กาตาร์ แอร์เวย์ส ยืนหยัด ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว

จาเร็ค ลี
จาเร็ค ลี ผู้บริหารใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศ สายการบิน “กาตาร์แอร์เวย์ส”
สัมภาษณ์พิเศษ

เมื่อหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในโซนยุโรป อเมริกา ฯลฯ เลือกแนวทางเปิดประเทศ เปิดเศรษฐกิจควบคู่กับควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลให้คนในหลายประเทศเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศหลังจากปิดน่านฟ้ากันไปพักใหญ่ วันนี้สายการบินแบรนด์ระดับโลกหลายแห่งทยอยกลับมาให้บริการกันอีกครั้งแล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “จาเร็ด ลี” รองประธานฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ และอนุทวีปอินเดีย สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส ถึงแนวทางการปรับตัวฝ่าวิกฤตโควิด-19 รวมถึงกลยุทธ์ แนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทยไว้ดังนี้

Q : ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิดในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และธุรกิจ ถือเป็นยุคมืดที่สุดของอุตสาหกรรมการบินที่ได้เจอมาในประวัติศาสตร์ธุรกิจการบิน

โดยเห็นชัดเจนว่าจำนวนความต้องการของการเดินทางทั้งเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยวลดลงอย่างมากภายในชั่วข้ามคืน อันเป็นผลมาจากข้อจำกัดการเข้าเมืองที่เข้มงวดและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั่วโลก ผู้ที่จะอยู่รอดได้ก็ต้องเป็นผู้ที่ปรับตัวได้ เปรียบเสมือนเกมที่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดใหญ่ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลอดเวลา

และนี่เป็นการทดสอบที่แท้จริงที่ทำให้เห็นถึงความคล่องแคล่วทางธุรกิจของเราในการดำเนินแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์

Q : “กาตาร์ แอร์เวย์ส” ปรับตัวอยู่กับวิกฤตอย่างไรบ้าง

สถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ทำให้กาตาร์ แอร์เวย์สต้องดำเนินการอย่างแน่วแน่ด้วยความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการปรับตัว โดยยึดหลักกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจนว่าเราจะไม่หยุดบิน และเป็นหนึ่งในไม่กี่สายการบินที่ดำเนินการอยู่ตลอดช่วงการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม จุดหมายปลายทางหลายแห่งในเครือข่ายก็ถูกระงับเนื่องจากการปิดพรมแดนทั่วโลก แต่เครือข่ายของเราไม่เคยลดลงต่ำกว่า 33 แห่งของจุดหมายปลายทางระหว่างประเทศ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสูงสุดของการระบาดใหญ่ในปี 2563 รวมถึงการให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-โดฮาที่ยังคงอยู่ตลอดช่วงการระบาด

นอกจากนี้ ด้วยจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงอย่างกะทันหัน เราจึงได้ระงับการดำเนินการของเครื่องรุ่น A380 ทั้งหมด ซึ่งโชคดีที่สายการบินเราลงทุนกับเครื่องบินประหยัดน้ำมัน รุ่นล่าสุดมาโดยตลอด และเป็นหนึ่งในสายการบินที่มีฝูงบินที่ใหญ่ที่สุดของเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A350 และโบอิ้ง 787 Dreamliner

โดยเชื่อว่าการลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดพลังงานเป็นวิธีลงทุนที่ยั่งยืนสำหรับธุรกิจการบิน รุ่นของเครื่องบินที่หลากหลายของเราจึงช่วยให้กาตาร์ แอร์เวย์สสามารถวางแผนตารางเที่ยวบินที่เหมาะสมในแต่ละเส้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ “กาตาร์ แอร์เวย์ส” ยังเป็นหนึ่งในสายการบินแรก ๆ ที่เริ่มใช้เครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ที่หยุดให้บริการและจอดอยู่มาเปลี่ยนเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า โดยถอดที่นั่งทั้งหมดออกเพื่อการบรรทุกสินค้า ทำให้กาตาร์ แอร์เวย์สกลายเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในหมวดหมู่อุตสาหกรรมของเรา (ยกเว้น UPS และ FedEx)

เรียกว่า แม้ว่าเราจะเจอกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็รับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

Q : ปัจจัยหลักที่ทำให้กาตาร์ แอร์เวย์สให้บริการได้ต่อเนื่องในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา

กลยุทธ์ของเรา คือ การรักษาการดำเนินงานและยึดหลักเป็นสายการบินที่ไม่เคยหยุดบินตลอดช่วงการระบาดใหญ่ เราทำหน้าที่และมุ่งมั่นที่จะอยู่เคียงข้างผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีหรือร้าย ทำให้มีโอกาสในการส่งผู้โดยสารจำนวนมากกลับประเทศบ้านเกิดทั่วโลก เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่หยุดดำเนินการท่ามกลางความต้องการของการส่งตัวกลับประเทศทั่วโลก

“กาตาร์ แอร์เวย์ส” จึงกลายเป็นสายการบินเดียวที่ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารที่ติดค้างจำนวนมากที่จะกลับบ้านเกิดได้อย่างปลอดภัยตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2563 เราได้ช่วยส่งผู้โดยสายกว่า 3.2 ล้านคนให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย

นับเป็นการแสวงหาโอกาสในเชิงรุกและไวในการปรับตัวให้เข้ากับวิกฤตโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ไม่เพียงเท่านี้ในเรื่องความปลอดภัย “กาตาร์ แอร์เวย์ส” ยังเป็นสายการบินระหว่างประเทศแห่งแรกที่ได้รับการจัดอันดับความปลอดภัยจากโควิด-19 ระดับ 5 ดาวจาก Skytrax

และล่าสุดยังได้ลงทุนในเทคโนโลยีเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร เช่น ระบบทำความสะอาดห้องโดยสารด้วยรังสี UV ของ Honeywell เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องบินมีสุขอนามัยในที่เหมาะสมที่สุด รวมถึงเปิดตัวระบบความบันเทิงบนเครื่องบินแบบไม่ต้องสัมผัส ซึ่งผู้โดยสารสามารถควบคุมความบันเทิงผ่านอุปกรณ์ของตนเอง

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ การเปิดตัวจุดหมายปลายทางใหม่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่ได้หยุดให้บริการ แต่เรามองเห็นโอกาสในช่องว่างการเชื่อมต่อทั่วโลก โดยสามารถขยายไปยังบางเส้นทางที่เราไม่ได้บินไปก่อนหน้านี้

เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราได้เริ่มดำเนินการที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ และในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมืองบริสเบนเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ที่เราเปิดตัวเพื่อตอบสนองความต้องการการส่งผู้โดยสารกลับประเทศ รวมถึงเส้นทางเมืองโทรอนโตและซีแอตเติล ก็เปิดตัวในช่วงที่มีการระบาดใหญ่เช่นกัน

Q : ปัจจุบันกาตาร์ แอร์เวย์สกลับมาบินกี่เส้นทางเมื่อเทียบกับช่วงปี 2562

ขณะนี้ “กาตาร์ แอร์เวย์ส” ได้คืนสถานะจุดหมายปลายทางและความถี่ในการบินเพิ่มเติมหลายแห่ง ซึ่งสอดคล้องกับการผ่อนคลายของข้อจำกัดการเข้าประเทศทั่วโลก โดยมุ่งเน้นที่จุดหมายปลายทางหลักทั่วโลกและศูนย์กลางของพันธมิตร

ทั้งนี้ ก่อนเกิดโรคระบาดเรามีการบินไปยังจุดหมายปลายทางกว่า 160 แห่งทั่วโลก แต่ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 140 แห่ง ตัวเลขนี้สะท้อนว่าเรากำลังอยู่ในทิศทางที่ดี

สำหรับประเทศไทยก่อนเกิดโควิด-19 กาตาร์ แอร์เวย์สได้ให้บริการถึง 49 เที่ยวบินต่อสัปดาห์สำหรับเส้นทางกรุงเทพฯ-โดฮา และ 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์สำหรับเส้นทางภูเก็ต-โดฮา ปัจจุบันเรามีเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ-โดฮา 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเที่ยวบินภูเก็ต-โดฮา 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และมีแผนจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

Q : มีแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงปลายปีนี้และสำหรับปี 2565 อย่างไร

กาตาร์ แอร์เวย์สยังคงมองโลกในแง่ดีในด้านการท่องเที่ยว เราตระหนักดีถึงความต้องการด้านการท่องเที่ยวของผู้คนทั่วโลก และเชื่อว่าเมื่อทุกอย่างดีขึ้นจำนวนการจองตั๋วจะต้องเพิ่มขึ้นเร็ว ๆ นี้แน่นอน

โดยยังคงมั่นใจว่าการเดินทางเพื่อธุรกิจจะกลับมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์กับลูกค้าและการมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว ซึ่งมีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แต่อาจถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดในการเข้าเมืองมากกว่า

กาตาร์ แอร์เวย์สพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของนักเดินทาง เพื่อธุรกิจด้วยเครือข่ายทั่วโลกที่กว้างขวางและผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมี่ยม ซึ่งรวมถึงคิวสวีตเมื่อบินด้วยชั้นธุรกิจ

ส่วนกลยุทธ์ของเรานั้นเรียบง่าย โดยนักเดินทางเพื่อธุรกิจจะเลือกกาตาร์ แอร์เวย์สเพราะพวกเขารู้ว่าสามารถไว้วางใจให้เราพาไปยังที่ที่ต้องการด้วยเครือข่ายระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และด้วยความเป็นเลิศด้านการบริการ ผลิตภัณฑ์ชั้นนำ และมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพที่พวกเขาคาดหวัง

ทั้งนี้ “กาตาร์ แอร์เวย์ส” จะยังรักษานโยบายการจองที่ยืดหยุ่น เพราะรู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นไม่อาจคาดเดาได้ และผู้โดยสารก็ต้องการความอุ่นใจในการจอง

พร้อมทั้งเปิดรับความร่วมมือต่าง ๆ กับพันธมิตร และเตรียมวางแผนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ “กาตาร์ แอร์เวย์ส” เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั่วโลกและของประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

“การบิน” ส่งสัญญาณฟื้นตัว
เชื่อดีมานด์จริงกลับมากลางปี’65

ก่อนเกิดโควิด-19 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ธุรกิจสายการบินมีอัตราการเติบโตที่ดีและมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตโดยรวมของการเดินทางทางอากาศทั่วโลก ภูมิภาคอย่างจีนกำลังเฟื่องฟูทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับสายการบิน “กาตาร์แอร์เวย์ส” ธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยตัวเลขสองหลักทุกปี รวมถึงตลาดประเทศไทยด้วย

“จาเร็ค ลี” ผู้บริหารใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศ สายการบิน “กาตาร์แอร์เวย์ส” บอกว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน “ขุมทรัพย์” ของกาตาร์แอร์เวย์ส เนื่องจากเป็นตลาดที่สำคัญ และให้บริการด้วยจำนวนความถี่ของเที่ยวบินที่สูงสำหรับเส้นทางกรุงเทพฯ-โดฮา (10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ บางวันบินวันละ 2 เที่ยวบิน)

นอกจากนี้ กาตาร์แอร์เวย์สยังได้เปิดบริการที่น่าสนใจบนเครื่องบิน เช่น การร่วมมือกับเชฟชื่อดังอย่าง เชฟเอียน กิตติชัย เพื่อสร้างสรรค์เมนูพิเศษสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจเพื่อเอาใจลูกค้าชาวไทย

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับกาตาร์แอร์เวย์ส

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกับสายการบินส่วนใหญ่ แต่กาตาร์แอร์เวย์สยังคงมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยจะเปิดประเทศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกาตาร์แอร์เวย์สก็ยังอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารชาวไทยต่อไป

ผู้บริหารกาตาร์แอร์เวย์สยังมองภาพการฟื้นตัวของธุรกิจสายการบินด้วยว่า ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้เวลาราว 3-4 ปี สำหรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19

โดยการฟื้นตัวขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของการเดินทางของแต่ละประเทศ นโยบายการกักตัว อัตราการฉีดวัคซีน และปริมาณผู้ป่วยโควิด-19 ฯลฯ ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของสายการบิน

แต่ “กาตาร์ แอร์เวย์ส” ก็พร้อมเสมอที่จะตอบสนองความต้องการนี้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

และยังมองด้วยว่า สำหรับภูมิภาค APAC นั้น การฟื้นตัวอาจจะมีความล่าช้าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ก็เริ่มเห็นการเปิดประเทศกันอีกครั้งแล้วในหลายประเทศในช่วงเดือนที่ผ่านมา

เช่น ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอื่น ๆ ที่อยู่ในระหว่างการผ่อนคลายการควบคุมการเปิดประเทศ และเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค การจองตั๋วเพื่อเดินทางท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาอีกครั้ง

พร้อมทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้อุตสาหกรรมการบินจะเริ่มฟื้นตัว และน่าจะเห็นจำนวนความต้องการที่แท้จริงในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปี 2565 เพราะเป็นช่วงที่ข้อจำกัดด้านการเปิดประเทศจะเปิดกว้างและมีเสถียรภาพมากขึ้น