“การบินไทย” เพิ่มเที่ยวบิน สู่เอเชีย-ยุโรปรับเปิดประเทศ

ปิยสวัสดิ์-การบินไทย

“การบินไทย” เดินหน้าเพิ่มเที่ยวบินรับเปิดประเทศ ปักธงเส้นทางบินทวีปเอเชีย 19 จุดบิน ยุโรป 9 จุดบิน ออสเตรเลีย 1 จุดบิน รวมถึงเส้นทางภายในประเทศอีก 14 จุดบิน พร้อมเร่งระดมเงินลอตแรก 2.5 หมื่นล้าน ในปี’65 เสริมสภาพคล่อง เผยแผนฟื้นฟูกิจการเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย ทั้งด้านการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ดันผลประกอบการ 6 เดือนแรกดีขึ้น

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TG เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน 2563 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นฟูของธุรกิจการบิน

โดยระหว่างเดือนเมษายน 2563-ตุลาคม 2564 บริษัทมีรายได้จากเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศรวมกว่า 10,000 ล้านบาท มีรายได้จากหน่วยธุรกิจการบินในการให้บริการลูกค้ากว่า 80 สายการบิน เป็นเงินรวม 4,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล การบินไทยได้ปรับเพิ่มเส้นทางบินในตารางบินฤดูหนาว (31 ต.ค. 64-31 มี.ค. 65) โดยในไตรมาสที่ 1/2565 จะมีเส้นทางบินในทวีปเอเชีย 19 จุดบิน ทวีปยุโรป 9 จุดบิน ทวีปออสเตรเลีย 1 จุดบิน และภายในประเทศโดยไทยสมายล์ 14 จุดบิน เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

“ปัจจุบันเส้นทางบินของการบินไทยค่อนข้างครอบคลุมเมืองหลักแล้ว โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปซึ่งกลับมาเดินทางกันแล้ว ซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดีเราก็มีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินรองรับต่อไป”

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีความต้องการสินเชื่อใหม่เข้ามาเสริมสภาพคล่องในวงเงิน 50,000 ล้านบาทตามแผนฟื้นฟูเช่นเดิม โดยตามแผนจะเป็นวงเงินจากรัฐบาล 25,000 ล้านบาท และจากเอกชน 25,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นจะมุ่งเพิ่มวงเงินสินเชื่อใหม่จากภาคเอกชนเป็นหลัก และคาดว่าหากได้เงินสด 25,000 ล้านบาทเข้ามาเสริมสภาพคล่องในปี 2565 จะทำให้บริษัทสามารถประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปี บริษัทมีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร และเพิ่มการหารายได้ ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ส่งผลให้บริษัทสามารถปรับลดต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญ

อาทิ ต้นทุนด้านบุคลากร 16,000 ล้านบาท ด้านประสิทธิภาพฝูงบินและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 ล้านบาท การเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 11,300 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง 1,100 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท เป็นต้น

“และจากการดำเนินโครงการปฏิรูปธุรกิจที่พัฒนาจากการระดมสมองของพนักงานทุกระดับกว่า 1,000 โครงการ ขณะนี้เห็นผลแล้วกว่า 400 โครงการ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ 44,800 ล้านบาทต่อปี” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

และว่า ขณะเดียวกันก็ได้พยายามมุ่งหารายได้จากส่วนต่าง ๆ เข้ามาเพิ่ม โดยจำหน่ายสินทรัพย์รอง เช่น หุ้นของบริษัท BAFS และสายการบินนกแอร์ สำนักงานหลานหลวง สำนักงานที่จังหวัดภูเก็ต ที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เครื่องบินที่ไม่อยู่ในแผนการใช้งาน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีแผนปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเพื่อจำหน่ายจำนวน 42 ลำ ยกเลิกสัญญาเช่าและเช่าซื้อจำนวน 16 ลำ ทำให้บริษัทมีฝูงบินรวม 58 ลำ (รวมถึงฝูงบิน A320 ที่สายการบินไทยสมายล์เช่าดำเนินการ 20 ลำ) และลดแบบเครื่องบินในฝูงบินจาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ ซึ่งแนวทางดังกล่าวทำให้ขนาดและโครงสร้างองค์กรใหม่มีความคล่องตัวและมีศักยภาพในการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นด้วย

สำหรับในส่วนของพนักงานนั้นปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 14,900 คน จากจำนวน 29,500 คน ในปี 2562 ทำให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากกว่า 2,600 ล้านบาทต่อเดือน เหลือกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน


นายปิยสวัสดิ์กล่าวด้วยว่า จากแผนการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนปฏิรูปธุรกิจ ทำให้บริษัทขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 3,973 ล้านบาท เมื่อรวมรายการครั้งเดียวทางบัญชี ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 11,121 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 39,151 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา