นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมกาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานสานพลังประชารัฐ (D2) กล่าวว่า เตียมเสนอการเดินหน้าโครงการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนที่ดำเนินการอยู่แล้ว ให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง ไม่เน้นการริ่เริ่มโครงการใหม่ๆ ต่อนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะเวลาที่เหลืออยู่อีกประมาณ 1 ปี ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง จึงอยากให้ความสำคัญกับแผนแม่บทของโครงการที่เริ่มไปแล้วมากกว่า ทั้งนี้ ขณะนี้การท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น เศรษฐกิจ การส่งออกเดินมาในทิศทางที่ดี ดังนั้นทำอย่างไรให้เศรษฐกิจภาพรวมดีกว่าที่เป็นอยู่จากวันนี้ คงต้องใช้การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อผลักดันเศรษฐกิจ อัดฉีดเม็ดเงินลงฐานราก ผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น ส่วนการทำงานกับรัฐมนตรีฯคนใหม่ มั่นใจว่าการทำงานจะไร้รอยต่อ เพราะว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวใหม่ นั่งอยู่ในคณะทำงานสานพลังประชารัฐในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทเพิ่มขึ้นในคณะทำงาน
นายกลินท์ กล่าวว่า ประเด็นหลักที่จะนำเสนอให้พิจารณาต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือในพัทยาใต้ เป็น Pattaya On Pier ยกระดับเป็นแหล่งแม่เหล็กตัวใหม่ควบคู่กับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วางโมเดลคล้ายกับ Pier39 แหล่งท่องเที่ยวริมท่าเรือที่โด่งดังของซานฟรานซิสโก โดยมีแผนการพัฒนาท่าเรือสำราญ รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเกาะล้าน ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย นอกจากนั้น ในฐานะที่ตนเป็นคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วย สั่งการให้ ททท. ร่วมมือกับคณะทำงานเอกชน, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการจัดแผนที่เส้นทางทัวร์ริมโขงเชื่อมโยง 7 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ขณะนี้สรุปออกมาได้ราว 10 เส้นทางแล้ว ซึ่งแต่ละแห่งจะมีจุดขายและเอกลักษณ์ดึงดูดตลาดท่องเที่ยวของตัวเองชัดเจน
นายกลินท์ กล่าวว่า ส่วนโครงการเนรมิตอยุธยาเป็นเมืองต้นแบบรับการท่องเที่ยวนั้น ยอมรับว่าจากแต่เดิมที่ใช้งบประมาณสูงมาก อาจจะต้องปรับลงมา แต่จะเหลือประมาณเท่าไรยังไม่มีความชัดเจน โดยจะเร่งพัฒนาในสิ่งที่ทำได้เป็นพื้นฐานก่อน เช่น การจัดระบบรักษาความปลอดภัย จัดระเบียบถนนหนทาง ร้านค้าแผงลอยต่างๆ และดูแลความสะอาด เป็นต้น พร้อมกับหาแนวทางป้องกันปัญหาที่มักเกิดขึ้น เช่น น้ำท่วม และพิจารณาว่าจะเพิ่มการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เช่น สร้างเลนจักรยาน ไว้หรือไม่ โดยในการทำงานกลุ่มนี้ต้องประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด, กรมศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรมด้วย ขณะเดียวกันการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงกีฬา ที่ดำเนินการไปแล้ว ก็จะไม่ปรับเปลี่ยนเป้าหมาย เช่น การจัดอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ต้องก้าวสู่การยกระดับสู่ปฏิทินการแข่งขันระดับนานาชาติสะสมคะแนนที่นักวิ่งระดับชั้นนำของโลกยอมรับ และเป็นรายการที่ต้องไม่พลาดเข้าร่วมแข่งขันทุกปี มั่นใจว่าการได้พาร์ทเนอร์ผู้จัดแข่งที่มีประสบการณ์จากบอสตัน มาราธอน มาก่อน จะช่วยให้ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย
ที่มา มติชนออนไลน์