สามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด ส่วนกลุ่มที่จะเดินทางหลังสุดคือกลุ่มประชุมสัมมนา (MICE) แต่ที่ผ่านมาก็ยังพบว่าพาร์ตเนอร์ในกลุ่มธุรกิจประชุมสัมมนาระดับโลกส่วนใหญ่ยังไม่ได้ยกเลิกการเดินทาง เพียงแต่เลื่อนเท่านั้น เพราะเชื่อว่าการประชุมสัมมนายังมีความสำคัญในมุมของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้าและคู่ค้า

เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบเป็นการกระจายสถานที่ไปหลาย ๆ แห่งพร้อมกันแล้วใช้เทคโนโลยี แทนที่จะมาประชุมแบบกลุ่มใหญ่ทั้งหมด

 

ลุยลงทุนในไทย-ไม่สน ตปท.

นางวัลลภากล่าวว่า จุดแข็งของ AWC คือความสามารถบริหารจัดการต้นทุนการพัฒนาโครงการ ซึ่งในช่วงทำไอพีโอ ทางโจนส์แลงฯได้วิเคราะห์ต้นทุนของบริษัท พบว่า AWC มีต้นทุนครึ่งหนึ่งในตลาด ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความเข้าใจเรื่องอินเวสต์เมนต์และดีเวลอปเมนต์โปรเซส ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญของบริษัท

ขณะที่กลยุทธ์ของ AWC คือ growth rate strategy ดังนั้นแผนในไปป์ไลน์มีการลงทุนเยอะมาก และที่สำคัญ AWC เป็นแฟลกชิปของ “ทีซีซี กรุ๊ป” หมายถึงทรัพย์สิน แลนด์แบงก์ของทีซีซี กรุ๊ป ก็เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในไปป์ไลน์การลงทุนของ AWC

ในส่วนสัญญาให้สิทธิของทีซีซี AWC ก็ไม่ต้องรีบซื้อ โดยมีการตกลงราคาและอนุมัติซื้อไปแล้ว 5 โครงการ หนึ่งในนั้นก็คือโครงการเวิ้งนาครเขษม และเอเชียทีค 2 แต่ยังไม่รีบซื้อ ดูจังหวะ โดยตอนนี้บริษัทรีวิวแผนการลงทุน 5 ปีและพิจารณาโอกาสการลงทุนต่าง ๆ ที่มีในตลาดก่อน

ดังนั้นบริษัทจึงมีโอกาสการลงทุนที่รออยู่อีกมาก ขณะเดียวกันก็มีโอกาสในตลาดที่เปิดให้บริษัทเข้าไปลงทุน ส่วนโอกาสการลงทุนในต่างประเทศยังมองว่าไม่น่าสนใจ เพราะบริษัทยังยึดกลยุทธ์ “ไทยแลนด์โฟกัส” ในการที่จะนำจุดแข็งของ AWC ต่อยอดเพื่อเดินไปข้างหน้า

บาลานซ์พอร์ตลงทุน รร.

สำหรับกรณีปีที่ผ่านมา AWC วางแผนจะร่วมมือกับพันธมิตรตั้งกองทุนซื้อกิจการโรงแรมที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง นางวัลลภากล่าวว่า เรื่องการตั้งกองทุนยังไม่จำเป็นในตอนนี้เพราะบริษัทยังมีกระแสเงินสดที่สามารถรองรับได้ เนื่องจากดีลที่เกิดขึ้นยังไม่มาก โดยในช่วงทำไอพีโอนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น ได้มีการวางกลยุทธ์เรื่องกระจายพอร์ตการลงทุนเพื่อบาลานซ์แคชโฟลว์

ทำให้มีฐานรายได้และกระแสเงินสดจากพอร์ตคอมเมอร์เชียล(พื้นที่ให้เช่า) เข้ามาในสัดส่วนเท่า ๆ กันและพอร์ตโรงแรม ซึ่งในการเดินหน้าไปในอนาคตก็จะยังรักษาบาลานซ์แคชโฟลว์ตัวนี้ไว้

ฉะนั้นโอกาสการลงทุนต่าง ๆ ที่เข้ามาก็ต้องตอบโจทย์กลยุทธ์ตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ไปลงทุนในธุรกิจโรงแรมอย่างเดียวและโอกาสที่เข้ามาหลาย ๆ โครงการ อาจจะยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม ทั้งในแง่ของ “ราคา” และ “ผลตอบแทนการลงทุน” เพราะหลักการลงทุนของบริษัทต้องตรงโจทย์กับกลยุทธ์พอร์ต ตรงกับเป้าหมายเรื่องผลตอบแทน ตรงโจทย์ฐานลูกค้าที่เราโฟกัส และต้องตอบโจทย์ในกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท

“ดังนั้นการลงทุนต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ รีวิว โดยใช้ AWC เป็นผู้ลงทุนในโครงการที่ตอบโจทย์กลยุทธ์ไปด้วยกัน แต่โครงการที่เข้ามาเยอะ ๆ ก็ยังไม่ใช่จังหวะ การเข้าไปลงทุนต้องสามารถสร้างคุณค่า ไม่ว่าจะรีโพซิชั่นรีแบรนด์ให้ตรงกลยุทธ์และอยู่ในเดสติเนชั่นที่กระจายพอร์ตต่าง ๆ อยู่ในประเทศ ยังไม่ได้อยู่ในจังหวะที่มีซัพพลายขนาดใหญ่”

ดีลซื้อกว่า 200 โครงการ

นางวัลลภากล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้มีผู้เสนอขายทรัพย์สินมาให้กับทาง AWC ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นวันนี้ทางบริษัทได้มีการพัฒนาระบบเพื่อสนับสนุนการทำงานของทีม acquisitions and investment เป็นระบบที่ให้คนที่ต้องการเสนอขายทรัพย์สินสามารถลงทะเบียนเข้ามา โหลดเอกสารโฉนด ข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาเอง โดยใช้ระบบดาต้าอะนาไลติกส์วิเคราะห์ข้อมูล จัดกลุ่มทรัพย์สินและจัดลำดับความน่าสนใจ จากนั้นค่อยลงไปดูในเชิงลึกในโครงการที่เข้าหลักเกณฑ์ที่บริษัทต้องการ

“ตอนนี้ก็มี 200 กว่าโครงการที่บริษัทกำลังรีวิว จริง ๆ ก็ต้องจัดเป็นกลุ่มประเภททรัพย์สิน เพราะต้องวิเคราะห์ลงลึกในการลงทุน ค่อย ๆ ดูไปด้วยกันว่าสอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ของบริษัทมั้ย ระบบจะช่วยวิเคราะห์รายละเอียดถึงแคแร็กเตอร์โครงการ โลเกชั่น ไปจนถึงโอกาสที่เหมาะสม

สำหรับทรัพย์สินที่เสนอขายมีมาจากทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงแรม ที่เป็นคอมเมอร์เชียลหรือที่ดินไม่มาก แต่ในส่วนที่ดินเปล่า ก็ถือว่ายังไม่น่าสนใจ เท่ากับทรัพย์สินที่จะสามารถทรานส์ฟอร์มสั้น ๆ แล้วมาโอเปอเรตได้เลย ก็ต้องดูว่าทรัพย์สินที่เข้าไปลงทุนจะมาแมตช์กับกลยุทธ์ตัวไหน”

ดีลไม่จบราคายังไม่จูงใจ

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ AWC กล่าวว่า ดีลการซื้อขายกิจการที่เกิดขึ้นในตลาดยังมีไม่เยอะ ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ ถ้าวันนี้นโยบายของภาครัฐและสถาบันการเงินถ้ามีกลไกอย่างเป็นระบบก็คงจะผ่านพ้นไปด้วยกันได้

ขณะเดียวกันราคาของหลาย ๆ โครงการก็ยังเป็นราคาที่เหมือนกับการขายเข้ากองรีท ซึ่งก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ที่จะเอามาทรานส์ฟอร์ม แล้วจะสามารถสร้างแวลูเพิ่มและตอบโจทย์ผลตอบแทนการลงทุน ดังนั้นก็ต้องค่อย ๆ สกรีน ค่อย ๆ ดูจังหวะ

ส่วนแผนเปิดโครงการระยะสั้นก็มีการขยับการเปิดบางโลเกชั่น อย่างโรงแรมอินเตอร์คอนเชียงใหม่ ซึ่งจากการวิเคราะห์หลาย ๆ ปัจจัยก็เลื่อนเปิดจากปลายปีนี้ไปช่วงต้นปีหน้า ส่วนโครงการที่หัวหิน ก็เดินหน้าต่อเต็มสปีดให้เสร็จ

ไทยท็อปเดสติเนชั่นโลก

นางวัลลภากล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางธุรกิจท่องเที่ยวไทยว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นทิศทางที่ดี โดยในส่วนของ AWC มีดีมานด์เพิ่มขึ้นประมาณ 50% และเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นอีกเท่าตัว เมื่อรัฐบาลประกาศลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 7 วัน

จึงมองว่าหากรัฐลดจำนวนวันกักตัวเหลือ 3-4 วันหรือไม่มีเลย จะทำให้เกิดสัญญาณที่ดีขึ้นมาก และหากแผนการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ สามารถเปิดได้โดยไม่มีวันกักตัวก็น่าจะยิ่งทำให้มีโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่อง และช่วยให้ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นทั้งระบบได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ดีมานด์เกือบ 100% เป็นคนไทย โดยหลังจากที่รัฐบาลผ่อนมาตรการการเดินทางในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมในเครือกลับมาเท่ากับเดือนกันยายนของปีที่แล้ว ทำให้เชื่อว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับดีมานด์ต่างประเทศ นางวัลลภากล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าจะกลับมาได้เร็วหากรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศที่ชัดเจน และปรับลดเงื่อนไข ขั้นตอนการเดินทางให้ง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากประเทศไทยเป็น top destination ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก


โดยขณะนี้มีบุ๊กกิ้งระดับโลกส่งสัญญาณมาแล้วว่ามีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอยากเดินทางมาประเทศไทยจำนวนมาก ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าประเทศไทยจะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เป็น happy journey ที่ประทับใจนักท่องเที่ยวได้เพียงใด