แอร์เอเชีย-บางกอกแอร์เวย์ส ขยับเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ

แอร์เอเชีย-บางกอกแอร์เวย์ส

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2564) ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมีอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (revenue passenger kilometers : RPK) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.3 มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (passenger load factor : PLF) อยู่ที่ร้อยละ 67.6 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.6 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยสายการบินภูมิภาคตะวันออกกลาง มีอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 184.1 รองลงมาคือ สายการบินในภูมิภาคอเมริกาเหนือและละตินอเมริกา

ส่วนปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (available seat kilometers : ASK) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 51.1 โดยสายการบินในภูมิภาคละตินอเมริกา มีอัตราเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 133.3 รองลงมาคือ สายการบินในภูมิภาคตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ

ขณะที่สายการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้นเป็นภูมิภาคเดียวที่มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารและปริมาณการผลิตผู้โดยสารลดลง ในอัตราร้อยละ 16.0 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ

9 เดือน ต่างชาติเที่ยวไทย 8.5 หมื่น

สำหรับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 85,845 คน หรือลดลงร้อยละ 99.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

และมีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อยภายหลังการเปิดโครงการ sandbox ในเดือนกรกฎาคม 2564 แต่ภาพรวมการเติบโตด้านการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากหลายประเทศยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมามีจำนวน 45,398 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ดีขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง ขณะที่จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลปลดล็อกมาตรการการเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวได้มากขึ้น

โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศรับชาวต่างชาติจาก 63 ประเทศเข้ามาโดยไม่กักตัวนั้น ทำให้ภาพรวมของการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศเริ่มทยอยมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

และล่าสุดสายการบินภายในประเทศของไทยอย่าง “บางกอกแอร์เวย์ส” และ “ไทยแอร์เอเชีย” ได้ทยอยกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand’s Reopening ของประเทศไทย

BA เปิดบินสิงคโปร์-พนมเปญ

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) บอกว่า หลังจากที่สายการบินได้เปิดให้บริการเส้นทางบินระหว่างสมุย-สิงคโปร์ไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุดนี้ได้แจ้งกลับมาให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศระหว่างเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-พนมเปญ (กัมพูชา) เพิ่มอีก 1 เส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 นี้เป็นต้นไป โดยจะทำการบินด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส 320 ให้บริการ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (จันทร์ พุธ ศุกร์ และอาทิตย์)

ทั้งนี้ คาดว่าการกลับมาเปิดให้บริการในเส้นทางบินดังกล่าวภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของทั้ง 2 ประเทศ จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจของประเทศไทย

ขณะที่เส้นทางภายในประเทศนั้น ปัจจุบัน “บางกอกแอร์เวย์ส” มีเที่ยวบินให้บริการทั้งสิ้น 10 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย ให้บริการวันละ 6 เที่ยวบิน และเที่ยวบินพิเศษเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ วันละ 2 เที่ยวบิน เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ให้บริการวันละ 3 เที่ยวบิน เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ให้บริการวันละ 3 เที่ยวบิน

เส้นทางกรุงเทพฯ-ลำปาง ให้บริการวันละ 2 เที่ยวบิน เส้นทางกรุงเทพฯ-สุโขทัย ให้บริการวันละ 1 เที่ยวบิน เส้นทางสมุย-ภูเก็ต ให้บริการวันละ 2 เที่ยวบิน เส้นทางสมุย-สิงคโปร์ ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เส้นทางกรุงเทพฯ-ตราด ให้บริการวันละ 1 เที่ยวบิน เส้นทางภูเก็ต-หาดใหญ่ ให้บริการวันละ 1 เที่ยวบิน และเส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ ให้บริการสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน

“แอร์เอเชีย” ขยับเปิดมัลดีฟส์

ด้าน “ไทยแอร์เอเชีย” นั้น “สันติสุข คล่องใช้ยา” ซีอีโอ บอกว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเเละเศรษฐกิจ โดยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบเข้าไทย โดยไม่ต้องกักตัว ถือเป็นสัญญาณที่ดีของบรรยากาศการท่องเที่ยว

โดย “ไทยแอร์เอเชีย” พร้อมกลับมาให้บริการระหว่างประเทศเเล้ว โดยเลือก “มัลดีฟส์” เป็นจุดหมายปลายทางเเรก เพราะเป็นเมืองที่เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่กักตัวเช่นเดียวกับประเทศไทย และเป็นเมืองที่อยู่ในรายชื่อ 63 ประเทศที่เดินทางเข้าไทยแบบไม่กักตัวด้วย

จึงเชื่อว่าจะตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยวของคนไทยอย่างมาก หลังจากที่ทุกคนอัดอั้นไม่สามารถท่องเที่ยวต่างประเทศมานาน โดยจะเปิดให้บริการตั้งแต่ 22 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน (พุธ, อาทิตย์)

จ่อเปิดเส้นทางที่ 2 สู่พนมเปญ

“สันติสุข” บอกด้วยว่า นโยบายเปิดประเทศของไทยในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังเป็นการเปิดประเทศฝ่ายเดียว ทำให้ตัวเลขการเดินทางเข้ามาแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวา เพราะส่วนใหญ่ต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยยังถูกกักตัวเมืองเดินทางกลับประเทศของเขา ดังนั้น “ไทยแอร์เอเชีย” จะมองหาประเทศปลายทางที่มีนโยบายเปิดเหมือนกับประเทศไทยเป็นหลัก

ทั้งนี้ คาดว่าเส้นทางต่อจากมัลดีฟส์คือ เส้นทางสู่พนมเปญ (กัมพูชา) เนื่องจากขณะนี้กัมพูชาเริ่มเปิดประเทศและให้ต่างชาติเข้าประเทศได้โดยไม่กักตัวเช่นกัน

ต้นปี’65 ตลาดใน ปท.ฟื้น 100%

สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศนั้น “สันติสุข” ระบุว่า ปัจจุบันให้บริการทั้งหมด 36 เส้นทาง ครบทุกเส้นทางเหมือนช่วงก่อนวิกฤตโควิดแล้ว และภาพรวมของการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีจำนวนเที่ยวบินประมาณ 40-50 เที่ยวบินต่อวัน มีปริมาณการใช้เครื่องบินประมาณ 20 ลำ หรือประมาณ 20% ของคาพาซิตี้ เดือนพฤศจิกายนมีจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยกว่า 100 เที่ยวบินต่อวัน มีปริมาณการใช้เครื่องบินเฉลี่ยที่ประมาณ 15-20 ลำ หรือประมาณ 40% ของคาพาซิตี้

และคาดว่าในเดือนธันวาคมนี้จะมีเที่ยวบินประมาณ 150-160 เที่ยวบินต่อวัน หรือประมาณ 70-80% ของคาพาซิตี้ และกลับมาแตะ 100% หรือเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิดได้ภายในต้นปีหน้า

ทั้งนี้ ประเมินว่าตลอดทั้งปีนี้ “ไทยแอร์เอเชีย” น่าจะมีจำนวนผู้โดยสารที่ประมาณ 3 ล้านคน

คาดธุรกิจพลิกฟื้นปี’66

สำหรับ 2565 นั้น “สันติสุข” ประเมินว่าภาพรวมของเส้นทางการบินภายในประเทศจะกลับมาได้ 100% ตั้งแต่ต้นปี ดังนั้น ตัวแปรหลักที่มีผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจสายการบินในปีหน้าคือ ตลาดต่างประเทศ

โดยประเมินว่าในช่วงไตรมาส 1 ตลาดต่างประเทศน่าจะกลับมาได้ประมาณ 5-10% ตลาดเป้าหมายคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง และอินเดีย

และขยับเป็นประมาณ 20-30% ในช่วงไตรมาส 2 หากจีนเปิดประเทศและให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกและกลับเข้าประเทศโดยไม่กักตัว จากนั้นในไตรมาส 3 ตลาดญี่ปุ่นน่าจะเริ่มกลับมา และน่าจะเริ่มกลับมาได้เกือบทั้งหมดในช่วงไตรมาส 4 หรืออย่างต่ำน่าจะได้ประมาณ 60-70% ของเส้นทางเดิมที่เคยให้บริการในปี 2562 (ก่อนโควิด)

เรียกว่าปี 2565 จะเป็นปีของการฟื้นฟูธุรกิจ โดยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารรวมที่ประมาณ 13.5 ล้านคน จากนั้นปี 2566 จะเป็นปีที่ธุรกิจกลับมาดี มีการเติบโต และมีผลการดำเนินงานเป็น “บวก” ได้แล้ว…

Q3 แอร์ไลน์หยุดบิน รายได้ร่วง-แบกขาดทุนอ่วม

จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวฯระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2564) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 85,845 คน ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 40.6 ล้านคน-ครั้ง

ปรับตัวลดลงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่หากดูเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างหนัก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศยานในเส้นทางการบินภายในประเทศห้ามปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม กระทั่งถึงสิ้นเดือนสิงหาคม

ทำให้มีนักท่องเที่ยวคนไทยเพียงแค่ 4.1 ล้านคน-ครั้ง ลดลงกว่าร้อยละ 87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลประกอบการโดยรวมของสายการบินต่าง ๆ ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก

“ไทยแอร์เอเชีย” มีผู้โดยสารในช่วงไตรมาส 3 เพียง 79,767 คน หรือลดลงร้อยละ 96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากทำการระงับการดำเนินงานเที่ยวบินภายในประเทศเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 2 กันยายน 2564

โดยกลับมาให้บริการเส้นทางภายในประเทศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 จากการผ่อนปรนของหน่วยงานกำกับดูแล โดยกำหนดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมบนเที่ยวบิน ส่งผลให้ในไตรมาสดังกล่าวมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารร้อยละ 60

ทำให้ผลการดำเนินงานของ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 มีรายได้รวม 457.5 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิสำหรับงวด 2,098.3 ล้านบาท

และหากดูตัวเลขผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรก พบว่า บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,888.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 76 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มีขาดทุนสุทธิสำหรับงวดในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท 5,654.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากขาดทุน 3,649.6 ล้านบาท และขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวดในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท 5,522.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากขาดทุน 4,064.7 ล้านบาท ใน 9 เดือนปี 2563

ด้านบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้บริหารสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ได้หยุดปฏิบัติการบินชั่วคราวในกลางเดือนกรกฎาคม 2564 และกลับมาทำการบินในเดือนกันยายน 2564 บน 5 เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-สมุย กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-สุโขทัย กรุงเทพฯ-ลำปาง และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต

ทำให้ในไตรมาส 3 ของปี 2564 มีจำนวนผู้โดยสารลดลงร้อยละ 85.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 35.4 ส่งผลให้มีรายได้รวม 672.3 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 25.3 และขาดทุนสำหรับงวด 6,987.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 340.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

และสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 3,472.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 57.5 และขาดทุนสำหรับงวด 8,441.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ขณะที่ “การบินไทย” นั้นพบว่า ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทการบินไทยและบริษัทย่อย ขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,990 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 29,230 ล้านบาท หรือ 66.1%

มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 36,481 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 41,695 ล้านบาท (53.3%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายตามแผนปฏิรูปธุรกิจ

อย่างไรก็ดี บริษัทการบินไทยและบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้ จำนวน 73,084 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 จำนวน 51,115 ล้านบาท

จากตัวเลขผลประกอบการดังกล่าวชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ธุรกิจสายการบินในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ล้วนมีรายได้ลดลงและประสบกับตัวเลขขาดทุนหนักหนาสาหัสอย่างมาก