“กรมท่าอากาศยาน”เปิดเกมรุก ดันสนามบินในสังกัดสู่ทัวริสต์แอร์พอร์ต

นำร่อง - สนามบินระนอง ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 3 สนามบินนำร่องที่กรมท่าอากาศยานมีแผนพัฒนาให้เป็นสนามบินเพื่อการท่องเที่ยวหรือ "ทัวริสต์แอร์พอร์ต" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายการจ่ายรายได้สู่ภูมิภาคของรัฐบาล

“กรมท่าอากาศยาน” ปูพรมสนามบิน 29 แห่งสู่ “ทัวริสต์ แอร์พอร์ต” วางไทม์ไลน์นำร่องพัฒนา 3 สนามบินแรก “ระนอง-บุรีรัมย์-น่าน” อย่างเป็นรูปธรรม ตอบโจทย์รัฐบาลมุ่งกระจายรายได้สู่ภูมิภาค พร้อมปรับภาพลักษณ์ใหม่ มุ่งทำงานเชิงรุกตอบโจทย์ด้านการแข่งขันในเชิงธุรกิจ รองรับความต้องการของผู้โดยสารที่หลากหลายมากขึ้น

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ต้องการให้สนามบินเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระจายรายได้สู่ภูมิภาค กรมท่าอากาศยานจึงวางเป้าหมายให้สนามบินในการกำกับดูแลทั้ง 29 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคเป็นสนามบินเพื่อการท่องเที่ยว หรือทัวริสต์แอร์พอร์ต

นำร่อง “ระนอง-บุรีรัมย์-น่าน”

โดยได้นำร่องพัฒนาสนามบินในภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ ระนอง บุรีรัมย์ และน่าน ให้เป็นทัวริสต์แอร์พอร์ต อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สนามบินตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และมีความปลอดภัย ร้านค้าของที่ระลึก เคาน์เตอร์รับแลกเงินตราต่างประเทศ จุดให้ข้อมูลการท่องเที่ยว รวมถึงการเดินทางเชื่อมต่อด้วยรถขนส่งสาธารณะ

ล่าสุด กรมท่าอากาศยานได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดระนองแล้ว เช่น ทางจังหวัดระนอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เนื่องจากระนองมีสินค้าท่องเที่ยวน่าสนใจอย่างการแช่บ่อน้ำแร่ น้ำพุร้อน และสปา ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวหาดทรายชายทะเล เชื่อมโยงสู่เกาะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา

นายดรุณกล่าวว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 สายการบินแอร์เอเชียจะเปิดเส้นทางบินสู่ระนอง หลังจากที่สายการบินนกแอร์ให้บริการอยู่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้มียอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าระนองมากขึ้น ทั้งนี้ ได้เตรียมจัดสรรพื้นที่ภายในสนามบินให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้านสปาเพื่อบริการนักท่องเที่ยวระหว่างรอขึ้นเครื่องบินด้วย

ขณะที่สนามบินน่านนั้น ทางกรมท่าอากาศยานได้เตรียมไปประชุมและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดน่านในช่วงเดือนมกราคม 2561 โดยมีแผนนำร่องให้มีการใช้คิวอาร์โค้ด (QR code) ซื้อขายสินค้าในสนามบินส่วนสนามบินบุรีรัมย์ก็มีแผนไปประชุมและทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยแนวคิดหลักของการพัฒนาจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและวัฒนธรรมควบคู่กัน

ยันให้ ทอท.บริหาร “อุดรฯ-ตาก”

นายดรุณกล่าวว่า หลังจากที่กรมท่าอากาศยานได้ว่าจ้างศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการเพื่อจัดทำแนวทางการบริหารกลุ่มท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานแล้ว ยืนยันว่า ตามโครงการนำร่องเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในการบริหารและพัฒนาสนามบินต้องการให้สิทธิ์การบริหารสนามบินแก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 2 แห่ง ไม่เปลี่ยนแปลง คือ อุดรธานี และตาก เพื่อให้ ทอท.มีสนามบินครอบคลุมทุกภาค

“คาดการณ์ว่าต้องใช้งบฯลงทุนพัฒนาสนามบินอุดรธานี 3,000 ล้านบาท และตาก 5,000 ล้านบาท สำหรับขยายอาคารผู้โดยสารและทางวิ่ง (รันเวย์) เพิ่ม หาก ทอท.ต้องการมากกว่า 2 สนามบิน ก็คงต้องหารือกันอีกครั้ง” นายดรุณกล่าว

เปิดเอกชนร่วมทุน 4 สนามบิน

ส่วนรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในการพัฒนาสนามบินนั้น ทางกรมท่าอากาศยานได้กำหนดสนามบินจำนวน 4 แห่ง เป็นสนามบินเป้าหมายสำหรับการดำเนินงานตามรูปแบบนี้ ได้แก่ 1.สนามบินลำปาง ซึ่งต้องลงทุนขยายรันเวย์เพิ่มจาก 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น 2.สนามบินเพชรบูรณ์ มีพื้นที่กว่า 2,700 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้เขาค้อ สามารถจัดสรรพื้นที่สำหรับกิจกรรมกีฬา เช่น กอล์ฟ ให้เกี่ยวเนื่องกันได้

3.สนามบินนครราชสีมา มีพื้นที่ 4,000 กว่าไร่ ปัจจุบันเริ่มมีสายการบินเข้าไปทำการบินแล้ว อาทิ นิวเจนแอร์เวย์ส โดยสามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน และ 4.สนามบินชุมพร จุดเด่นคืออยู่ใกล้ทะเล สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังเกาะต่าง ๆ ได้ ปัจจุบันมีเอกชนไทยสนใจทำ PPP สนามบินชุมพรแล้ว

“ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ได้เตรียมเสนอแนวทางการบริหารสนามบินในสังกัดกรมท่าอากาศยานให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติในเชิงนโยบาย ซึ่งคาดว่าภายในปี 2560 จะเห็นความชัดเจนเชิงนโยบาย และหลังจากนั้นอีก 8 เดือน หรือภายในปี 2561 จะประกาศให้เอกชนเข้ามาลงทุนรูปแบบ PPP ใน 4 สนามบินเป้าหมายดังกล่าวได้” นายดรุณกล่าวและว่า เบื้องต้นอาจให้สัมปทานบริหารคร่าว ๆ แห่งละ 20-30 ปี และแต่ละสนามบินมีรายละเอียดแตกต่างกัน บางแห่งอาจเหมาะกับให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เท่านั้น เพราะบางรายไม่ต้องการยุ่งยากเกี่ยวกับเรื่องการบิน

ปรับโฉม-เน้นทำงานเชิงรุก

อธิบดีกรมท่าอากาศยานกล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2560 ถือเป็นปีที่สำคัญของกรมท่าอากาศยาน โดยได้ปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้เน้นความอบอุ่น ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานในเชิงรุกต่อเนื่องจากช่วงต้นปีที่ได้ปรับโครงสร้างการทำงานในหลายด้าน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและการแข่งขันในเชิงธุรกิจ ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารที่หลากหลายได้มากขึ้น นับเป็นการปรับโฉมใหม่ของกรมท่าอากาศยานในรอบ 84 ปี นับตั้งแต่สถาปนากรมท่าอากาศยานโดยกรมท่าอากาศยานได้ดำเนินงานเชิงรุกเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยานปี 2560-2564 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.จัดให้มีการพัฒนาสนามบินเพื่อส่งเสริมโครงข่ายการบินให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ 2.ปรับปรุงบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.พัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการสนามบินอย่างมีประสิทธิภาพ 4.พัฒนาองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาล และ 5.บริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดได้งบฯกว่า 200 ล้านบาท (ปี 2561-2562) เพื่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการและฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัย ในจังหวัดสมุทรปราการ และอยู่ระหว่างของบฯปี 2563-2564 เพื่อพัฒนาในระยะที่ 2 ต่อไป