“ซี.พี.แลนด์” ลั่นถอยไม่ได้ สปีดโรงแรมในเครือสู่เชนบริหาร

สุนทร อรุณานนท์ชัย
สุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร โรงแรมในเครือฟอร์จูน บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และ เชิดชัย กมลเนตร รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจโรงแรม บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน)

หากไม่นับโรงแรม HOP INN ซึ่งเป็นบัดเจตโฮเทลในกลุ่ม“ดิ เอราวัณ” บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “ซี.พี.แลนด์” ถือเป็นผู้เล่นหลักอีกรายหนึ่งที่เดินหน้าขยายพอร์ตโรงแรมในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเมืองท่องเที่ยว ด่านการค้าชายแดน และแหล่งอุตสาหกรรม

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “สุนทร อรุณานนท์ชัย” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร โรงแรมในเครือฟอร์จูน บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และ “เชิดชัย กมลเนตร” รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจโรงแรม บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ถึงสถานการณ์ของธุรกิจโรงแรม แนวทางการดำเนินงานและแผนการลงทุนในอนาคต ไว้ดังนี้

ถอยไม่ได้-ต้องเดินหน้า

“สุนทร” บอกว่า วันนี้ ซี.พี.แลนด์ เดินหน้าเข้าสู่โลกยุคใหม่ ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง และโลกใหม่ที่ว่านี้จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงลูกค้า ซึ่งไม่ใช่เพราะโควิดอย่างเดียว แต่มันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน new normal ยังทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ขณะธุรกิจเดิมที่มีอยู่ก็ต้องทำให้เกิดความแตกต่าง

เพราะสถานการณ์ในวันนี้จะถอยไม่ได้อีกแล้ว มีแต่จะต้องก้าวต่อไปข้างหน้าสู่ศักราชใหม่ ซึ่งศักราชใหม่ที่ว่านี้ คนที่มีความพร้อมก็จะอยู่ได้ คนที่ไม่พร้อมอาจจะมีปัญหา

สำหรับ ซี.พี.แลนด์นั้น แม้ว่าที่ผ่านมาจะอยู่ท่ามกลางสารพัดปัญหา แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ยังคงยืนหยัดอยู่ได้คือ บุคลากร เพราะบุคลากรของ ซี.พี.แลนด์ ในวันนี้ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ในทุกกลุ่มธุรกิจ

พร้อมย้ำว่า วันนี้ธุรกิจของ ซี.พี.แลนด์ ยืนอยู่บนลำแข้งที่แข็งแรง เพราะผ่านการต่อสู้กับสิ่งที่แย่ที่สุดมาแล้ว หลังจากนี้จึงน่าจะมีแต่สิ่งดี ๆ ส่วนจะมาเร็วหรือช้านั้นก็ต้องเดินกันอย่างระมัดระวังที่สุด

“ฟอร์จูน โฮเทล กรุ๊ป” ไม่เล็ก

“สุนทร” บอกด้วยว่า วันนี้ ซี.พี.แลนด์ มีโรงแรมในเครือข่ายทั้งหมด 13 แห่ง ซิสเตอร์โฮเทล 1 แห่ง คือ เดอะเฮอริเทจ เชียงราย (300 กว่าห้อง) รวมห้องพักทั้งกลุ่มกว่า 2,000 ห้อง สะท้อนว่าวันนี้ไม่เล็กแล้ว และสามารถก้าวสู่โรงแรมที่เป็นเชน และแข่งขันในตลาดได้

และนี่คือ แนวคิดที่ต้องตั้งแบรนด์ของตัวเองให้อยู่ภายใต้หน่วยธุรกิจ “ฟอร์จูน โฮเทล กรุ๊ป” และมีผู้บริหารเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมโดยตรง ซึ่งก็เป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อให้เกิด new business ในโลกของ new normal หรือในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจที่เปลี่ยนใหม่

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของโรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน โฮเทล แบงคอก (402 ห้องพัก) เดิมทีเดียวใช้เชนระดับโลกมาบริหาร ล่าสุดก็เอามาบริหารจัดการเองทั้งหมดแล้ว พร้อมทั้งปรับปรุงใหม่ในหลายส่วน อาทิลงทุนวางระบบด้านการใช้พลังงานใหม่ ติดตั้งระบบไบโอโซนฆ่าเชื้อ เพื่อให้สอดรับกับโลกใหม่ที่เปลี่ยนไป เป็นต้น

เปิดแล้ว 13 แห่งใน 9 จังหวัด

ขณะที่ “เชิดชัย กมลเนตร” รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจโรงแรม ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโรงแรมในเครือฟอร์จูนเปิดให้บริการแล้ว 13 แห่ง ใน 9 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ ภายใต้ 3 แบรนด์ ประกอบด้วย 1.แกรนด์ ฟอร์จูน ขณะนี้มี 2 แห่งคือ แกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ และแกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช

2.ฟอร์จูน เป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาว มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สะดวกสบาย และมีห้องอาหาร ห้องประชุมสัมมนา อาทิ ฟอร์จูน แสงจันทร์ ระยอง, ฟอร์จูน วิวโขง นครพนม, ฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม, ฟอร์จูน คอร์ทยาร์ด เขาใหญ่ เป็นต้น

และ 3.ฟอร์จูน ดี และฟอร์จูน ดีพลัส โรงแรมขนาดไม่เกิน 79 ห้อง ได้แก่ ฟอร์จูน ดีพลัส เขาใหญ่, ฟอร์จูน ดี แม่สอด, ฟอร์จูน ดี เลย, ฟอร์จูน ดี พิษณุโลก

แผน 5 ปีลงทุนเพิ่ม 2.2 พันล้าน

“เชิดชัย” บอกว่า สำหรับแผนการขยายการลงทุนปีหน้านั้น ขณะนี้เตรียมนำเสนอแผน 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) โดยมีเป้าหมายมีพอร์ตโรงแรมในกลุ่มฟอร์จูนให้ครบ 50 แห่งทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่มี 13 แห่ง ด้วยการเตรียมลงทุนอีก 2,200 ล้านบาท สำหรับการขยายโรงแรมใหม่เพิ่มอีก 37 แห่ง

ทั้งนี้จะมุ่งลงทุนและขยายภายใต้แบรนด์ฟอร์จูน ประมาณ 4-5 แห่ง และที่เหลือจะเป็นแบรนด์ฟอร์จูน ดี เป็นหลัก เนื่องจากเป็นโรงแรมขนาดเล็ก ลงทุนต่ำ และเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจและรองรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และเสริมในพื้นที่เมืองรอง

โดยมองว่าในระยะเวลา 4-5 ปีข้างหน้านี้ ตลาดโดเมสติกจะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวของประเทศไทย การลงทุนในโรงแรมขนาดใหญ่อย่างแบรนด์ “แกรนด์ ฟอร์จูน” อาจยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์นัก

ขณะที่แบรนด์ “ฟอร์จูน” จะโฟกัสเดสติเนชั่นในเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น พัทยา, ภูเก็ต, หัวหิน, ระยอง, เชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนแบรนด์ “ฟอร์จูน ดี” จะเน้นจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น นครสวรรค์, หาดใหญ่, สุราษฎร์ธานี, ขอนแก่น ฯลฯ โดยทั้งหมดมุ่งจับกลุ่มตลาดคนไทยเป็นหลัก หรือไม่ต่ำกว่า 70%

“เชิดชัย” บอกด้วยว่า สำหรับปีหน้าซึ่งเป็นปีแรกของแผน 5 ปีนั้น คาดว่าน่าจะลงทุนใหม่ได้ 4 แห่ง เช่น ปราจีนบุรี, ขอนแก่น (มี 2 เฟส), สมุทรสาคร และบุรีรัมย์ อย่างไรก็ตาม หากระหว่างทางหากได้ที่ดินที่เหมาะสม บริษัทก็พร้อมลงทุนเพิ่มเช่นกัน

ผนึกพลังธุรกิจในเครือหนุน

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทยังเตรียมซินเนอร์ยี่ธุรกิจในเครือ ซี.พี. ให้เดินไปกับธุรกิจโรงแรมด้วย อาทิ ร่วมมือกับบริษัททรูทำโรงแรมที่เน้นเรื่องของเทคโนโลยี หรือทำลอยัลตี้โปรแกรม เก็บข้อมูลลูกค้า และต่อยอดฐานลูกค้าด้วยเครื่องมือทางการตลาดใหม่ ๆ และผูกกับระบบ true money เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะทยอยเห็นภาพชัดเจนในช่วงต้นปีหน้านี้

หรือการร่วมกับกลุ่มธุรกิจด้านอาหาร เพื่อติดตั้งให้บริการเครื่องเวนดิ้งแมชีนจำหน่ายอาหาร ในพื้นที่โรงแรมในกลุ่มที่ไม่ได้ให้บริการห้องอาหาร หรือผนึกกับร้าน Bellinees’s Bake & Brew (ร้านกาแฟและเบเกอรี่) ให้บริการเครื่องดื่มและเบเกอรี่ หรือร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) พัฒนาบุคลากรป้อนให้กับธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

เตรียมพร้อม “รับบริหาร”

“เชิดชัย” บอกอีกว่า ปัจจุบันหน่วยธุรกิจ “ฟอร์จูน โฮเทล กรุ๊ป” มีโรงแรมในเครือข่ายรวม 13 แห่งใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ หากสามารถเดินตามแผน 5 ปีที่วางไว้สำเร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีโรงแรมในเครือข่ายเพิ่มเป็น 50 แห่ง เราจะมีความพร้อม และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และสามารถรับบริหารให้กับนักลงทุนทั่วไปได้ด้วย คาดว่าน่าจะประมาณตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2568 เป็นต้นไป บริษัทจะมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านบุคลากร ความเชี่ยวชาญในการบริหาร แนวทางการผนึกกำลังของบริษัทในเครือจะชัดเจน ที่สำคัญ บริษัทจะมีฐานลูกค้าในมือเป็นจำนวนมากจากการสร้างลอยัลตี้โปรแกรมในปัจจุบัน

โดยเบื้องต้นนี้มองว่ารูปแบบของการรับบริหารนั้นจะมีทั้งใช้แบรนด์ในกลุ่มของฟอร์จูน และแบรนด์ของนักลงทุน ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ลงทุนเป็นหลัก

และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า “ฟอร์จูน โฮเทล กรุ๊ป” ภายใต้การบริหารของ ซี.พี.แลนด์ จะกลายเป็นผู้เล่นแถวหน้าของธุรกิจโรงแรมในส่วนภูมิภาคแน่นอน…